เรื่องเล่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่

บทความนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ สายพันธ์ุข้าวที่โดดเด่น และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

เราจะมาเล่าที่มาที่ไปของข้าวสายพันธ์ุนี้ก่อนละกัน

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2545 ทีมวิจัยของ ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นถึงปัญหาของข้าวไทยและความต้องการของผู้บริโภคข้าวไทยในอนาคตที่เน้นกลุ่มข้าวที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ทีมวิจัยได้เลือกพันธุ์ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นพ่อ และข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นแม่ ซึ่งสองสายพันธ์ุนี้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่าง

ข้าวเจ้าหอมนิลอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ให้สีเข้ม แต่ข้อเสียคือ แข็ง ขณะที่ข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือที่เรารู้จักกันในนามข้าวหอมมะลิ นั้นมีกลิ่นหอม นุ่ม จุดเด่นนี้ยังคงอยู่แม้ว่าจะทิ้งไว้จนเย็น คณะวิจัยนำข้าวสองสายพันธุ์นี้มาปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 7 รุ่น จนมาเป็น “ข้าวไรซ์เบอร์รี่” ซึ่งได้รับการรับรองพันธุ์เมื่อปี 2548

การวิจัยครั้งนี้ไม่ได้ทำเฉพาะเพียงการปรับปรุงพันธ์ุ คณะวิจัยยังได้ร่วมกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำการตลาด ซึ่งได้ผลเกินคาด จนทีมวิจัยยังงงว่าทำไมถึงดังและเป็นที่ยอมรับได้ขนาดนี้

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีมาก จะเห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้าวไรซ์เบอร์รี่ สามารถแทรกเข้าไปอยู่ในชั้นขายข้าวทุกห้าง ทุกซุปเปอร์มาร์เกต แม้แต่ร้านขายข้าวสารแบ่งขาย ก็มีข้าวไรซ์เบอร์รี่จำหน่าย

และด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ข้าวสีสายพันธ์ุอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิแดง หรือแม้แต่ ข้าวสังหยด ของจังหวัดพัทลุง ซึ่งปัจจุบันได้รับตรารับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดเช่นเดียวกัน

ในมุมมองของเรา ความสำเร็จของข้าวไรซ์เบอร์รี่นั้น ส่วนหนึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้กับคนตั้งชื่อ ถามว่าทำไม ลองย้อนกลับไปดูชื่อข้าวสีสายพันธ์ุอื่นที่กล่าวมาข้างต้น ชื่อมันทำการตลาดยาก ไม่เด่น แถมเราก็ยังมีการรับรู้ที่ดีกับคำว่า “เบอร์รี่” ว่ามันดี อะไรที่เป็นเบอร์รี่จึงเป็นแทนของดี ของแพง แค่ชื่อก็กินขาด  ทำตลาดได้ไม่ยาก  สีสันก็จัดจ้าน เข้มตั้งแต่น้ำซาวข้าว

เอาจริงๆ แม้ว่าเราจะซื้อข้าวไรซ์เบอร์รี่มาหุงกินเอง เราก็แยกไม่ออกหรอกว่ามันคือข้าวไรซ์เบอร์รี่หรือไม่ เราอ่านฉลากเอา เพื่อนเราคนหนึ่งซื้อข้าวมาหุงกินเองเช่นกัน เรามีโอกาสได้กินข้าวนั้นด้วย มันแข็งไปหน่อย พอเช็คราคาว่าซื้อมาเท่าไร เราก็แปลกใจ เพราะราคานั้นต่ำเกินไป (จำไม่ได้ว่าเท่าไร) ถามไปถามมาก็สรุปได้ว่า ข้าวที่ซื้อมาไม่ใช่ข้าวไรซ์เบอร์รี่แต่เป็นข้าวหอมนิล เพราะตอนซื้อไม่ได้อ่านฉลาก เห็นสีออกดำๆเหมือนกัน ก็จัดมานึกว่าเป็นไรซ์เบอร์รี่ ที่ไหนได้ ดันไปจัดพ่อของไรซ์เบอร์รี่มานี่เอง

