ว่าด้วยเรื่องของไข่

เราเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ถึงขั้นเรียกกว่าอยู่ในกลุ่มน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ก็กว่าได้ (BMI 17.8 ซึ่ง ช่วงของเกณฑ์ปกติ คือ 18.5–22.9) ปัญหาหนึ่งของเราคือคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือดสูง ซึ่งคนที่ผอมทั้งหลายมักจะมีปัญหานี้ เคยคิดเล่นๆว่า เป็นเพราะเราไม่มีไขมันให้คลอเรสเตอรอลไปสะสม คุณเธอเลยมาอยู่ในเลือดแทนมั้ง

ความตั้งใจของเราคือ กินไข่วันละฟอง โดยเราจะเลือกกินไข่ต้ม ยิ่งต้มได้ยางมะตูมยิ่งฟิน จริงๆไข่เจียว ไข่ดาวก็ชอบแต่เพราะอยู่คอนโด เมนูทอดและผัดถูกเราแบน เพราะกลิ่นมันจะตลบอบอวลไปทั้งห้อง

มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่เราเคารพมาก ท่านจะเลือกทานไข่เบอร์เล็กสุด ด้วยเหตุผลที่ว่า ไข่ฟองเล็กคุณภาพดีกว่าไข่ฟองใหญ่ เราก็เลยเกิดคำถามในใจว่า จริงเหรอ และถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริง ที่ผ่านมาเราถูกภาพลวงตาเรื่อง “ราคา” หลอกเราอีกแล้วสินะ

เราเริ่มหาคำตอบให้กับเรื่องนี้

หลักฐานที่ใช้ยืนยันคือข้อมูลการทดสอบคุณภาพของไข่ไก่ของ รศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มก. ได้เปรียบเทียบคุณภาพของไข่ไก่ฟองใหญ่กับไข่ไก่ฟองเล็ก เมื่อปี 2558

การทดสอบนี้มี 3 เกณฑ์

1) เกณฑ์ “ความสด” วัดด้วยวิธี Huaght Unit (คำนวณจากน้ำหนักไข่และความสูงของไข่ขาว ยิ่งค่าที่คำนวณได้มีค่ามากกว่าแสดงว่าไข่สดกว่า) หากไข่ไม่สด ไข่ขาวเหลว เละ ไม่ข้นนูน

ความสดของไข่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและวิธีการเก็บรักษาเป็นหลัก

เมื่อเราเก็บไข่วิธีเดียวกันและระยะเวลาเท่ากัน ไข่ฟองเล็กจะมีความเข้มข้นของไข่ขาวมากกว่าไข่ฟองใหญ่ ค่า Huaght Unit ของไข่ฟองเล็กมีค่าสูงกว่าไข่ฟองใหญ่ แสดงถึงคุณภาพโปรตีนของไข่ฟองเล็กดีกว่าและเก็บได้นานกว่า

เกณฑ์แรก ไข่ฟองเล็กชนะ

อย่างไรก็ตามไข่ฟองเล็กจะเสียเปรียบในเรื่องปริมาณของโปรตีนจากไข่ขาวที่ไข่ฟองใหญ่มีปริมาณมากกว่า แต่ยังมีประเด็นเรื่องของสารอาหารในไข่แดง ที่ยังต้องพิจารณาร่วมด้วย

2) เกณฑ์ ปริมาณสารอาหารในไข่ ซึ่งจะวัดสารอาหารที่สะสมในไข่แดง เช่น โฟเลท วิตามิน B12 กรดไขมัน และเลซิธิน สารอาหารเหล่านี้มีความจำเป็นต่อสมองและระบบประสาทของเรามาก เมื่อเทียบสารอาหารเป็น % ของไข่แต่ละฟอง พบว่า ไข่ฟองเล็กมีสัดส่วนของไข่แดงสูกว่าไข่ฟองใหญ่ หากเราไม่ดูที่สัดส่วน ดูที่ขนาดไข่แดงเทียบกัน พบว่า ไม่ว่าจะฟองเล็กหรือฟองใหญ่ ไข่แดงจะมีขนาดพอๆกัน

