ทางออกหมูแพง “ผู้ผลิตอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้

ทางออกหมูแพงที่ “ผู้ผลิตอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้”

โดย สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัญหาโรคระบาดไวรัส ASF บานปลายจนทำให้ปริมาณหมูไทยลดลงจาก 20 ล้านตัว เหลือ 12.5 ล้านตัว หรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะมีการคาดการณ์ว่าความเสียหาย ณ ขณะนี้ มากกว่า 40% จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาหมูปรับตัวเพิ่มขึ้น 30 บาท ในเวลาประมาณ 40 วัน เรียกว่าปรับแพงกันข้ามปี จาก 80 บาทในช่วงเดือนธันวาคม 2564 จนถึงวันนี้ ตามการประกาศราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ประกาศตรึงราคาหน้าฟาร์มไว้ที่ 110 บาท ทั่วประเทศ แต่คงตรึงราคานี้ไว้ได้ไม่นานนักหากยังไม่สามารถคุมโรคระบาดได้

แม้ไม่มีโรคระบาด ราคาหมูก็ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้าปรับราคาขึ้นมาตลอดเช่นกัน และยังมีต้นทุนการบริหารจัดการตามหลัก Biosecurity ที่เพิ่มต้นทุนให้กับฟาร์มอีกประมาณ 300-500 บาท/ตัว เรียกว่า ยังไงก็ขึ้น แต่จะเป็นการค่อยๆ ปรับขึ้นไปตามกลไกตลาด

แล้วเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร…เราลองนั่งเทียนเขียนจากข้อมูลที่พอจะหาได้มาเสนอทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แบบสั้นๆ กระชับประมาณนี้

ระยะสั้นทำอะไรได้บ้าง

  1. ตรึงราคา ต้องตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มโดยพิจารณาจากต้นทุนเป็นสำคัญให้มีเพียงกำไรปกติ รวมถึงการตรึงราคาลูกหมูไม่ให้สูงเกินไป ควบคุมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์
  2. จัดการต้นทุน ทั้งต้นทุนอาหารหมูที่มีสัดส่วนประมาณ 50% ลูกหมู 35% สองส่วนนี้พอบริหารจัดการได้ แต่จัดการตามหลัก Biosecurity 15% มีต้นทุนการสำคัญคือ การฆ่าเชื้อและการตรวจเชื้อ โดยเฉพาะการตรวจเชื้อมีต้นทุนต่อ 1 ตัวอย่างไม่น้อยกว่า 700 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก
  3. นำเข้าเนื้อหมู โดยต้องเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมตามปริมาณนำเข้า โดยมีราคาขายไม่ต่ำกว่าราคาเนื้อหมูในประเทศ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหมู โดยการนำเข้าต้องกำหนดระยะเวลาและปริมาณนำเข้าตามสถานการณ์หมูภายในประเทศเป็นหลัก และเงื่อนไขสำคัญคือเนื้อหมูที่นำเข้าต้องปลอดสารเร่งเนื้อแดง และมีป้ายบอกชัดเจนว่าเป็นหมูนำเข้า ให้ผู้บริโภคตัดสินใจเองว่าจะซื้อหมูในหรือหมูนำเข้า ที่สำคัญภาครัฐต้องระวังเรื่องการลักลอบนำเข้าหมูและเนื้อหมูผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีราคาถูกกว่าหมูในประเทศมาก ภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่ได้จากการนำเข้านำกลับมาช่วยรายย่อยให้กลับมาเลี้ยงได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์พร้อม
  4. เร่งจ่ายเงินชดเชยฟาร์มที่ได้รับความเสียหาย และช่วยเหลือฟาร์มที่ยังอยู่รอด
  5. ช่วยเจรจาปัญหาหนี้สินกับธนาคารกรณีฟาร์มที่ได้รับความเสียหาย
  6. เร่งการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคให้เร็วที่สุด แม้ว่าจะยาก ให้เงินมาก ก็ต้องทำ หากไม่ทำ โอกาสที่รายย่อยหรือฟาร์มเปิดกลับมาก็แทบไม่มี
  7. ห้ามกระตุ้น ชักจูง โน้มน้าวให้กับมาเลี้ยงตอนนี้ เพราะจะทำให้เสียหายกลายเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร หากแต่ฟาร์มประสงค์ที่จะเลี้ยงและยอมรับความเสี่ยงก็คงห้ามกันไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีการประกาศว่ามีการระบาดของ ASF การบังคับไม่ให้เลี้ยง จึงไม่สามารถทำได้ นั่นคือความเสียหายของการไม่ประกาศว่า มีการระบาดของโรคนี้เกิดขึ้น

ระยะกลางสำหรับรายกลาง รายเล็ก และรายย่อย

  1. เตรียมพร้อมระบบสนับสนุนให้ฟาร์มที่เสียหายกลับมาเลี้ยงให้ได้เร็วที่สุด เช่น เงินช่วยเหลือปรับปรุงฟาร์มให้ได้มาตรฐาน ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสม ไม่ใช่ใช้มาตรฐานเดียวกันแบบฟาร์มใหญ่ที่มีทุน
  2. เตรียมสินชื่อปลอดการชำระในช่วงต้นให้แก่ฟาร์มที่เสียหาย เมื่อได้วัคซีนหรือคุมการระบาดของโรคได้และพร้อมที่จะกลับมาเลี้ยง และต้องให้การสนับสนุนแก่ผู้เลี้ยงเดิมก่อน

ระยะยาวการบ้านของภาครัฐ

  1. ปรับปรุงกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. โรคระบาด 2558 เหตุการณ์การระบาดครั้งนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นกว่า การจัดการโรคระบาดภายใต้กฎหมายฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงและบานปลายจนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
  2. ระบบติดตามข้อมูลที่พร้อม รวดเร็วทันการในการตัดสินใจ เนื่องจากข้อมูลทั้งการผลิต ต้นทุน การตลาด ขาดการบริหารจัดการติดตามสถานกาณ์ และความโปร่งใสของข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้ปัญหาบานปลายมาถึงจุดนี้
  3. ปรับปรุงแนวทางภาษีสำหรับฟาร์มสุกรให้เหมาะสมกับขนาด และธรรมชาติของธุรกิจฟาร์มหมูที่มักมีการขาดทุน/กำไรยาวนาน โดยภาษีส่วนหนึ่งต้องนำกลับมาใช้ในการปรับปรุงฟาร์มและชดเชยตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรค

ข้อเสนอข้างต้นเป็นความเห็นส่วนตัวอาจมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่สิ่งสำคัญคือการแก้ปัญหาหมูใดๆ ตอนนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามาร่วมแก้ปัญหาเพื่อช่วยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค “ผู้ผลิตอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้”

อ้อ…ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญ การแก้ปัญหาครั้งนี้ต้องตั้งอยู่ความเป็นจริง กว่าปริมาณหมูจะกลับมาผลิตได้ 20 ล้านตัว/ปี ได้ปกติก่อนเกินการระบาด หรือเพียงพอต่อปริมาณความต้องการบริโภคภายในประเทศ ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี หากยังไม่มีวัคซีน

#eatecon

Photo by heejin chang on Unsplash