อาหารที่ถูกทิ้ง

ปัญหาอาหารถูกทิ้งหรือ Food waste เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นผลพวงของความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงอาหาร มาตรฐานเพื่อการบริโภค และการกินตามใจปากแบบไม่ประมาณตัวเอง

อาหารที่ผลิตได้บนโลกนี้ถูกทิ้งเปล่าๆโดยไม่ได้ประโยชน์ถึง 1 ใน 3 ขณะที่ประชากรบางส่วนบนโลกอดอยาก

ถามว่าอาหารที่ถูกทิ้งเหล่านี้คิดน้ำหนักเท่าไร…

คำตอบคือ 1.3 พันล้านตัน/ปี

ใช่อ่านไม่ผิด 1.3 พันล้านตัน/ปี คิดดูนะ ทิ้งแล้วยังต้องมาจัดการกับขยะเหล่านี้อีก แล้วค่าใช้จ่ายมันจะมากมายขนาดไหน

สำหรับไทยเรา ขยะจากครัวเรือนมากกว่าครึ่งคือขยะอาหาร (64%)

ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง มีผักและผลไม้ทิ้งหลายตันในแต่ละวัน ซึ่งต้องฝังกลบจนไม่มีที่จะฝัง

เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าเอากันตั้งแต่ระดับฟาร์ม ทุกวันนี้ไทยเราเองก็ผลิตอาหารมากกว่าความต้องการของคนไทยจนต้องส่งออกไปยังต่างประเทศ หากตลาดส่งออกไม่เป็นใจ ผลผลิตก็ล้นจนทำให้ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต อย่างเมื่อตอนต้นปี 2561 ราคาสับปะรดตกต่ำ ต่ำขนาดที่แม้จะจ่ายค่าจ้างเก็บสับประรดยังไม่คุ้มที่จะตัด ผลผลิตเน่าคาแปลง ไถกลบทิ้งไปก็ไม่น้อย

Food waste ถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งประมาณกันว่ามีความสูญเสียสูงถึง 9แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แถมยังส่งผลต่อการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งอันตรายกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 14เท่า กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารของไทยและของโลกมากเสียจนเราคาดไม่ถึง

มากจนทำให้ UN ต้องกำหนดเรื่องการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในประดับค้าปลีกและผู้บริโภค เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

ด้วยที่ผู้ซื้อชอบสินค้าที่มีความสวยงาม สด สะอาด ทำให้พ่อค้าแม่ค้าต้องคัดก่อนวางจำหน่าย ทำให้ผักหรือผลไม้ที่ไม่สวย มีตำหนิ มีรอยหนอนกัด จะถูกคัดทิ้ง จึงกลายเป็นอาหารที่ถูกทิ้งขั้นตั้น ทั้งๆที่ยังกินได้

ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า มีหลักข้อหนึ่งในการบริหารจัดการคือ ต้องมีของเพียงพอสำหรับลูกค้า ของต้องได้มาตรฐาน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของ food waste

อาหารสำเร็จรูป ที่ฉลากจะมีคำบอกว่า ควรบริโภคก่อน หากใกล้วันที่ถูกระบุไว้ในฉลาก ก็จะเอาออกจากชั้นและย้ายลงถึงขยะ

คำว่า “ควรบริโภคก่อน”ไม่ได้หมายความว่า เราจะบริโภคหลังจากนั้นไม่ได้ เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่ลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนไป ไม่ดูน่ากินเหมือนตอนปรุงใหม่ๆ เพียงแต่เราต้องรู้จักสังเกตเป็นว่าอาหารชิ้นนั้นเสียหรือยัง ซึ่งสามารถสังเกตได้จาก สี และกลิ่น

เคยไปงานเลี้ยงโต๊ะจีนมั้ย

เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบข้าวผัดเวลากินโต๊ะจีน

เดาได้มั้ยว่าทำไม…

…เพราะเราอิ่มแล้วนะสิ

ตามธรรมเนียมจีน เวลาจะเลี้ยงรับรองแขก เจ้าภาพจะเตรียมเมนูไว้ 5 รายการขึ้นไป โดยจะเสิร์ฟจานเย็นก่อน ตามมาด้วย เมนูสารพัด และจะเสิร์ฟเมนูรองท้ายด้วยข้าวผัด หรือหมี่ผัด เพื่อจะได้มั่นใจแน่ๆว่าแขกของเราอิ่ม และปิดท้ายด้วยของหวานเป็นลำดับสุดท้าย

ซึ่งการตามธรรมเนียมนี้ จะมีอาหารเหลือเยอะมาก แต่คนรุ่นใหม่ของจีน เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมละ โดยจะจัดเตรียมเมนูพอประมาณ เพื่อที่อาหารจะได้ไม่เหลือมาก ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

