อาหารพื้นถิ่นแห่งเซิงหวาย
ไก่ดำลือเลื่อง
ครบเครื่องทั้งคาวหวาน
อิ่มสำราญบ้านเซิงหวาย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสพานิสิตสาขาวิชาธุรกิจการเกษตร ชั้นปีที่ 4 ไปดูงานโครงการ OTOP นวัตวิถี ที่มีแนวคิดจากการผนวกโครงการ OTOP มารวมกับการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน
ชุมชนเป้าหมายของเราในครั้งนี้คือ ชุมชนบ้านเซิงหวาย ต.ตลุกเทียม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก
ความหมายมั่นของเราทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่คือ การได้ลิ้มรสอาหารพื้นบ้านที่เรียบง่ายแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยสเน่ห์
และการเดินทางในครั้งนี้เราก็ไม่ผิดหวัง
เราได้ลิ้มลองอาหารพื้นบ้านหลายอย่าง ท้องแน่นไปตลอดวัน จนสามารถพูดได้ว่ากินจนเหนื่อย เพราะอร่อยทุกเมนู มีอะไรบ้าง เราจะเล่าให้ฟัง
วันที่เราไป ทางทีมงานจัดจุดการเรียนรู้ไว้ให้กลุ่มของเรา 6 ฐาน
ฐานแรกคือ ฐานการเรียนรู้กล้วยหลากพันธุ์ ณ วัดเซิงหวาย
ฐานนี้เกิดจากแนวคิดของท่านเจ้าอาวาสวัดเซิงหวายที่ได้รวบรวมพันธุ์กล้วยต่างๆไว้มากถึง 60 สายพันธุ์มาปลูกไว้บริเวณที่ว่างของวัด ข้างๆ ดงกล้วยมีสระน้ำให้เราได้ให้อาหารปลาด้วย เมื่อผลผลิตกล้วยออกมาก็นำไปให้กลุ่มผู้แปรปรูกล้วย แต่บางทีก็ไม่ได้นำไปให้เพราะไม่ทันนกก็มี ก็แบ่งๆ กันไป
ฐานนี้ยังไม่มีอะไรให้ชิม แต่เดาได้ว่าหมู่บ้านนี้ต้องมีกล้วยแปรรูปหลากหลายชนิดแน่ๆ
ฐานที่สอง เราได้ไปเรียนรู้กรรมวีธีทำกระยาสารท อีกหนึ่งของอร่อยของหมู่บ้าน ที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลสารทไทย หรือสารทเดือนสิบ
สมาชิกกลุ่มนี้มีคุณยายรวมกลุ่มกัน 4-5 คน ใช้ฟืนคั่วถั่ว คั่วงา ข้าวเม่า เคี่ยวน้ำกะทิน้ำตาลปี๊บและแบะแซะนานเป็นชั่วโมงเพื่อเป็นตัวประสานส่วนประกอบต่างๆ ที่คั่วไว้แล้วพร้อมกับใส่ข้าวตอกเข้าด้วยกัน ควันจึงฟุ้งกระจาย แม้จะหอมยั่วยวนแต่ก็แสบตากันไปตามระเบียบ แต่ก็สนุกดี
ยิ่งตอนที่เอาส่วนคนทุกอย่างเข้าด้วยกัน กลิ่นหอมตลบอบอวล แทบจะรอให้เย็นไม่ไหว อยากจะหยิบเข้าปากซะตอนนั้น เด็กๆ ของกลุ่มเราติดใจมาอุดหนุนกลับมาคนละหลายแพค
เสียดายวันที่เราไปไม่มีกล้วยไข่สุก ไม่งั้นคงได้พุงกางกันกว่านี้
ฐานที่สาม เราไปเยือนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่ดำสมุนไพรบ้านเซิงหวาย
