บันทึกการเดินทาง ตอน มะม่วงน้ำดอกไม้

3 ตุลาคม 2562 

ทีมวิจัยผลไม้ของภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร (ซึ่งเราได้มีโอกาสเป็นส่วนเล็ก ๆ ของโครงการวิจัยนี้) ได้ไปเยี่ยมชมสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ของคุณมนตรี ศรีนิล ผู้ยึดอาชีพชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ มานานกว่า 30 ปี 

การเดินทางไปครั้งนี้เพื่อไปหาคำตอบว่าตอนนี้ชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้เป็นอย่างไรกันบ้าง มีปัญหาอะไรที่ยังแก้กันไม่ตก และชาวสวนต้องการเทคโนโลยีหรือเครื่องมืออะไรที่อยากนำมาใช้ในการผลิต

เราออกเดินทางกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อเลี่ยงปัญหาการจราจร มุ่งหน้าไปยังสวนของคุณมนตรีที่อำเภอปากช่อง จังหวัดสระบุรี

การเดินทางครั้งนี้ของเราเหมือนแก้วเปล่า เพราะเราไม่รู้เรื่องการผลิตของมะม่วงน้ำดอกไม้เลย แต่ถ้าเรื่องกินมะม่วงน้ำดอกไม้ละก็ เราคิดว่า เราน่าจะเป็นแก้วที่พอจะมีน้ำอยู่บ้าง ^ ^

เมื่อเราไปถึง คุณมนตรีและชาวสวนอีก 4 ราย นั่งคอยเราอยู่แล้ว อ้อ…เราไปถึงช้ากว่าที่นัดไว้ประมาณ 15 นาที เพราะหลงทาง 555 ซึ่งการหลงทางของนักวิจัยมักเกิดขึ้นบ่อย ไม่ว่าจะเป็นหลังทางจริง ๆ หรือหลงทางในการวิจัย แต่เราก็หาทางไปสู่เป้าหมายจนได้ในที่สุดไม่ว่าจะหลงทางแบบแรกหรือแบบที่สอง ^ ^

เมื่อทักทายแนะนำตัวกันเรียบร้อย หัวหน้าทีมของเราก็เริ่มคำถามแรกเลย “มะม่วงน้ำดอกไม้ มีกี่พันธ์ุ” บอกแล้วว่าไปแบบแก้วเปล่า 555

แค่คำว่าพันธุ์ ก็คุยกันได้ยาวจนแทบจะหมดเวลา 

คุณมนตรีบอกว่า มะม่วงน้ำดอกไม้มีหลายพันธุ์มาก แต่พันธุ์ที่นิยมปลูกตอนนี้คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

ชาวสวนชอบพันธุ์เบอร์ 4 เพราะติดผลง่าย ให้ผลดี เปลืองหนา เนื้อแน่น  ซึ่งชาวสวนบอกกว่าอร่อยกว่าพันธุ์สีทอง

หากแต่ผู้บริโภคชอบพันธุ์สีทองมากกว่า เพราะสีสวย!!! แต่จุดอ่อนของพันธุ์นี้คือ เปลือกบาง ช้ำง่าย

ภาพเปรียบเทียบมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

ถ้าเปรียบเทียบจากรูป เราว่าพันธุ์เบอร์ 4 ก็สีสวยนะ เขียวตองอ่อนนวลๆ 

แต่ในสายตามผู้บริโภคเมื่อเทียบกับพันธุ์สีทองแล้ว พันธุ์เบอร์ 4 สู้ไม่ได้ สีเหลืองนวลชนะขาด

คุณมนตรีบอกว่า พันธุ์เบอร์ 4 ไปได้ดีสำหรับตลาดในประเทศ แต่ตลาดต่างประเทศไม่ชอบ เหตุเพราะสีสวยสู้พันธุ์สีทองไม่ได้

พันธุ์เบอร์ 4 จึงไปได้ดีในตลาดไทย 

สำหรับพันธุ์สีทอง เกรด A นั้น เราสามารถส่งออกไปยัง เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย

สำหรับเกรด B ส่งไปขายที่ตลาด อ.ต.ก. ซึ่งเกรด B จริงแล้วทุกอย่างเหมือนเกรด A ทั้งสีผิวและรสชาติ เพียงแต่น้ำหนักไม่ได้มาตรฐาน เพราะน้ำหนักเกิน 5 ขีด!!! (เกรด A น้ำหนักจะอยู่ราว ๆ 3 – 5 ขีด)