สิ่งที่เราจะบอกคือ ข้าวมันก็คล้ายๆกัน ผู้บริโภคอย่างเราแยกกันไม่ออกหรอกว่าพันธุ์ไหนเป็นพันธุ์ไหน ขนาดมีเขียนอยู่ที่ถุง บางทียังไม่อ่าน อย่างไรก็ตาม การจัดทำเครื่องหมายรับรองพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับตลาดข้าวที่มีการแข่งขันสูงเช่นปัจจุบัน เพื่อช่วยผู้บริโภคอย่างเรามั่นใจในการเลือกซื้อ แต่เครื่องหมายเหล่านี้มันจะไม่มีประโยชน์เลยหากเราไม่อ่านและไม่สังเกตเหมือนเพื่อนของเราคนนี้

เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรายใหญ่รายหนึ่งว่าเหตุใดจึงเลือกข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นหนึ่งในข้าวที่จำหน่าย

คำตอบที่ได้คือ กระแสของข้าวไรซ์เบอร์รี่นั้นแรงมาก แต่ไม่ได้มาจากเมืองไทย กระแสนี้มาจากต่างประเทศที่จัดให้เป็นหนึ่งในซุปเปอร์ฟู้ด เนื่องจากผลการวิจัยยืนยันคุณประโยชน์ของข้าวไรซ์เบอร์รี่ กระแสนี้ได้กระจายมาถึงกลุ่มคนไทยที่รักสุขภาพ กลุ่มคนกินอาหารคลีน

เมื่อนำมาข้าวไรซ์เบอร์รี่มาจัดจานหรือจัดให้อยู่ในกล่องข้าว สีม่วงเข้มของข้าวไรซ์เบอร์รี่ตัดกับสีเขียวของผัก สีส้มของแครอท สีขาวของมะเขือ หรือแม้แต่ไข่ต้ม ช่วยเพิ่มความรู้สึกน่ากินให้กับอาหารจานนั้นหรือกล่องนั้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ อัพราคาได้ ตอบโจทย์การตลาด ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการจึงเลือกข้าวไรซ์เบอร์รี่แทนที่จะเป็นข้าวสีสายพันธ์ุอื่น

หากเทียบกับข้าวที่เรารู้จักกันดีเช่นข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังพึ่งอยู่ในช่วงเร่ิมต้น มีปัญหาหลายด้านที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป เช่น ผลผลิตต่อไร่ต่ำ แข็ง และความเข้มของสีไม่เข้มไม่สม่ำเสมอ

มาที่ปัญหาข้อแรก ผลผลิตต่อไร่ต่ำ

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ชอบอากาศเย็น และควรปลูกแบบอินทรีย์ อีกประเด็นคือที่เป็นข้อสังเกตุคือ ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เช่น ข้าวขาวที่ผลิตในพื้นที่ภาคกลาง มักจะไม่อร่อยเท่าข้าวที่มีคุณภาพดีที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์แต่ละครั้งต้องเลือกว่าจะเอาปริมาณหรือคุณภาพ แล้วค่อยมาพัฒนาปรับปรุงกันต่อภายหลัง

จากข้อมูลภาวะการณ์ผลิตพืชระดับตำบลของกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่า ปีการผลิต 2559/60 ประเทศไทยสามารถปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้ 453 ตัน จากพื้นที่ 1,140 ไร่ (เฉลี่ย 512 ตันต่อไร่) มีเกษตรกรปลูกทั้งสิ้น 210 ราย กระจายใน 16 จังหวัด กระจายอยุ่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยพื้นที่ปลูกมากที่สุดที่ลพบุรี รองลงมาคือ พัทลุง พิษณุโลก ตาก และจังหวัดชลบุรี โดยราคาขายข้าวเปลือกไรซ์เบอรี่ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 13.5 บาทต่อกิโลกรัม หากเกษตรกรสีและขายเป็นข้าวสารก็จะสามารถขายได้แพงขึ้น ซึ่งเกษตรกรสามารถขายได้แพงกว่าข้าวปกติเคยทำประมาณ 10 บาท/กก.

