Personalised Nutrition: โภชนาการเฉพาะบุคคล

จากยอดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทำให้เกิดการตื่นตัวกับการดูแลวิถีการกินของตัวเองมากขึ้น หน่วยงานสาธารณสุขพยายามออกแคมเปนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้คนทั่วไประมัดระวัง ลด ละ และเลิก ติดเค็มและหวาน อาทิเช่น แคมเปน “ลดเค็ม ลดโรค” เป็นหนึ่งในความพยายามของสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ต้องการลดจำนวนผู้ป่วยในกลุ่ม NCDs ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ล่าสุด สสส. ได้จัดทำหนังสั้นเรื่อง “The Ingredients: มื้อพิ(ษ)เศษ” ที่สะกิดเตือนเรื่องการกินโซเดียมเกินความจำเป็น สาเหตุหลักคือการใช้เครื่องปรุงซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบซึ่งแฝงอยู่ในเครื่องปรุงและอาหารแทบทุกชนิดไม่เว้นแม้แต่ของหวาน เป็นที่มาของการกินโซเดียมของคนไทยที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นถึงสองเท่า มีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องฟอกไตตลอดชีวิต และที่สำคัญแนวโน้มผู้ป่วยโรคไตมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

ประเทศไทยควรส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย โภชนาการเฉพาะบุคคล (Personalised Nutrition: PN) เพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตอาหารเฉพาะบุคคลและอาหารเฉพาะโรค เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคกลุ่ม NCDs ให้มากขึ้น ในปี 2011 กลุ่มประเทศยุโรปมีโครงการวิจัยขนาดใหญ่ชื่อ Food4me เพื่อศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ของการใช้แนวคิด PN เพื่อกินอาหารให้เป็นยาและเหมาะสมกับยีนส์(Gene) ของแต่ละบุคคล แนวคิดนี้จึงเป็นทางหนึ่งเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมกับยีนส์ของเรา นอกจากนี้ยังสามรถต่อยอดไปถึงการพัฒนายาเฉพาะบุคคลอีกด้วย เพื่อช่วยให้เราทราบโภชนาการที่เหมาะสมกับตัวเอง มีแบบแผนการกินที่ดีต่อสุขภาพ การพัฒนาองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้าน PN ของไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำก่อนที่จะมีการต่อยอดพัฒนาอาหารเฉพาะบุคคลและอาหารเฉพาะโรค เนื่องจากการให้คำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการให้แต่ละบุคคลนั้นสามารถทำได้รวดเร็วกว่าการพัฒนาอาหารเฉพาะบุคคล

ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเริ่มให้บริการตรวจการแพ้อาหารแฝง เพื่อป้องกันการกินอาหารที่นำมาสู่การเจ็บป่วยในอนาคต หากภาครัฐต้องการที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs ที่มีจำนวนมากขึ้นในอนาคต การลงทุนเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวโภชนาการเฉพาะบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนเคยศึกษาความเต็มใจจ่ายในการเข้าร่วมโปรแกรมโภชนาการเฉพาะบุคคลเพื่อบรรลุเป้าหมายในการควบคุมน้ำหนักของคนกรุงเทพในวัยทำงาน พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการสนใจหากมีบริการให้คำแนะนำโภชนาการเฉพาะบุคคล เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง ผู้เข้าร่วมโครงการประมาณร้อยละ 60 มีความยินดีเข้าร่วมโปรแกรมและมีความยินดีจ่ายประมาณ 1200 บาทเพื่อเข้าพบทีมที่ปรึกษาด้านโภชนาการสองครั้งต่อเดือน ขณะที่ผู้เข้าร่วมประมาณร้อยละ 10 เห็นว่าโครงการนี้ควรจะมีให้บริการในโรงพยาบาลรัฐโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งยินดีที่จะจ่ายให้กับโครงการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการเฉพาะบุคคล โดยรัฐอาจจะมีการอุดหนุนบางส่วนเพื่อให้ผู้มารับบริการได้มีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกับรัฐ

โครงการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการเฉพาะบุคคล เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คนไทยสามารถทราบวิธีการกินที่เหมาะสมกับ DNA ของตัวเอง ลดความเสี่ยงของโรคที่จะเป็นในอนาคต ลดต้นทุนทางเศรษฐกิจของทั้งตัวบุคคลและสังคมได้อย่างมหาศาล หากแต่ก็มีความท้าทายไม่น้อยที่จะผลักดันแนวคิดนี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรมและคนทั่วไปเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องข้อมูลของผู้เข้ารับการรักษาที่ต้องเป็นความลับ ความพร้อมของผู้เชี่ยวชาญ กฎหมายรองรับ ข้อมูลวิทยาศาสตร์และอุปกรณ์ต่างๆ โครงการนี้จึงไม่ง่ายนักที่จะผลักดันให้เกิดในเมืองไทย

อ้างอิง

Sayruamyat, S., Nocella, G. & Georgantzis, N. (Year). Consumers’ Acceptance of Personalised Nutrition Programme in Thailand: Impact of Attitudes, Risk and Time preferences on Trying and Willingness to Pay. In: The XV EAAE Congress: Towards Sustainable Agri-Food Systems: Balancing between Markets and Society, 28 August — 1 September 2017 Pama, Italy.

The Ingredients: มื้อพิ(ษ)เศษ ออนไลน์ https://youtu.be/A5Jyo3K1sA4

Photo by rawpixel on Unsplash

Leave a Reply