3+1 สาเหตุที่เสพย์ติดชานมไข่มุก

  • ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหนก็จะเจอกับชานมไข่มุก (Bubble tea) เครื่องดื่มที่มีต้นกำเนิดจากไต้หวันเมื่อช่วงปี 1980s นับไปก็เกือบ 40 ปีแล้ว จะว่าไปชานมไข่มุกไม่ได้พึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ชานมไข่มุกเคยเป็นกระแสอยู่สักพักในอดีต แล้วก็ตกกระแสไป
  • แต่การมาครั้งนี้ กลับมาอย่างมีกลยุทธ์ มีการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลไต้หวัน ไม่เพียงที่ไทย ตอนนี้ชานมไข่มุกเป็นที่นิยมมากกว่า 30 ประเทศ ไม่ไว้แม้แต่ประเทศอังกฤษ เพราะมี 3+1 สิ่งที่ทำให้เราติด ไม่ว่าจะเป็นความหวาน ความมัน คาเฟอีน และความคุ้นเคยทางสายตา

ชา ครีมเทียม น้ำตาลทราย นมข้นหวาน ไข่มุก และสารปรุงแต่ง ถูกจับมาปรุงเป็นเครื่องดื่มที่มีทั้งความหวาน ความมัน ความนุ่มหนึบของไข่มุกที่ทำจากมันสำปะหลัง ผ่านการต้มอย่างพอเหมาะ มันช่างกลอมกล่อม เข้ากันได้ดีจนกลายเป็นเครื่องดื่มประจำของใครหลายคน

แต่… ‘เราไม่กินชานมไข่มุก’

ทำไมนะหรือ เราจะบอกให้…

ย้อนกลับขึ้นไปดูส่วนประกอบด้านบนสิ นั่นคือสาเหตุที่เราไม่เป็นแฟนของชานมไข่มุก

เพราะแค่เพียงในมือแก้วเดียวนี้กลับมีสิ่งที่ทำให้เราเสพติดอยู่ 3 อย่าง 

สิ่งแรก ความหวาน
ปริมาณน้ำตาลทั้งจาก น้ำตาลทรายและนมข้นหวาน ผสมกันดีเหลือเกินที่จะทำให้เรายังคงติดอยู่กับดักของการติดรสหวาน ก็แหม…มันทั้งหวานทั้งมัน กลมกล่อม ใครจะไม่ชอบ
แต่หากทราบว่าในหนึ่งแก้วนี้ จะมีน้ำตาลสูงถึง 8-11 ช้อนชา ขณะที่เราควรกินแค่วันละ 6 ช้อนชา นั่นหมายถึง เรากินน้ำตาลมากกว่าที่ควรเกือบ 1 เท่าตัวหากเรากินหวานๆ

เมื่อเอ่ยถึงน้ำตาล ก็ต้องจะไม่เอ่ยถึงพลังงานก็ใช่ที่

พลังงานที่เราได้รับจากชานมไข่มุก 1 แก้ว ประมาณ 240 – 360 Kcal ถามว่าเทียบกับอะไรได้บ้าง
จากข้อมูลของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) พบว่า กินชานมไข่มุก 1 แก้ว เทียบเท่ากับ กล้วยหอม 9 ลูก หรือ น้ำอัดลม 3 แก้ว หรือข้าวเหนียวทุเรียน 2 ถ้วย หรือจะเอาให้เห็นภาพง่ายกว่านั้น ก็เทียบกับข้าวสัก 3-4 ทัพพี จะเห็นว่า แก้วนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ 

ดังนั้น ใครอยากผอม บอกลา ชานมไข่มุกซะตั้งแต่วันนี้

สิ่งที่สอง ชาไข่มุกเต็มไปด้วย ไขมัน 

ไขมันที่อยู่ในนมข้นหวานนี่ตัวดีเลย ยิ่งมันยิ่งอร่อย

เคยสังเกตหรือไม่ว่าอาหารที่เรากินโดยเฉพาะของทอดมักจะอร่อยกว่าอาหารต้มหรือนึ่ง นั่นด้วย ลิ้นของเรามีต่อมรับรสที่ 6 สำหรับไขมัน (Keast and Costanzo, 2015) เจ้าต่อมนี้แหละที่เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักของเราเพิ่มขึ้น เพราะอาหารอร่อย เราจึงยากจะหักห้ามใจ กินไปกินมา นึกขึ้นได้ มองไปที่จานอาหารตรงหน้าก็หมดเป็นที่เรียบร้อย

แม้ว่าไขมันจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราติด แต่ไขมันคือต้นเหตุที่เพิ่มความอร่อย และเราก็เสพติดความอร่อยนี้ ติดจนได้ของแถมมาเพียบ