เราโชคดีมากที่ได้ฟังการบรรยายจากคุณประเดิม เมืองมูล ผู้นำแนวคิดการพัฒนาไก่ดำเคยูภูพานให้มาเป็นจุดขายของหมู่บ้าน โดยการเลี้ยงด้วยข้าว กข 43 (ข้าวพันธุ์ที่ให้น้ำตาลต่ำ) และสมุนไพรอีก 3 ชนิดคือ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และใบหม่อน นี่เป็นเพียงจุดขายแรกแต่ใครๆก็ทำได้
จุดขายสำคัญที่ยากจะลอกเลียนแบบคือ ‘นวัตกรรม’ ที่ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับไก่ดำ เช่น ไก่ดำตุ๋นยาจีนที่พร้อมรับประทาน เพียงแค่ฉีกซองเข้าไมโครเวฟ ไก่ดำรมควันและผ่านการทำซูวี ในอนาคตจะมีแคปซูลคอลลาเจนจากไก่ดำที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าปลาจากน้ำทะเลลึก เป็นไง เป้าหมายคุณประเดิมไม่ธรรมดาจริงๆ ใช่มั้ย
คุณประเดิมตั้งเป้าไว้ว่า อยากมีร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไก่ดำสมุนไพร อยากมีบู้ทเล็กๆที่กรุงเทพหน้ากรมปศุสัตว์ เพื่อให้คนไทยได้รู้จักและอุดหนุนไก่ดำ ซึ่งเราเชื่อว่าอีกไม่ช้าน่าจะเป็นจริง เพราะวันนี้ไก่ดำสมุนไพรบ้านเซิงหวาย ก้าวไปไกลกว่าที่เราคาดไว้มากด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
หากถามถึงมาตรฐานการผลิต ก็ไม่ต้องกลัว เพราะคุณประเดิมใช้บริการจากบริษัทเอกชนที่ได้มาตรฐานการรับรองโคเด็ก (CODEX) ซึ่งเป็นมาตรฐานการส่งออก เนื่องจากจุดอ่อนของ OTOP หรือวิสาหกิจชุมชนคือ มาตรฐาน ในเมื่อทำเองแล้วไม่ได้ก็ต้องจ้าง เพราะของเราขายได้แพง อัพราคาได้ จะทำเองทำไม ให้ผู้เชี่ยวชาญทำจะดีกว่า บอกแล้วว่าไม่ธรรมดา
ช่วงเวลาที่นั่งฟังบรรยาย บอกเลยว่าไอเดียกระฉูด จนตามไม่ทันจริงๆ
หลังจากนั้น เราได้ลองชิมไก่ดำรมควันที่ผ่านกรรมวิธีซูวี เนื้อไก่เหนียวกำลังดีและนุ่มกำลังงาม รสชาติกลมกล่อม พิมพ์ไปก็น้ำลายสอ อยากกลับไปกินอีก
นอกจากนี้ยังได้ลองไก่ดำอั่ว หรือไส้อั่วไก่ดำ รสชาติกลมกล่อม แต่สำหรับเราเครื่องเทศน้อยไปนิด เผ็ดน้อยไปหน่อย ซึ่งทางกลุ่มก็บอกกับเราว่ายังต้องพัฒนากันต่อไป
เสียดายมากที่ไม่ได้ซื้อติดไม้ติดมือมาเพราะยังต่ออยู่ดูงานต่ออีกสองวัน
หลังจากนั้นเราพักทานข้าวเที่ยง ทีมงานจัดเมนู ‘น้ำพริกปลาย่าง’ ทานเคียงกับผักสดและผักต้ม เช่น มะเขือ ข้าวโพดอ่อน ซึ่งก็ปลูกกันในหมู่บ้าน ผักสดๆ ทานคู่กับน้ำพริกตำมือหอมๆ โอ้ยยย ฟิน
นอกจากนี้ยังได้ชิม ‘ทอดมันหัวปลี’ อร่อยติดใจ จนต้องขอใส่ถุงหิ้วกลับมาฝากเพื่อนร่วมทริปที่ไปเยือนหมู่บ้านข้างๆ
