ขออย่าให้หมูกลายเป็นแพะ

ตอนนี้แวดวงของผู้เลี้ยงสุกรต่างร้อน ๆ หนาว ๆ ถ้วนหน้ากับการรุกรานของการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ AFS ที่ทะลุการ์ดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่เตรียมการรับมือป้องกันมาร่วมปีเข้ามาในเมืองไทยเรียบร้อย ณ จังหวัดเชียงราย แต่ยังไม่มีการรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฟาร์มขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นั้นและการระบาดไปยังพื้นที่อื่น

ต้องยอมรับว่าวงการหมูไทยได้ต่อสู้กับการระบาด AFS ได้ยอดเยี่ยม ควบคุมพื้นที่ระบาดของโรคได้ดีเมื่อเทียบกับจีน เวียดนาม ลาว และพม่า

โดยเฉพาะจีนที่มีความเสียหายอย่างหนัก AFS ทำให้หมูหายไปเกือบครึ่งประเทศ (46.7%) มากกว่า 1 ล้านตัวถูกกำจัดเพื่อควบคุมการระบาด ลำพังปริมาณการผลิตภายในประเทศเดิมทีก็ไม่พออยู่แล้ว ทำให้หมูขาดตลาดดันราคาหมูพรุ่งสูงถึงสองเท่า!!! 

ทำให้ต้องนำเข้า แม้ว่าปัญหาสงครามการค้ากับทรัมป์ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร แต่ยอดตัวเลขการนำเข้าหมูจากสหรัฐเพิ่มขึ้น 70% และยังคงไม่เก็บภาษีอัตราใหม่สำหรับเนื้อหมูและถั่วเหลืองที่นำเข้ามาจากสหรัฐ 

อารมณ์แบบอึดอัดสุด ๆ อยากตอบโต้ทรัมป์แต่ทำได้ไม่เต็มที่เพราะเรื่องปากท้องของประชนชนนั้นสำคัญ 

นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังเพิ่มการนำเข้าจากเดนมาร์ก ฝรั่งเศส และอังกฤษ อีกด้านก็ออกมาประกาศให้คนจีนกินหมูน้อยลง เพื่อดูแลระดับราคาไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นไปกว่านี้

เนื่องจากคนจีนนิยมกินเนื้อหมู ราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นระดับนี้ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นตามมาติด ๆ จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ 2.8%

จากข่าวของ CNBC ดัชนีราคาผู้บริโภค- CPI เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อนหน้า ซึ่งต้นเหตุใหญ่ก็มาจากหมูแพงส่งผลให้ดัชนีราคาอาหารสูงขึ้น 9.1% จากปีก่อน นับว่าสูงที่สุดในรอบ 7 ปี (เทียบจาก ม.ค. 2012) [2]

ก่อนหน้านี้ มีข่าวคาดการณ์ว่าราคาเนื้อหมูโลกจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเหตุจากายอดการนำเข้าหมูของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่…ราคาหมูหน้าฟาร์มของไทยกลับปรับตัวลดลง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ในมุมของเจ้าของฟาร์มหมู ราคาขายเนื้อหมูที่แพงผลได้ตกกว่าเจ้าของเขียงหมูมากกว่า แต่ราคาขายหมูหน้าฟาร์มนั้นอยู่กับผู้เลี้ยงเต็ม ๆ 

ข่าวการรุกคืบของ AFS ที่ล้อมทุกด้านของไทย เจ้าของฟาร์มส่วนใหญ่จำเป็นต้องลดความเสี่ยงด้วยการขายหมูเข้าสู่ตลาด เพียงช่วงระยะเวลา 2 เดือนราคาขายหมูหน้าฟาร์มโซนภาคตะวันตกจาก 75 บาท (2 ก.ค. 62) ลดลงเหลือ 57 บาท (21 ก.ย. 62) [1]

