Specialty durian ทางออกของทุเรียนไทย

เรื่องโดย สุวรรณา สายรวมญาติ

ทุเรียนเป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นกลุ่มไม่รักก็เกลียดเลย (Like it or hate it) แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และอิทธิพลของแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง E-commerce และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้กลุ่มเกลียดเลยมีแนวโน้มสัดส่วนลดลง ความคลั่งไคล้ของผู้ชื่นชอบทุเรียนได้ส่งผ่านไปยังสื่อสังคมออนไลน์กระตุ้นการบริโภคทุเรียนได้อย่างมหาศาล

ปัจจุบันตลาดผู้บริโภคทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นพี่จีน แม้ในอดีตทุเรียนจะเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่ปัจจุบันความรู้สึกของผู้บริโภคชาวจีนได้เปลี่ยนไปกลายเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยม การบริโภคทุเรียนกลายเป็นภาพลักษณ์ทางสังคม นิยมซื้อเป็นของฝากให้ญาติสนิทมิตรสหาย เอาแค่ช่วงสั้น ๆ เช่น ในช่วงกิจกรรมส่งเสริมการขายเมื่อช่วงวันที่ 1 – 3 มิถุนายน 2563 ของ Tmall.com พบว่า มียอดซื้อขายทุเรียนมากกว่า 70,000 ผล หากจะคิดเป็นน้ำหนักก็ไม่น้อยกว่า 210 ตัน ด้วยความนิยมทุเรียนที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้แต่ละปีจีนมีมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด (FB: Thai Durian Association – TDA สมาคมทุเรียนไทย, 16 กันยายน 2564 อนุเคราะห์ข้อมูลจาก ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้)

แม้ว่าปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนได้เพียงรายเดียว แต่มาเลเซียก็ได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนแช่แข็งทั้งผล (รวมเปลือก) เข้าสู่ตลาดจีนได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมูซานคิงเพื่อเพิ่มผลผลิตป้อนสู่ตลาดจีน ที่สำคัญมาเลเซียมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมและทำการตลาดอย่างมีระบบ มุ่งเน้นสร้างแบรนด์ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และคุณภาพทุเรียนแช่แข็งอย่างต่อเนื่อง

มาเลเซียใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมปิดจุดอ่อนของมูซานคิง ประกอบกับผลของการโฆษณาบน แพลตฟอร์ม E-commerce ทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้การยอมรับและเชื่อว่า ทุเรียนแช่เย็นหรือแช่แข็งมีรสชาติดีกว่าทุเรียนสด และตอนนี้ก็มีเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชาที่พยายามเจาะตลาดนี้เช่นกัน นี่ยังไม่รวมทุเรียนหมอนทองและมูซานคิงที่จีนทดลองปลูกสำเร็จในมณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีน แม้คุณภาพยังสู้ต้นตำรับไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าเวลาพี่จีนลงทุนทำเค้าวิจัยจริงจังพร้อมทั้งกำลังคนและกำลังเงิน ตรงนี้คือความน่ากลัวที่แท้จริง

จะเห็นได้ว่า แม้หมอนทองของไทยเราจะครองตลาด ผู้บริโภคชาวจีนให้การยอมรับ แต่ตอนนี้ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเสียงใต้ก็ปลูกหมอนทอง พร้อมจะส่งออกในไม่ช้านับจากนี้หากสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ จึงสรุปได้ว่า การค้าทุเรียนหมอนทองในจีนจะกลายเป็นทะเลแดงเดือด (Red Ocean) ในอนาคตอันใกล้

แต่ใช่ว่าทุเรียนไทยจะถึงทางตัน หมอนทองไทยยังคงอยู่ในใจของผู้บริโภคแต่มิได้เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหามาลิ้มลอง หมอนทองกลายเป็นพันธุ์ตลาดที่หารับประทานได้ทั่วไป หมอนทองไทยจึงไม่ใช่ตลาดทุเรียนพรีเมียมเหมือนเช่นอดีต

แล้วมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับอนาคตทุเรียนไทยหรือไม่

คำตอบคือ มี !!!