อีกเมนูเป็นไก่ต้มฟัก และอีกเมนูจำไม่ได้ (แย่จริงเลยเรา) แต่จำได้ว่าเป็นอาหารทั่วไป อาจจะเป็นเพราะตื่นเต้นกับการกินเมนูพื้นบ้าน ^^
ชาวบ้านก็น่ารัก เห็นเรามากันไปกลุ่มกลัวอาหารที่จัดเตรียมไว้จะไม่พอ ก็ตำส้มตำให้เราเพิ่ม ทั้งตำปลาร้าและตำปูเนื่องด้วยกลัวบางคนไม่ทานปลาร้า น่ารักจริงๆ
ตอบท้ายด้วยขนมหวาน วันที่เราไปแม่ครัวจัดเฉาก้วยนมสดใส่น้ำแข็งเย็นชื่นใจ แต่อีกวันจัดกล้วยเชื่อม ขอบอกว่าอร่อยมากกก แม้แต่ลูกศิษย์ที่ไม่ชอบกินหวานยังเดินมาบอกว่าต้องลอง
ตกบ่าย เราได้ไปอีกสามฐานคือ ฐานแปรรูปฟักข้าว ฐานแปรรูปกล้วย และฐานกระเป๋าถัก
นอกจากนี้ยังมีฐานทำซูชิชะอมไข่ ฐานการทำขนมประแดกงา ขนมท้องถิ่นขึ้นชื่อของหมู่บ้าน เมื่อได้ลองแล้วก็ต้องยกนิ้วให้
ทุกจุดเรียนรู้คุณป้าทีมงานจะจัดเตรียมน้ำหวานไว้คอยท่าเพื่อสร้างความประทับใจ ตามธรรมเนียมไทยเราที่ว่า “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” บางจุดจะเป็นน้ำดอกอัญชัน บางจุดเป็นน้ำกระเจียบ บางจุดก็เป็นน้ำตะไคร้
ยิ่งอากาศร้อนๆ เมื่อได้ดื่มน้ำหวานเย็นๆ มีหรือจะไม่ประทับใจ
แต่สิ่งที่เราสังเกตได้คือ เด็กๆของเราไม่ค่อยชอบทานหวาน
หากจุดไหนที่น้ำหวานมีรสหวานเกินไป เด็กๆจะเปรยออกมาทันทีว่าหวาน เพื่อนๆได้ยินก็ลองกันคนละนิดหน่อยพอเป็นพิธีแต่จะไม่ค่อยจะดื่มกันสักเท่าไร
และหากจุดไหนหวานน้อย สิ่งที่ได้ยินคือ แก…อันนี้ไม่ค่อยหวาน ลองดูๆ แล้วเพื่อนๆ ก็ลองชิมตามๆ กัน
นับเป็นเรื่องดีที่เราได้เป็นของแถม นั่นคือ การได้รู้ว่าวัยรุ่นไม่ติดหวานมากอย่างที่เรากังวล
การไปเยือนบ้านเซิงหวายของกลุ่มเราครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของชาวชุมชนบ้านเซิงหวายหลังจากได้เข้าร่วมโครงการ OTOP นวัตวิถีเมื่อหกเดือนก่อน
แม้จะมีความไม่พร้อมอยู่บ้าง เช่น การจัดวางเส้นทางของฐานการเรียนรู้ แต่การต้อนรับด้วยใจ อบอุ่น และเต็มที่กับทุกฐานกิจกรรมที่เราสัมผัสได้ ก็ทำให้ชาวสมาชิกประทับใจได้ไม่น้อย
ทุกฐานที่เราได้ไปเยือน เหล่าคุณป้าจะขอความคิดเห็นเสมอว่าควรต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ขอให้บอก ด้วยใจที่เปิดกว้างพร้อมรับข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุง
เราเชื่อว่าหมู่บ้านเซิงหวายจะเป็นที่รู้จักในไม่ช้า
หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com
#eatecon