แม้ว่าผลผลิตต่อไร่ของข้าวไรซ์เบอร์รี่จะต่ำ แต่หากเรามองอีกมุม เราว่าจุดนี้กลับเป็นข้อดีที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ทำคุณภาพข้าวได้ ซึ่งสามารถส่งเสริมโน้มน้าวให้เกษตรกรให้ผลิตแบบอินทรียได้ไม่ยากเหมือนโน้มน้าวเกษตรกรผู้ผลิตข้าวขาวทั่วไป อีกประเด็นหากหากส่งเสริมให้ปลูกเยอะเกินไป ราคาก็จะตก ไม่คุ้มค่ากับที่ลงทุน รัฐก็ต้องมาตามแก้ปัญหากันอีก

ดังนั้น หากเห็นราคาข้าวไรซ์เบอร์รี่แพงกว่าข้าวทั่วไปก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะกว่าจะได้มามันไม่ง่ายเลย

ปัญหาข้อที่สองคือ แข็ง

แม้ข้าวไรซ์เบอร์รี่จะแข็ง แต่ก็จัดว่าเป็นข้าวนุ่ม ดังนั้นสำหรับนักวิจัยปรับปรุงพันธุ์แล้วคงต้องพัฒนากันต่อว่าจะลดความแข็งของข้าวได้อย่างไร แต่สำหรับผู้บริโภคที่ชอบกินข้าวนิ่มแบบเรา เราขอแนะนำให้หุงผสมกับข้าวหอมมะลิอัตราส่วน 1:1 ใส่น้ำเท่ากับหุงข้าวปกติที่เคยใส่ เวลาหุง กลิ่นของข้าวจะหอมฟุ้งจนแทบอยากจะไปคดข้าวใส่จานเลยทีเดียว

ปัญหาข้อที่สามคือ ความเข้มของสีข้าวไม่สม่ำเสมอ

ในเชิงของธุรกิจแล้ว สีของข้าวนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความรู้สึกของผู้บริโภค ทั้งยังมีความสัมพันธ์ต่อค่าสารโภชนาการอีกด้วย หากแต่ผู้บริโภคนั้นเชื่อไปเสียแล้วว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่สีม่วงเข้มดี หากได้ผลผลิตที่สีอ่อนกว่าปกติ ก็ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจว่าเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่จริงหรือไม่ ปัญหาสีข้าวไรซ์เบอร์รี่ไม่สม่ำเสมอจึงทำให้ผู้ประกอบการต้องปวดหัวไม่น้อย

ปัญหาข้อนี้เกิดจากการที่เกษตรกรเก็บพันธ์ุไว้ใช้เอง บางรายปลูกข้าวนาปรัง ประกอบกับสภาพพื้นที่ปลูกไม่มีความเหมาะสมกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสินค้าเกษตรที่มีความเฉพาะตามพื้นที่ แนวทางหนึ่งที่ทีมวิจัยได้ใช้เมื่อครั้งที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก คือ ศูนย์วิจัยข้าวผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่แล้วให้เกษตรกรนำเมล็ดพันธ์ุของตนมาแลก วิธีนี้สามารถควบคุมปริมาณการผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่จะทำให้ไม่เยอะจนเกินไปได้อีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งวิธีการจัดการแบบนี้ ทางประเทศเวียดนามก็ใช้ควบคุมคุณภาพและผลผลิตข้าวเช่นเดียวกัน แถมยังทำได้ดีเสียด้วย ดีจนถึงขั้นที่เราจะมามัวแต่ทำแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ถือเป็นตัวอย่างของความสำเร็จของนักวิจัยไทยภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานวิจัยเช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มองการณ์ไกล สนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงพันธ์ุข้าวที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพของผู้บริโภคอย่างเรา โดยมีข้อมูลโภชนาการรองรับ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อได้อย่างดี เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทาง สวทช. สกว. หรือหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยอื่นๆ จะสนับสนุนงานวิจัยในลักษณะนี้ต่อในอนาคต

อีกไม่กี่สัปดาห์เราจะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่กันอีกแล้ว หากยังนึกไม่ออกว่าจะให้ของขวัญปีใหม่เป็นอะไรดี ลองพิจารณาเลือกข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นหนึ่งในของขวัญ เราว่าก็น่ารักดีนะ ราคาไม่แพง เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ แถมยังได้อุดหนุนเกษตรกรอีกด้วย

หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

อ้างอิง

ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนส์ข้าว. 2561. ข้าวไรซ์เบอร์รี่. Online: http://dna.kps.ku.ac.th [6 December 2018].

Renée S. Suen. 2018. This Delicious New Type of Rice Will be The Next Big Super Grain. Online: https://www.chatelaine.com/food/how-to/riceberry-superfood/[6 December 2018].

Leave a Reply