เมื่อ “ข้าว” กลายเป็น “สินค้าด้อยคุณภาพ”

งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์หลายชิ้นได้ผลวิจัยออกมาในแนวทางเดียวกันว่า เมื่อรายได้ของผู้บริโภคสูงขึ้น ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะไปบริโภคอาหารอื่นแทนข้าวเพิ่มมากขึ้น

ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ ลักษณะแบบนี้เราเรียกว่า ‘สินค้าด้อยคุณภาพ’

คำว่า ‘สินค้าด้อยคุณภาพ’ ไม่ได้หมายถึงว่าคุณภาพไม่ดี คุณภาพของสินค้ายังดีเหมือนเดิม ข้าวยังหอม นุ่ม และอร่อยเหมือนเดิม แต่ “ข้าว” ด้อยค่าเสียแล้วในสายตาเรา และเรามักจะให้เป็นทางเลือกรองหากเรามีรายได้มากขึ้น

จากงานวิจัยล่าสุดของเราที่ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข้าวของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2561 จำนวน 609 ราย พบว่า คนกรุงเทพฯ ยังคงกินข้าวเป็นประจำ แต่อาจจะไม่ได้กินครบ 3 มื้อ กินข้าวนอกบ้านเป็นประจำ ชอบกินข้าวหอมมะลิมากกว่าข้าวขาว หากซื้อข้าวสารมาหุงเองก็จะซื้อยี่ห้อประจำ [1] 

แม้ว่าข้าวยังเป็นอาหารหลักของคนกรุงเทพ แต่ก็ไม่ได้เป็นอาหารหลักแบบที่เคยเป็นมาในอดีต

เพราะข้าวได้กลายมาเป็น “สินค้าด้วยคุณภาพ” ในสายตาคนกรุงเทพไปเรียบร้อยแล้ว  

แม้ว่างานวิจัยของเราจะสำรวจแค่คนกรุงเทพ แต่เราเดาว่าทิศทางของคนภูมิภาคอื่นก็ไม่ต่างกันเท่าไรนัก เพียงแต่ระดับความรู้สึกอาจจะไม่มากเท่าคนกรุงเทพ

ยิ่งช่วงเงินเดือนออกแบบนี้ยิ่งเห็นชัด

เมนูข้าว ข้าวแกง หรืออาหารตามสั่งแทบจะไม่มีอยู่ในลิสต์ หลายคนมุ่งเป้าออกไปทานข้าวนอกบ้าน ไปกินร้านโน้นร้านนี้ ไล่ไปตั้งแต่ ชูชิ ชาบู สุกี้ ปิ้งย่าง พิซซ่า สปาเก็ตตี้ ฯลฯ 

ลองสังเกตดูว่า จริงหรือไม่ที่ เราบอกว่ากินข้าวกัน แต่เราไม่ได้กินข้าวจริง ๆ ?

บางคนถึงขั้นเอาข้าวเป็นเมนูต้องห้าม หากเลือกที่จะออกไปทานมื้อพิเศษ ด้วยเหตุผลว่า ข้าวกินทุกวัน (แม้จะไม่ทุกมื้อ) จ่ายเงินทั้งที ขอกินอะไรพิเศษ ๆ หน่อย 

ข้าว กลายเป็นน้ำพริกถ้วยเก่าเสียแล้ว

ลูกหลานชาวนาอย่างเรา ฟังแล้วก็เจ็บลึก ๆ

แต่เดี๋ยวก่อน อีกผลสำรวจของงานวิจัยเราที่ทำให้ลูกหลานชาวนาอย่างเราพอใจชื้นคือ กลุ่มตัวอย่างที่เราศึกษานิยิมบริโภคข้าวพรีเมียมมากขึ้น 

โดยกลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 30 เลือกบริโภคข้าวพรีเมียมอย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นประจำ

นอกจากนี้จากการสำรวจข้าวสารที่วางจำหน่ายก็มีข้าวพรีเมียมให้เลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นข้าวอินทรีย์สายพันธุ์ต่าง ๆ ข้าวโภชนาการสูง เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสินเหล็ก ข้าวน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าว กข 43 หรือข้าวกล้องต่าง ๆ 

ความหลากหลายเหล่านี้นำมาตอบสนองกับความต้องการที่มีเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าจะเป็นทางรอดของชาวนาไทย

แม้ว่าปริมาณการบริโภคข้าวต่อคนจะลดลง แต่จำนวนเงินที่จ่ายเพื่อซื้อข้าวต่อมื้อนั้นมากขึ้น ก็พอจะชดเชยกันได้

งานวิจัยของเราเน้นสำรวจผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ได้วิเคราะห์ภาพรวมของการบริโภคข้าวของคนไทย แต่ก็มีงานวิจัยในอดีตที่ผลการศึกษาก็ชี้ให้เห็นทิศทางการบริโภคข้าวที่เป็นมาและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น 