เกณฑ์ข้อสอง ไข่ฟองเล็กชนะ

ความเชื่อเดิมที่ว่า กินไข่มากไม่ดี เพราะทำให้คลอเรสเตอรอลในเส้นเลือดสูง ถูกหักล้างเมื่อไม่นานมานี้

มีผลการวิจัยยืนยันว่า ครอเรสเตอรอลในไข่แดงไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ แถมเลซิธินในไข่แดงยังมีส่วนช่วยยับยัเงการดูซึมคลอเรสเตอรอลและไขมันอื่นๆ แถมยังทำได้ดีกว่าเลซิตินที่ผลิตจากถั่วเหลืองซะด้วย

สรุปได้ว่า เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี จัดไปวัดละฟอง

3) เกณฑ์ เปลือกไข่ แม้แคลเซียมสูงแต่ก็กินโดยตรงไม่ได้ เปลือกไข่มีความสำคัญต่อคุณภาพของไข่มาก เนื่องจากป้องกันเชื้อโรคเข้าในไข่ ซึ่งพบว่า เปลือกของไข่ฟองเล็กจะหนากว่าฟองใหญ่ จึงทำให้ไข่ฟองเล็กแข็งแรง แตกยากกว่า เก็บรักษาได้ง่ายและนานกว่า

เกณฑ์ที่สาม ไข่ฟองเล็กชนะ

มาว่ากันต่อด้วยเรื่องของราคา จากการสำรวจตลาด พบว่า ไข่ฟองใหญ่ เบอร์ 0 1 2 จะมีราคาแพงกว่าไข่ฟองเล็ก หรือไข่เบอร์ 3 4 และ 5 จากเงื่อนไขข้อ 1–3 ราคาแพงของไข่ฟองใหญ่ไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพที่เราได้รับเสียแล้ว

เกณฑ์สุดท้าย ไข่ฟองเล็กชนะ

สรุปได้ว่า ไข่ฟองเล็ก ดีกว่า ไข่ฟองใหญ่ จริงๆ

ข้อมูลเหล่านี้ได้เผยแพร่ผ่านสื่อหลายสำนัก แต่ก็ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเลือกซื้อไข่จากฟองใหญ่มาเป็นฟองเล็กได้มากนัก

ตัวอย่างง่ายๆ ก็บ้านเราเอง หลังจากที่ได้ข้อมูลข้างต้นจึงกลับบ้านไปถามแม่ ก็ได้คำตอบมากว่า แม้ว่าแม่เป็ดสาวหรือแม่ไก่สาวจะให้ไข่ใบเล็กก็จริง แต่…แม่ชอบกินไข่ใบใหญ่ เอาละสิ ความชอบ มาแรงแซงทางโค้ง กลบเงื่อนไขอื่นๆเรียบ ถ้าคิดจะเปลี่ยนแม่ให้มากินไข่ใบเล็กแทน คงไม่ใช่เรื่องง่ายซะแล้ว ต้องหาวิธีกลับไปลองใหม่ ดูสิว่าจะเปลี่ยนใจแม่ให้หันมาซื้อไข่ฟองเล็กได้หรือไม่

จริงๆ กรณีของแม่ก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีนัก เพราะว่าแม่เราไม่ค่อยได้ซื้อไข่ที่ขายตามตลาด แม่จะซื้อไข่เป็ดจากญาติที่เค้าเลี้ยงเอง ปล่อยตามธรรมชาติ แล้วให้รำหยาบเป็นอาหารข้นเสริม จะซื้อไข่ตามตลาดนัดบ้างก็เวลาที่ไข่ของญาติเราหมดช่วง เพราะเหตุนี้เอง กลับบ้านทีไร เราก็จะต้องหิ้วไข่เป็ดต้มกลับมาครั้งละ 10 ฟอง ทุกครั้งไป

หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

ที่มา:

https://www.thairath.co.th/content/535111

https://www.posttoday.com/social/think/377571

Photo by Jessica To’oto’o on Unsplash

Leave a Reply