จะดีแค่ไหน… ถ้าเครื่องดื่มหวานน้อยถูกกว่าสูตรหวานปกติ?
เมื่อเดินไปโซนเครื่องดื่มที่มีน้ำหวานวางเรียงรายแน่นขนัดในในร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อน ๆ สังเกตเห็นอะไร?
:
สิ่งที่เราเห็นคือ ราคาน้ำอดลมจะถูกตั้งราคาเสมือนอยู่ในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ คือ มีราคาเดียว หรือไม่ก็ต่างกันเพียง 1 บาท
เรียกได้ว่าตั้งราคาแบบที่คนซื้อเลือกด้วยความชอบโดยไม่ต้องในใจเรื่องราคา แต่…อย่าลืมเหลียวมองดูปริมาณกันสักนิดว่าแต่ละเจ้าชิงไหวชิงพริบกันอย่างไร
เมื่อกวาดตามองราคาทุกรายการที่วางเรียงราย ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า…
ถ้าน้ำอัดลมสูตรไม่ใส่น้ำตาลราคาถูกกว่าสูตรปกติ คนจะหันมาดื่มสูตรไม่มีน้ำตาลเพิ่มขึ้นหรือไม่?
แล้ว..ถ้าเป็นเครื่องดื่มแบบอื่นหากลดราคาให้สำหรับคนที่สั่งหวานน้อย จะสามารถจูงใจลูกค้าได้มากแค่ไหน ?
ซึ่งตามกฎของอุปสงค์แล้ว ราคาที่ลดลงจะสามารถเพิ่มปริมาณการซื้อได้ แต่จะเพิ่มได้แค่ไหน
ด้วยความอยากรู้ เราจะชวนลูกศิษย์ทำการทดลองในวิชาปัญหาพิเศษเพื่อไขข้อข้องใจเรื่องนี้กัน
แต่จะไปขอให้น้ำอัดลมร่วมการทดลองกับเราก็คงยาก
จึงมาสรุปที่ น้ำเต้าหู้ และชานมไข่มุก ซึ่งเป็นเครื่องดื่มแบบคนละขั้ว
เหตุที่เราสรุปเลือกเครื่องดื่มสองชนิดนี้ เพราะน้ำเต้าหู้ เราจะได้เห็นการตัดสินใจของกลุ่มคนรักสุขภาพ และชานมไข่มุก เราจะได้เห็นการตัดสินใจของกลุ่มคนที่ชอบเครื่องดื่มแบบหวาน ๆ
นิสิตของเราได้ติดต่อร้านขายน้ำเต้าหู้และร้านขายชานมไข่มุก เพื่อร่วมทำการทดลองนี้เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์
- ช่วงสัปดาห์แรก เก็บข้อมูลในสถานการณ์ปกติ เพื่อดูสัดส่วนของการรสชาติปกติและหวานน้อยว่าเป็นเท่าไร
- สัปดาห์ที่ 2 ใช้ป้ายเชิญชวนหวานน้อย ด้วยข้อความว่า “ลดหวานหน่อย ก็ยังอร่อยนะ…ลองดู” ไว้ใกล้ ๆ บริเวณที่ลูกค้าสั่งเครื่องดื่ม
- สัปดาห์ที่ 3 ใช้คูปองลดราคาโดยวางไว้ใกล้ ๆ บริเวณที่ลูกค้าสั่งเครื่องดื่ม โดยน้ำเต้าหู้ จะลดราคา 2 บาท หากสั่งหวานน้อยหรือไม่ใส่น้ำตาล สำหรับชานมไข่มุกจะลดราคา 5 บาทหากสั่งหวานน้อย
โดยทั้งการติดป้ายเชิญชวนและการใช้คูปองไม่ได้มีการกระตุ้นเชิญชวนจากพนักงานขายเพิ่มเติม
ตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ของการเก็บข้อมูลด้วยการบันทึกจำนวนหน่วยของการสั่งซื้อ เราได้ยอดการสั่งชานมไข่มุกจำนวน 3,000 แก้ว และน้ำเต้าหู้จำนวน 4,512 ถุง
ผลการเปรียบเทียบเป็นไปดังคาดเมื่อเปรียบเทียบกับป้ายเชิญชวน การลดราคาสามารถจูงใจลูกค้าน้ำเต้าหู้ให้เลือกแบบหวานน้อยเพิ่มขึ้น 24% และจูงใจลูกค้าชานมไข่มุกเพิ่มขึ้น 25.8%
การทดลองนี้ช่วยยืนยันว่า ราคา เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่สามารถจูงใจให้ผู้บริโภคลด การบริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็นได้ เป็นไปตามสมมติฐานที่เคาดไว้
คงจะดีไม่น้อย หากเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงตั้งราคาแบบหวานปกติให้มีราคาสูงกว่าแบบหวานน้อย หรือแบบไม่มีน้ำตาล
เพราะเพียงแค่ฉลาก “ทางเลือกสุขภาพ” ที่ติดอยู่คงไม่ต่างจากการติดป้ายเชิญชวนที่เราเปรียบเทียบให้เห็นจากการทดลองนี้
ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2562 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือน สาวกชาไข่มุกทั้งหลายถึงภัยที่แฝงมากับความอร่อย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด เพราะในชานมไข่มุกมีน้ำตาล ครีม นมผงสูงกว่าปกติ
คำเตือนข้างต้นเราชาว EatEcon รู้เรื่องนี้กันเป็นอย่างดี แต่สาวกทั้งหลายก็บอกว่า หักห้ามใจยากเหลือเกิน
คุณหมอยังแนะนำด้วยว่าไม่ควรดื่มเกินสัปดาห์ละ 2 แก้ว และลดน้ำตาลให้น้อย และมีข้อความฝากไปถึงร้านว่าอยากให้ผลิตสูตรชาไข่มุกเพื่อสุขภาพบ้าง
แต่จากการทดลองเล็ก ๆ ของเราที่เล่ามาข้างต้น บอกได้เลยว่า แม้จะมีสูตรเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสูตรหวานน้อย หรือสูตรไขมันต่ำ เป็นทางเลือก ก็ไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวเพื่อเพิ่มการดื่มชานมไข่มุกแบบหวานน้อยได้เท่าใดนัก
เพราะบางคนบอกว่าจะกินทั้งทีต้องกินให้อร่อย ไม่อร่อยอย่ากิน !!!
เรียกได้ว่า กินด้วยอารมณ์อยากล้วน ๆ เอาช้างมาฉุดก็หยุดไม่ได้ 555
ทีมของเราจึงของเสนอให้มีการตั้งราคาสูตรหวานปกติให้สูงกว่าสูตรหวานน้อยเพื่อเพิ่มแรงจูงใจอีกทางหนึ่ง
ขอขอบคุณ ศิรัชญา ทองพูล และพฤศราฑร ฐานประเสริฐ ที่หลวมตัวมาช่วยอาจารย์ขี้สงสัยคนนี้หาคำตอบ ^ ^
#EatEcon
หากเพื่อน ๆ เห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้มีประโยชน์ อย่าลืมแชร์ให้คนรอบข้างของคุณอ่านด้วยนะคะ ^ ^
#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน
ปล. สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com
Photo by Anita Austvika on Unsplash