เช่น งานวิจัยของ นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ (2556) ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน สำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติปี 2545 และปี 2554 พบว่า โดยภาพรวมแล้วในปี 2545 คนไทยบริโภคข้าวเฉลี่ย 101 กก./คน/ปี ลดลงเหลือ 90 กก./คน/ปี ในปี 2554 [2]

ข้อจำกัดของงานวิจัยชิ้นนี้คือ ข้อมูลการบริโภคข้าวที่วิเคราะห์ใช้รายจ่ายข้าวสารของครัวเรือน ยังไม่รวมการบริโภคอาหารสำเร็จรูปและการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งแนวโน้มของการบริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ พฤติกรรมการบริโภคข้าวของคนที่อยู่ในเขตเมืองกับคนที่อยู่ในเขตชนบทมีความแตกต่างกัน คือ คนในเขตเมืองจะบริโภคข้าวสารน้อยกว่าคนในเขตชนบทแต่จะมีสัดส่วนการบริโภคข้าวนอกบ้านหรือกลุ่มข้าวแกงมากกว่าคนในเขตชนบท

แต่ในฝั่งด้านการผลิตกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพี่จีน ที่สามารถปรับปรุงพันธ์ุข้าวจนสามารถปลูกในพื้นที่ทะเลทรายได้เรียบร้อยแล้ว 

หากปีไหน ฝนดี ผลผลิตข้าวล้นทะลัก อาจจะมีชะลอตัวบ้างในช่วงปีที่ปัจจัยทางธรรมชาติไม่เอื้อ เช่น น้ำท่วมหรือภัยแล้ง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตของเกษตรกรที่ผลิตได้ อย่างเช่นในปีปัจจุบัน ข้าวเหนียวราคาพุ่งเพราะผลผลิตข้าวเหนียวน้อยกว่าความต้องการอย่างมาก  

ประเทศไทยเราในฐานนะผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญและมีพื้นที่การผลิตเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับจีนและอินเดีย คงไม่สามารถสู้กับมหาอำนาจในตลาดข้าวทั่วไปได้ เราต้องขยับตัวเองไปในตลาดข้าวพรีเมียม 

เพราะแม้แต่คนไทยเองยังมองว่าข้าวเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ ปริมาณบริโภคน้อยลงเมื่อรายได้มากขึ้น 

แต่ในร้ายมีดี ค่าความยืดหยุ่นของข้าวต่อราคาข้าวนั้นยังคงมีความยืดหยุ่นต่ำ หมายถึง ข้าวยังคงเป็นสิ่งที่คนไทยเรายังกินเป็นหลัก แม้ว่าราคาจะเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการบริโภคก็ไม่ได้ลดลงมากเท่าใดนัก [4]

หากปรับปรุงและพัฒนาข้าวให้มีความพรีเมียมมากขึ้น มูลค่าที่หายไปจากปริมาณการบริโภคที่ลดลง ก็สามารถชดเชยได้จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากความเป็นข้าวพรีเมียมได้

ภาพโดย 41330 จาก Pixabay 

และนี่คือ ทางรอดของชาวนาไทย 

ในฐานะผู้บริโภค เรามากินข้าวคุณภาพพรีเมียมกันเถอะ เพื่อให้กำลังใจชาวนาไทยที่ปลูกข้าวพรีเมียม ปลูกข้าวดี ข้าวอร่อยให้เรากิน

#EatEcon

หากเพื่อน ๆ เห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้มีประโยชน์ อย่าลืมแชร์ให้คนรอบข้างของคุณอ่านด้วยนะคะ ^ ^

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

ปล. สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

ที่มา 

[1] สุวรรณา สายรวมญาติ. 2562. พฤติกรรมการบริโภคข้าวและปัจจัยกำหนดราคาข้าวในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาข้าวไรซ์เบอร์รี่. สนับสนุนทุนวิจัยโดย สนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

[2] นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ. 2556. อุปสงค์การบริโภคข้าวของไทย. 􏰖􏰲􏰔􏰃􏰈􏰌􏰊􏰔􏰃􏰌􏰞􏰊􏰚􏰟􏰃􏰖􏰃􏰈􏰡􏰖􏰃􏰟􏰃􏰌􏰔􏰍􏰉􏰄􏰧􏰈􏰂 สนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

[3] นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ. 2554. ยุทธศาสตร์ข้าวไทย การวิจัยพัฒนาข้าวไทย และการมองไปข้างหน้า. สนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

[4] Isvilanonda, S. & Kongrith, W. (2008). Thai household’s rice consumption and its demand elasticity. ASEAN Economic Bulletin, 25, 271-282.

ภาพโดย กิตติ รัชทาณิชย์ จาก Pixabay