สารตัวที่ สาม ‘คาเฟอีน’ ซึ่งสารเสพติดที่ถูกกดหมายอย่าง
แม้ว่าชาจะได้ชื่อว่าดีต่อสุขภาพ มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นที่ถวิลหาในหมู่คนรักสุขภาพ แต่ชาก็มีสารคาเฟอีน แม้ว่าจะมีข้อดีคือ ทำให้เราตื่นตัว กระปี้กระเป่า หากการที่เราได้รับสารตัวนี้มากเกินไปก็จะทำให้ความดันขึ้น ท้องผูก หรือนอนไม่หลับได้  

หากเทียบกันแก้วต่อแก้ว การดื่มกาแฟเอสเปรสโซ่ 1 ช๊อต กับชาสำเร็จรูป 1 ขวด ปริมาณคาเฟอีนที่เราได้รับ แทบไม่แตกต่างกัน

ที่มา: coffeeandtealover.com. 2559.

จะว่าไปแล้ว คาเฟอีน ก็ไม่ได้มีแค่ในชาหรือกาแฟ แต่ยังคงมีในน้ำอัดลมน้ำดำด้วย

การได้รับคาเฟอีนแต่พอดีมีประโยชน์ อยากบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง แนปปูชิโน่ (Nappucino) ในบทความของ @EatEcon ได้ยกตัวอย่างของการทำงานร่วมกันได้อย่างดีระหว่างการงีบสั้นๆร่วมกับการดื่มกาแฟในยามบ่าย ทำให้เราสดชื่น เพิ่มประสิทธิภาพให้กับงาน ช่วงยามบ่ายของเรา ก็จะไม่เป็นไปตามคำพูดที่ว่า หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อนอีกต่อไป เพราะเราได้งีบเรียบร้อย ^ ^

แต่ก็ต้องระวังนะคะ เพราะหากเรางีบนานไป (มากกว่า 20 นาที) เราจะเข้าสู่โหมดหลับจริงจัง จากสดชื่น จะกลายเป็นงัวเงียได้

แม้จะมีงานวิจัยยืนยันว่า การดื่มชาคู่กับนมจะช่วยลดปริมาณคาเฟอีนได้ แต่การดื่มคู่กับนมหรือน้ำตาลจะลดคุณสมบัติสารต่อต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน

จะเห็นว่าเหตุผลทั้งหมดที่เราไล่เรียงมานั้น ไม่แปลกใจเลยใช้มั้ยว่าทำไมชานมไข่มุกจึงเป็นที่นิยม 

นอกจากนี้ เรายังเห็นแก้วชานมไข่มุกจนชินตา จากเพื่อนรอบข้างเราที่ถือกันมาให้เห็นทุกวัน ซึ่งก็กระตุ้นความอยากของเพิ่มขึ้นจนยากจะอดใจไหว

นี่ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เราเสพติดเช่นเดียวกัน คือ การเสพผ่านตา

ในทางการตลาด การทำให้สินค้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน หันไปทางไหนก็เจอคนถือแก้วชานมไข่มุก การเห็นแก้วชานมไข่มุกในมือนั้น จะกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึก เราจินตนาการไปถึงรสชาติของความหอม หวาน มัน ที่ได้ที่เราเคยลิ้มรส ความอยากถูกปลุกให้ตื่น และในที่สุดเราก็ได้ ชานมไข่มุก มาอยู่ในมือ แม้ว่าเราจะไม่ตั้งใจจะซื้อตั้งแต่แรกก็ตาม

และนี่คือ เหตุผลทั้งหมดที่ ‘ทำไมเราถึงไม่กินชานมไข่มุก’ 

การอร่อยเป็นครั้งคราวคงเป็นเรื่องที่ไม่ได้เลวร้ายหรือเสียหายอะไร แต่การที่เรากินทุกวันนี่สิน่ากลัว 

You are what you eat. คำพูดนี้ได้ยินกันจนเป็นปกติ แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้เป็นเครื่องเตือนสติ ฉุดรั้งเจ้าช้างใหญ่ในตัวไม่ให้พุ่งใส่อาหารอันโอชะตรงหน้า

***สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์และพฤติกรรมของเราและคนรอบสามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

#EatEcon #BubleTea #SugaryDrink #กินแต่พอดี

ที่มา

ทิวาพร มณีรัตนศุภร. เจาะลึกเบื้องหลังชานมไข่มุก: คุณหรือโทษ. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

Keast, R. S. & Costanzo, A. (2015). Is fat the sixth taste primary? Evidence and implications. Flavour, 4, 5.
Pink, Daniel H.. When: The Scientific Secrets of Perfect Timing (pp. 69-70). Canongate Books. Kindle Edition.
https://www.thaiquote.org/content/53656
https://www.facebook.com/eatecon/?ref=bookmarks
ภาพโดย https://www.coffeeandtealover.com/2015/10/caffeine-in-drink/

Photo by Rosalind Chang on Unsplash

Leave a Reply