ต้นทุนจม… กับดักและเหตุผลวิบัติที่เราต้องเท่าทัน

เราจ่ายไปเยอะแล้ว…

เราลงทุนไปเยอะแล้ว…

เราเดินมาไกลมากแล้ว…

เราทำมาตั้งนาน กว่าจะมาถึงวันนี้

แล้วเราก็มาจบที่ …รู้งี้…

คำพูดเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราเสมอ เมื่อเราให้ค่ากับ “ต้นทุนจม” มากเกินไป

คุณอ่านไม่ผิดหรอกค่ะ “ต้นทุนจม” อย่างแท้จริง ต้นทุนตัวนี้สำคัญมากนะ ไม่เฉพาะสำหรับนักลงทุน หรือนักธุรกิจ แต่มันมีอยู่จริงในชีวิตเราทุกคน ซึ่งแต่ละคนจะทุกข์ร้อนกับมันมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการให้ค่าความสำคัญ แต่ผู้คนส่วนหนึ่งก็เจ็บหนัก เพราะหลงลืมวิธีการใส่เกียร์ถอยหลังในเกมการลงทุน (ชีวิต) จนกลายเป็นเหตุวิบัติที่ว่าด้วย “ต้นทุนจม หรือ Sunk Cost Fallacy” หรือบางคนเรียกว่า Concorde Effect

เนื่องในโอกาสใกล้วันขึ้นปีใหม่ EATECON จึงอยากนำเรื่องกับดักของต้นทุนจมมาเล่าสู่กันอ่านผ่านบทความประจำสัปดาห์นี้ ที่จะทำให้ผู้อ่านบางส่วนซึ่งคิดว่าตัวเองอาจไม่เคยเฉียดใกล้ความเป็นเศรษฐศาสตร์ (ทั้งที่เศรษฐศาสตร์แฝงตัวอยู่ในทุกแง่มุมของชีวิต เพียงแต่คุณคิดไม่ถึง) ได้เข้าใจเศรษฐศาสตร์ใกล้ตัวกันมากขึ้น และเตรียมพร้อมวางแผนการใช้ชีวิตในปีใหม่ที่จะมาถึงอย่างคุ้มค่า

เริ่มต้นด้วยการคลายความสงสัยว่า “ต้นทุนจม” คือ อะไร…ในทางเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนจม คือ ต้นทุนที่เราจ่ายไปแล้ว และไม่ว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันหรืออนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ไม่สามารถเรียกต้นทุนส่วนนั้นคืนมาได้…คิดเทียบแบบง่ายๆ คือถ้าสมบัติหรืออะไรก็ตามมัน “จม” ลงไปใต้ผืนน้ำแล้วย่อมยากที่จะได้คืน

เรื่องราวที่ใกล้ตัวเราที่สุดและตรงตาม​concept ของ​EATECON คงหนีไม่พ้นเรื่องอาหารและการกิน และเรื่องราวที่จะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างประกอบ​ “ต้นทุนจม” ในครั้งนี้​ ​คือ​ เรื่องตลกอย่างเหลือเชื่อที่บางคนเลือกให้เหตุผลของการไม่ควบคุมน้ำหนักว่า ลงทุนมาเยอะแล้ว​กินอาหารดีๆมาตั้งเยอะ จะให้มาลดน้ำหนักง่ายๆ ได้อย่างไร… 555​ ตอนได้ยินได้ฟังครั้งแรกก็ฮาดี แต่คิดอีกที.. นี่มันจริงเหรอ​วะ มันไม่ฮานะเว๊ย​ (ขออภัยในคำหยาบ…เพื่ออรรถรสล้วนๆ) เพราะมันมีคนที่คิดแบบนี้อยู่จริง