ลูกใหญ่ ผิวสวย ถูกใจลูกค้าตลาด อ.ต.ก. มากกกก 

สำหรับเกรด C ที่ผิวมีรอยขีดข่วนบ้าง จะขายไปตามตลาดต่าง ๆ ภายในประเทศ สำหรับรสชาติ ไม่ต่างจาก เกรด A เรายืนยัน

คุณมนตรี ให้ความเห็นว่า ทั้งสองพันธุ์มีข้อดีที่หากนำไปพัฒนาปรับปรุงพันธ์ุ  จะช่วยยกระดับมะม่วงน้ำดอกไม้ไทยได้อีกมาก 

แต่การปรับปรุงพันธุ์มะม่วงต้องใช้เวลานาน เนื่องจากเป็นไม้ผล กว่าจะได้ออกผลให้เราได้กินก็ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ดังนั้น การปรับปรุงพันธุ์จึงไม่ง่าย

พันธุ์เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับสินค้าเกษตรเกษตรทุกชนิด

แต่นักปรับปรุงพันธุ์น้อยลงทุกที จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวสวนมะม่วง

และเมื่อถามถึงปัญหาอื่น ๆ ไม่ต้องเดา เพราะมาเพียบ 555

วันนี้ เราขอหยิบยกมาแค่ประเด็นเดียวพอ กลัวเพื่อน ๆ จะเบื่อ

ปัญหาสำคัญตอนนี้ของชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้คือ เพลี้ยไฟ

เจ้าเพลี้ยไฟ นี้เล่นเอาชาวสวนเพลียไปตาม ๆ กัน เพราะมันทำลายผลมะม่วงจนเสียหายจนถึงขั้นขาดทุน ผลผลิตเกรด A ที่เคยผลิตได้ถึง 70% ตอนนี้เหลือไม่ถึง 30% ใจหายสุด ๆ

สาเหตุหลักของปัญหาเพลี้ยไฟ คือ สภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น การระบาดของเพลี้ยไฟจึงมากกว่าอดีต ซึ่งเพลี้ยไฟก็เริ่มวิวัฒนาการ วิธีกำจัดแบบเดิม ๆ ใช้ไม่ได้ผล ขณะนี้ชาวสวนรอผลการศึกษาของทีมวิจัยจากคณะเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กันอย่างใจจดใจจ่อ

เราคุยถึงปัญหาต่าง ๆ นานหลายชั่วโมง จนอยากชิมมะม่วงน้ำดอกไม้จากปากช่องที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้นอกฤดูที่อร่อยที่สุดของประเทศ

โชคดีสำหรับคณะเรา วันที่เราเป็นวันเก็บผลมะม่วงของหลานชายของคุณมนตรีลอตสุดท้าย  

เราจึงได้ลิ้มรสสมใจ 

เราได้ชิมมะม่วงน้ำดอกไม้ที่สุกปากตระกร้อ ปาดกันกินกันสด ๆ หวานชื่นใจ แทบจะไม่ติดรสเปรียว เหมือนที่ซื้อกินตามตลาด เพราะแก่จัดจริง ๆ และไม่พลาดที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับมา ได้มาทั้งพันธุ์เบอร์ 4 และพันธุ์สีทอง

ลองลิ้มชมรส

เหล่านี้คือสเน่ห์ของงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร การวิจัยที่ต้องลงไปถึงแหล่ง ศึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ ศาสตร์นี้ต้องเข้าใจทั้งเศรษฐศาสตร์และเกษตร เพื่อสะท้อนปัญหาและนำเสนอแนวทางเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร

ที่สำคัญได้เที่ยว ได้ชิม ได้ลิ้มรส เป็นของแถมนอกจากความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่จริง มันฟินตรงนี้แหละ ^ ^

#บันทึกการเดินทางของนักวิจัยตัวเล็ก #บันทึการเดินทางของ EatEcon

#EatEcon

หากห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้มีประโยชน์ อย่าลืมแชร์ให้คนรอบข้างของคุณอ่านด้วยนะคะ ^ ^

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

ปล. สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com