มีหลายคนที่เห็นค่าของทิ้งเหล่านี้ จึงเกิดการรวมตัวกันมารวบรวมผักและผลไม้คัดทิ้งเหล่านี้ มารวบรวมเพื่อนำไปปรุงอาหารเพื่อผู้ไร้บ้าน ผู้ยากไร้ หรือกลุ่มคนที่ไมีมีกำลังทรัพย์พอที่จะมีอาหารที่มรคุณภาพ ขอทิ้งของกลุ่มหนึ่ง กลับมีค่าอย่างมากกับอีกกลุ่มหนึ่ง หากแต่จำเป็นต้องมีคนกลางเป็นสื่อกลาง

จากเป้าหมายของ UN ที่กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้ภาคเอกชนในหลายประเทศตื่นตัว มีการรับลูกแล้วปฏิบัติจริง

มาดูตัวอย่างในที่ต่างประเทศกันว่าเค้าทำอะไรกันบ้าง

ตัวอย่างแรก Tesco ในสหราชอาณาจักร ประกาศชัดเจนไว้ว่าภายในปี 2560ทุกสาขาของ Tesco จะไม่ทิ้งอาหารที่ยังกินได้ ซึ่งก็ได้จาคอาหารให้กับองค์กรต่างๆไปประกอบอาหารให้กับผู้ยากไร้

ขณะที่ Sainsbury’s และ Marks & Spencer ตั้งเป้าท้าทายสุดๆ คือ ลดปริมาณการฝังกลบขยะอาหารให้เหลือศูนย์

ที่ Cardiff สองพี่น้อง Maciek Kacprzyk และ Karina SuDenyte ร่วมกันก่อตั้ง Get Wonky แบรนด์น้ำผลไม้ ที่รับซื้อผักและผลไม้ที่ถูกคัดทิ้งจากฟาร์ม โดยจะรับซื้อผักและผลไม้ดังกล่าวที่ราคา 70% ของราคาตลาด ซึ่งมีเป้าในการลดให้ได้ถึง 3000 ตันในปี 2021

ฮ่องกง ประกาศนโยบายตั้งเป้าลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งให้ได้40% ในปี 2022 ซึ่งหนึ่งในนโยบายคือ การคิดเงินค่าขยะตามปริมาณที่ทิ้ง ซึ่งแนวทางนี้คิดว่าน่าจะช่วยลดปริมาณการทิ้งได้ค่อนข้างมาก

ประเทศสมาชิก EU เช่น เยอรมนี อิตาลี และสวิสต์เซอร์แลนด์ นำเศษอาหารเหล่านี้ไปผลผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ปั่นไฟในโรงงานไฟฟ้า แนวทางนี้ถ้าเกิดได้ในเมืองไทยจะดีงามสุดๆ

ฝรั่งเศส บังคับให้ซุปเปอร์มาร์เกตที่มีขนาด 400 ตร.ม. ขึ้นไปต้องสมัครเข้าร่วมโครงการบริจาคอาหารให้แก่สถานสงเคราะห์ผู้ยากไร้/องค์กรการกุศล/สวนสัตว์ ถ้าเป็นเมืองไทยคงต้องส่งไปให้สถานสงเคราะห์สัตว์ทั้งหลายที่ต้องรับภาระสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะหมาและแมวที่ถูกทิ้งจากความไม่รับผิดชอบของเจ้าของทั้งหลาย

ในสหรัฐเมริกา มี Project DASH รับบริจาคอาหารจากร้านอาหารผ่านแอปพลเคชั่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจัดการอาหารไปยังธนาคาอาหาร (Food Bank) หรือองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกันเพื่อกระจายอาหารไปยังผู้ยากไร้และผู้ที่ต้องการอาหารเหล่านี้

และก้าวไปอีกขึ้น เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2560 สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาได้ผ่านร่างกฎหมายลดภาษีให้กับเกษตรกร ร้านค้า โรงเรียน ร้านอาหารต่างๆ ที่ร่วมบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับธนาคารอาหาร (Food Bank) หรือองค์กรในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อจูงใจให้ลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง

จากมาตรการจูงใจด้วยภาษีนี้จูงใจผู้ประกอบการไม่น้อย เพราะมีผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มไม่น้อยกว่า 300 รายตบเท่าเข้าร่วมมาตรการนี้ทันทีที่ประกาศร่างกฎหมายนี้ออกมาเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2559

หลายบริษัทก็ตั้งเป้าลด Food waste จากปี 2016 ให้ได้ 50% ภายในปี 2025

หากมีมาตรการนี้เกิดขึ้นที่สภาของไทยบ้างก็คงดีไม่น้อย

นอกจากนี้สภาคองเกรสยังมีแนวทางเพิ่มเติมคือ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มอายุ Shelf-life ของอาหารสด และกำหนดมาตรฐานปริมาณผลผลิตที่ถูกทิ้งในระดับฟาร์ม โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน และสอนเรื่อง Food waste ในโรงเรียน

ที่จริงแล้ว ประเทศไทยเราก็สอนมีแนวทางจัดการเรื่องอาหารที่ถูกทิ้งในโรงเรียนนะ แต่บางโรงเรียนให้เด็กๆ ท่อง  “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง…”เพื่อหวังว่าเด็กจะกินอาหารให้หมดจาน เห็นคุณค่าของอาหารตรงหน้า แต่….