เนื่องจาก…ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนเริ่มมองหาสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพสูง เช่น “ก้านยาว” หรือ “มูซานคิง” ความต้องการลิ้มลองทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ของผู้บริโภคชาวจีนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และมาพร้อมกับความเต็มใจจ่าย แม้พันธุ์คุณภาพสูงจะมีราคาแพง แต่พี่ท่านก็ยินดีจ่าย ขอให้เป็น “ทุเรียนสุก รสหวาน เนื้อนิ่ม มีหลายพลู เนื้อมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น และเม็ดเล็ก” และยังมีอีกหนึ่งคุณสมบัติที่พ่อค้าทุเรียนชาวจีนกำลังมองหาคือ ผลเล็ก ขนาด ไม่เกิน 2 กิโลกรัม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุเรียนเพศหญิง ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่เกิดในปี 2553 เป็นต้นไป แม้ว่าจะเป็นผลไม้ที่ชูเรื่องคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ผู้บริโภคก็พอจะทราบว่าเยอะเกินไปก็ไม่ดี ทุเรียนผลเล็กจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้น

คุณสมบัติเหล่านี้อยู่ในทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของไทยที่นับวันจะหารับประทานยากเต็มที ความต้องการทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ตลาดจีน ตลาดไทยก็เช่นเดียวกัน 

จุดอ่อนของทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองคือ ต้องเก็บสุกคาปลิง หรือสุกจากต้นจึงอร่อย ต้องรับประทานภายใน 1-3 วัน หลักจากเก็บผล จึงทำให้ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองดีดีหลายพันธุ์ในอดีตไม่ได้รับความนิยมในทางการค้าเนื่องจากมีปัญหาด้านโลจิสติกส์

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเอาจริงเอาจังของรัฐบาลมาเลเซีย จึงทำให้ปัจจุบันหลายเงื่อนไขที่ทำให้ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองเช่น มูซานคิง สามารถกับมาโดดเด่นกลายเป็นทุเรียนพรีเมียมที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง และปัจจุบันมาเลเซียเปิดตัวสายพันธุ์สุลต่าน เนื้อหา หวานอม ขมปลายลิ้น สายพันธุ์ที่คนมาเลเซียนิยมอยู่แล้ว ซึ่งได้รับความนิยมจากตลาดจีนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทุเรียนมาเลเซียก็มีมากมายหลายสายพันธุ์ไม่ต่างจากไทย

ด้วยความก้าวหน้าเทคโนโลยีได้เปลี่ยนความเชื่อว่าทุเรียนสดดีและอร่อยเป็น “ทุเรียนแช่เย็นหรือแช่แข็งมีรสชาติดีกว่าทุเรียนสด” ซึ่งนับว่าการปูทางให้กับทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของไทย และสามารถทำให้เป็นตลาดทุเรียนพรีเมียมได้เช่นกัน 

เพื่อน ๆ คงเคยได้ยิน Specialty coffee แล้วทำไมทุเรียนจะมี Specialty durian ไม่ได้ และทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนี่แหละคือพระเอกของเรื่องนี้

Specialty durian เปรียบเสมือนการทำตลาดพรีเมียม (Niche market) ให้กับทุเรียนต่างจากการทำตลาดทั่วไป (Mass market) ไม่ต้องทำเยอะผลิตแยะจนล้นตลาด แต่ผลิตมีคุณภาพ มีเรื่องเล่า (Story telling) ก็สามารถสร้างความโดนเด่นจากความขาดแคลน (Scarcity bias) เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้โดยไม่ต้องผลิตมากจนล้นตลาด ดังเช่น ทุเรียนนนท์ ที่มีการซื้อขายกันเป็นลูก มีการจองตั้งแต่ติดผล 