แต่ราคาเนื้อหมูที่ผู้บริโภคยังคงจ่ายในราคาเดิมนะจ๊ะ ไม่ได้ลดลงแต่อย่างไร

อานิสงค์ของ AFS ในจีนทำให้ไทยสามารถส่งออกหมูไปยังฮ่องกงได้ประมาณ 2000 ตัว/วัน 

ต้องปรบมือดัง ๆ ให้กับความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์ ซีพี และเจ้าของฟาร์มหมูของไทยทั้งหลาย ทำงานสอดประสานอย่างเป็นแข็งแขันเพื่อรับมือ AFS ด้วยการจัดการฟาร์มหมูตามหลัก Biosecurity 

แม้ว่า AFS จะอันตรายกับหมู แต่ไม่ระบาดมาถึงคน ดังนั้น ไม่ต้องตระหนก เรายังคงกินหมูได้ตามปกติ

อ่านมาตั้งนาน หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเราถึงจ่อหัวว่า ‘ขออย่าให้หมูกลายเป็นแพะ’ 

เพราะมันมีเหตุจากข่าวการเสียชีวิตของคนไทยจากหูดับของคนไทยในปีนี้

วัฒนธรรมการกินเมนูที่ปรุงจากของดิบ เช่น ลาบเลือด ก้อยขม ซอยจุ๊ ที่เดิมทีใช้เนื้อวัวดิบมาปรุง หากแต่มันแพง หลายคนเลือกเปลี่ยนเป็นเนื้อหมูดิบ!!!

นี่แหละต้นเหตุของ ‘ขออย่าให้หมูกลายเป็นแพะ’

การกินหมูดิบ หรือหมูกึ่งสุกกึ่งดิบ ทำให้เราเสี่ยงได้รับเชื้อ Streptococcus suis ที่มากับหมูป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โดยผู้เลี้ยงและผู้ขายเนื้อหมูไม่ทราบ 

เจ้าเชื้อตัวนี้จะไม่ทำร้ายเราหากเราปรุงเนื้อหมูให้สุกก่อนรับประทาน

แต่…เชื่อหรือไม่กินหมูสุกก็เสี่ยงได้รับชื้อได้ !!!

ตัวอย่างง่าย ๆ เวลาเรากินหมูกะทะ ปิ้งย่าง ที่เราต้องใช้ตะเกียบคีบเนื้อหมูดิบเอาไปปิ้ง 

ระหว่างรอหมูสุก ก็ใช้ตะเกียบคู่เดิมคีบอาหารอื่นบนโตะกินไปพลาง ๆ 

พอหมูสุก เชื้อในหมูตายเรียบร้อย ก็ใช้ตะเกียบคู่เดิม คีบหมูขึ้นมาก เป่าเล็กน้อย แล้วส่งเข้าปาก

อย่าคิดว่าเชื้อตายนะจ๊ะ เชื้อที่อาจติดอยู่ที่ปลายตะเกียบมันยังไม่ตาย

ถ้าเรากินชาบู สุกี้ เราสามารถนำตะเกียบไปแกว่งในน้ำร้อน พอช่วยได้

ที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นข้อมูลจะได้ไม่เอาสองเรื่องมาปนกัน เพราะไม่อยากให้หมูกลายเป็นแพะ

Cr ภาพจาก @firstfast25

#EatEcon

หากเพื่อน ๆ เห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้มีประโยชน์ อย่าลืมแชร์ให้คนรอบข้างของคุณอ่านด้วยนะคะ ^ ^

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

ปล. สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

ที่มา

[1] สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ. 2562. ข้อมูลราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ปี 2562. https://www.swinethailand.com/17143774/ข้อมูลตลาดสุกรมีชีวิต-วันพระที่-21-กันยายน-2562

[2] https://www.cnbc.com/2019/08/09/china-inflation-july-2019-producer-prices-ppi-and-consumer-price-index-cpi.html

Photo by heejin chang on Unsplash