คนเราจะคิดได้อย่างไรว่าตนเองนั้นได้ลงทุนกับการกินมาเยอะจนยอมให้ไขมันสะสมพอกตัวหนาขึ้นเรื่อย​ๆ​..นี่มันถึงกาลวิบัติของตรรกะในการใช้ชีวิตกันแล้วหรืออย่างไร​ ลองคิดดูสิ ถ้าคนเราเลือกที่จะยกเอาต้นทุนการกินที่สะสมมาตั้งแต่เกิดมาเป็นข้ออ้างหรือเหตุผลวิบัติให้กับตัวเองเพียงเพื่อจะได้สนองความอยากหรือเติมเต็มความสุขอย่างเมามัน แล้วละเลยสุขภาพในอนาคต…ชีวิตจะเป็นเช่นไร

วันนี้คุณอาจมีความสุขกับการได้กิน​ แต่เชื่อเถอะว่า ถึงวันที่ความเจ็บป่วยหรือโรคภัยจากการใช้ชีวิตแบบผิดตรรกะของคุณนั้นมาเยี่ยมเยียนหรือพักอยู่กับคุณอย่างถาวร​ คงมีคนได้ยินวลีเด็ด…รู้งี้…ที่พรั่งพรูออกมาไม่รู้เท่าไหร่

ทุกวันนี้เราได้ยิน​ ได้ฟัง​ ได้เสพข้อมูลข่าวสารเรื่องการเจ็บป่วยเพราะปากพากินกันอยู่เสมอ แต่เราอาจไม่ใส่ใจ เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวและคงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นกับเราหรอก ภาวะแบบนี้เราเรียกว่า Optimism bias หรือความเชื่อว่า “เรามันคนโชคดี”

ครอบครัวของเราชอบกินเค็มเหมือนกันทั้งบ้าน​ รวมทั้งตัวเราด้วย แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีสมาชิกคนไหนป่วยเป็นโรคไต เราจึงคิดว่า ตัวเราเองก็คงจะไม่โชคร้าย

เราเลือกที่จะมองข้ามข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 8 ล้านคน เพราะจะว่าไปสถิติก็ไม่ได้สรุปว่าคนกินเค็มต้องตายด้วยโรคไตกันทุกคน​ แม้ความสัมพันธ์ของข้อมูลผู้กินเค็มกับผู้ป่วยโรคไตจะไปในทิศทางเดียวกัน​ ถ้าเราคิดจะไปต่อก็แค่โนสนโนแคร์​ เพียงเพราะเราอาศัยข้อมูลเล็กน้อยจากคนรอบข้างมาสนับสนุน​ และเลือกที่จะทานอาหารรสชาติที่ถูกปากและคุ้นเคยต่อไป​… แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราตั้งสติ​ เริ่มระวัง​ รู้จักเลือกกิน​ และลดการกินเค็ม เพื่อลดความเสี่ยงที่รออยู่ปลายทางข้างหน้า​ ​ดีกว่า “ลงทุนเพื่อป่วยในอนาคต” อย่างที่เราเห็น ๆ กันในทุกวันนี้

มีต้นทุนอีกชนิดที่เรามักปล่อยให้จมลงไปสู่ก้นเหวแห่งความว่างเปล่าของชีวิตเพราะติดกับดักข้ออ้างของตัวเอง​ คือ​ เวลา… เคยไหมที่พยายามทุ่มเทกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่นานแค่ไหนยิ่งรู้สึกเหมือนตัวเองด้อยค่าลงทุกวัน​ ยิ่งทุ่มเท​ ยิ่งให้เวลา​ ยิ่งเจ็บหนัก​ ​แต่ยังเลือกที่จะเดินต่อ​ เลือกที่จะรอเวลาแห่งความสำเร็จมาถึง​ เพียงเพราะ​ “เสียดาย” ซึ่งจะว่าไปมันก็ยากที่จะแยก​ “ความมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย” ออกจาก​ “กับดักต้นทุนจม”