ทุเรียนพื้นเมืองสายพันธุ์อื่นก็สามารถทำได้ คัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเหมาะสมกับพื้นที่ ผลิตให้มีคุณภาพ แม้ราคาอาจจะไม่ได้เท่าทุเรียนก้านยาวนนท์ แต่ก็สามารถขายได้ราคาดีกว่าทุเรียนตลาดทั่วไปได้ไม่ยาก แต่ต้องทำกันอย่างจริงจัง

เราสามารถพัฒนาตลาดทุเรียนพื้นเมืองให้เป็น Specialty durian ไม่ใช่แค่กินทุเรียนอร่อย แต่เป็นสร้างความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้กินทุเรียน เพราะทุเรียนแต่ละสายพันธุ์มีเรื่องราว มีรสชาติที่โดดเด่น มีความเฉพาะของพื้นปลูก อย่างเช่นทุเรียนหมอนทองที่นำไปปลูกยังที่ต่าง ๆ ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์จนมีลักษณะโดดเด่น เช่น ทุเรียนภูเขาไฟศรีษะเกษ ทุเรียนป่าละอู ปัจจุบันมีทุเรียนหมอนทองทองผาภูมิ รสชาติอร่อยจนติดใจ ซึ่งสามารถขายได้ราคาดีกว่าทุเรียนหมอนทองทั่วไป และที่สำคัญ ทุเรียนแต่ละสายพันธุ์มีระยะเวลาการสุกแก่ไม่เท่ากัน ประกอบกับมีการทำทุเรียนนอกฤดู เราจึงสามารถหาทุเรียนทานได้ตลอดทั้งปี

ศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี (duriannon.com) นำโดยหัวเรือใหญ่ คุณอดิสรณ์ ฉิมน้อย และครอบครัว เปิดสวนตาก้านให้ความรู้ในการผลิตทุเรียนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังได้รวบรวมพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านของนนทบุรีไว้ไม่ได้กว่า 70 สายพันธุ์ เช่น พันธุ์ก้านยาว หมอนทอง กบแม่เฒ่า กบชายน้ำ กบพิกุล ย่ำมะหวาด  ลวง ทับทิม บาตรทองคำ อีหนัก นกหยิบ กบเล็บเหยี่ยว ฉัตรสีนาค และอื่นๆ อีกมากมาย และได้มีการจำหน่ายกิ่งพันธุ์ให้กับผู้สนใจด้วยเช่นเดียวกันพร้อม ๆ กับการเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลทุเรียน มีการผลิต content ผ่านเว็บไซต์ YouTube สวนตาก้าน ให้ความรู้การผลิตทุเรียนและแนะนำสายพันธุ์ต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จัก 

ตัวอย่างทุเรียนพันธุ์เม็ดในยายปราง จากสวนตาก้าน www.duriannon.com ลักษณะเด่น เนื้อละเอียด ผลดก ลูกเล็ก

คุณอดิสรณ์ ฉิมน้อย และครอบครัวทุ่มเท เป็นตัวอย่างหนึ่งของรากฐานการทำ Specialty durian ต้นน้ำในการส่งต่อพันธุ์ทุเรียนพื้นเมือง ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะสร้างตลาด Specialty durian เนื่องจากตลาดนี้ต้องเน้นกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพประณีต ซึ่งต้องอาศัยผู้ปลูกทุเรียนที่ตั้งใจจริง มีการถ่ายทอดข้อมูลเรื่องราวที่ถูกต้องและการสื่อสารที่จริงใจ จึงจะทำให้ Speciality durian ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ปล.บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจากคนที่ชอบทานทุเรียนพื้นเมืองและอยากให้เกิดตลาด Specialty durianประมาณว่าฝันลมๆแล้งๆ ก็ยังดีกว่าไม่มีหวัง ^ ^

#EatEcon

ที่มา :

  1. FB: Thai Durian Association – TDA สมาคมทุเรียนไทย, 16 กันยายน 2564
  2. Duriannon.com
  3. Photo by Gliezl Bancal on Unsplash