การบังคับให้เด็กท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองไม่ได้ช่วยอะไร แถมจะกลับมาถามอีกว่าให้ท่องทำไม

ทั้งที่จริงแล้วการท่องมันช่วยได้นะ มันช่วยเตือนใจเรา ทำให้เรากินอาหารหมดจาน แต่ถ้ามันไม่อร่อยก็อีกเรื่อง (หลายคนคงมีเมนูฝังใจที่ไม่กินมาจนถึงทุกวันนี้) เพราะการบังคับ มันเหมือนไปเพิ่มอคติให้กับเด็ก ซึ่งถ้าเราอธิบายถึงที่มาที่ไปให้เค้าเข้าใจ คำท่องเหล่านี้ จะหล่อหลอมนิสัยการไม่กินทิ้งกินขว้างของเด็กได้มากทีเดียว

หากมองในเชิงนโยบายของไทย แม้ว่าปัญหาขยะได้ถูกหยิบยกให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่เรายังไม่เห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาอาหารที่ถูกทิ้ง

แต่ก็มีองค์กรการกุศลได้เข้ามาจัดการปัญหานี้ เช่น โครงการ food for friend หรือ รถหมูแดง หนึ่งในกิจกรรมของมูลนิธิกระจกเงา จะส่งรถไปรับบริจาคอาหารที่ใกล้หมดอายุจากซุปเปอร์มาร์เกต ร้านค้าต่างๆ เพื่อนำไปให้แก่ผู้ยากไร้ แถวเสาชิงช้า รถหมูแดงทำหน้าที่เป็นคนกลางตรวจสอบคุณภาพของอาหารก่อนว่ายังสามารถกินได้ แล้วจึงนำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมาย

การกำหนดมาตรฐานเป็นสิ่งที่ดี แต่ความสวยงามที่เราเลือกกลับเป็นเหตุสำคัญในการเพิ่มปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง ปัญหาอาหารที่ถูกทิ้งจึงเป็นเรื่องของทุกคนทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติผู้บริโภคอย่างเรามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเราคือมดงานที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

เรามองข้ามปัญหานี้กันมานานเกินไป คิดแค่ว่าเราจ่ายเงินซื้อได้ กินไม่หมดก็ทิ้ง อาจถึงขึ้นกินทิ้งกินขว้าง ไม่เห็นจะเป็นไร ถึงเวลาที่เราที่ต้องร่วมกันลดอาหารที่ถูกทิ้งอย่างจริงจังแล้วค่ะ เริ่มจากที่ตัวเรานี่แหละ

บทความนี้ยาวหน่อย ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบนะคะ

หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

#eatecon

ที่มา

Manager Online. 2561. ลดปัญหาอาหารถูกทิ้ง “ซีพีแรม” จัดประกวดคลิปวีดีโอ ห้วข้อ “คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste”. Online: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9610000111922: 9พฤษจิกายน 2561

https://pingree.house.gov/foodwaste

Cp-enews. 2559. ร่างกฎหมาย The Food Recovery Act ลดภาษีให้ถ้าบริจาคอาหารส่วนเกินให้แก่Food Bank. Online: http://www.cp-enews.com/news/details/cpworld/981(16 พฤศจิกายน 2561)

https://businesslinx.globallinker.com/bizforum/article/ไอเดียจัดการขยะ-food-waste-ธุรกิจได้-สิ่งแวดล้อมดี/13629#

ไทยพับลิก้า. 2018. วิกฤตขยะอาหาร(1) สถานการณ์ขยะอาหารในไทย ความจริงที่ไม่เคยถูกพูดถึง. Online: https://thaipublica.org/2018/03/foodwastecrisis-tesco1/(26 พฤศจิกายน 2561)

ไทยพับลิก้า. 2018. วิกฤตขยะอาหาร(2) ธุรกิจค้าปลีกกรณีศึกษาการลดความสูญเสียอาหารในห่วงโซ่อุปทาน. Online: https://thaipublica.org/2018/03/foodwastecrisis-tescolotus2/(26 พฤศจิกายน 2561)

ไทยพับลิก้า. 2018. วิกฤตขยะอาหาร(3) มาตรการ นโยบายระดับโลก และความเป็นไปได้ในประเทสไทย. Online: https://thaipublica.org/2018/03/foodwaste-tesco-3/(26 พฤศจิกายน 2561)

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. 2557.อาหารที่ถูกทิ้ง (Food waste): ผลกระทบของปัญหาที่ถูกทิ้ง (3). ออนไลน์ซ http://www.kriengsak.com/food-waste3

https://flawsomedrinks.com

Leave a Reply