หลายต่อหลายคน… บอกตัวเองว่าเราจะไม่ท้อ​ เราต้องมานะให้มากพอและอดทนรอความสำเร็จที่ปลายอุโมงค์… แต่หากให้เวลากับตัวเองสักนาที​ ลองหยุดคิดและทบทวนว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมีโอกาสสำเร็จ​ คุ้มค่าแก่การลงทุน​ หรือเราแค่ดันทุรัง​ เพื่อพาตัวเองไปพบความเจ็บปวด… ยิ่งเราถลำลึกไปกับกับดักต้นทุนจมนานเท่าใด คำว่า …รู้งี้… จะสร้างความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น

ชีวิตก็เปรียบเหมือนการลงทุน ที่เราต่างก็มุ่งหมายผลตอบแทนหรือกำไร แต่การจะลงทุนให้ได้ผลกำไรงอกงามมันต้องใช้ต้นทุน เลือกลงทุนในสิ่งที่ชอบ รู้จักวางแผน ใฝ่หาความรู้ ลงมือทำ ใช้เครื่องมือให้เหมาะสม มีวินัย และไม่ลืมที่จะประเมินผลงานตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับแผนการลงทุนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป…

ในความเป็นจริง เราทุกคนต่างก็มีต้นทุนในชีวิตที่หลากหลายและแตกต่างกัน “เวลา” คือ ต้นทุนที่ทุกคนมีมาเท่ากัน เวลาเป็นสิ่งมีค่าที่สุดแต่ก็จำกัดที่สุดเช่นเดียวกัน อย่ามัวแต่เสียดายกับต้นทุนที่มันจมไปแล้วจนละเลยกับอนาคตในวันข้างหน้า

อ่านมาถึงตรงนี้…ใครที่เคยพลาดเคยเปิดโอกาสให้ “ต้นทุนจม” ก้าวเข้ามาเป็นข้ออ้างในชีวิต เราว่าถึงเวลาที่แต่ละคนจะหยิบยกเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นบทเรียนสอนให้ไม่ก้าวพลาด ไม่ทำผิดซ้ำ และไม่ทำให้ตัวเองต้องจมดิ่งลงไปในแอ่งแห่ง “ความเสียดาย” ที่ยึดติดจนอาจพาชีวิตคุณพัง

ถ้าทุกคนรู้ที่จะตั้งสติ คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนลงมือทำสิ่งใด ๆ คงนำพาตัวเองและคนรอบข้างห่างไกลจากแอ่งมรณะที่เรียกว่า “ความล้มเหลว” แต่ถ้าทำไปแล้วมันเกิดผิดแผน ก็ไม่ต้องเสียเซลฟ์ ที่ต้องทำคือรีบตั้งสติ แล้วรีบปรับตัวให้ทัน แต่ถ้ามองไปข้างหน้าแล้วหนทางมันริบหรี่ หรือมองไม่เห็น ก็ไม่ควรพาชีวิตเข้าไปเสี่ยง เพราะถึงแม้ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่ถ้ารู้ว่าเสี่ยงที่จะล้มเหลวก็ถอยออกมาเถิด แล้วเริ่มต้นสิ่งใหม่กับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง…เพราะไม่มีคำว่าสายที่จะหันหลังกลับบนเส้นทางที่ผิด…ด้วยความปรารถนาดี และสวัสดีปีใหม่ จาก EATECON

By Suwanna Sayruamyat and Apai Chanthachootoe

หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกิน และเรื่องปากเรื่องท้อง ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ อย่าลืมติดตามอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

#eatecon #ลดเค็มลดโรค

ที่มา

กรุงเทพธุรกิจ. 2561. พบคนไทยป่วยโรคไตเรื้อรัง 8 ล้านคน. ออนไลน์: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/797119 [19 ธันวาคม 2561]

นภดล ร่มโพธิ์. 2559. เล่นหุ้นอย่างไร ไม่ให้ลำเอียง. กรุงเทพ: โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์.

Dobelli, R. (2013). The art of thinking clearly: better thinking, better decisions. Hachette UK.

Leave a Reply