อ้างทำเพื่อประชาชน เหตุซ้ำทำของแพง

เรื่องโดย ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขอปรับขึ้นราคาจนกลายเป็นข่าวร้อนในหน้าสื่อ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคานั้น กระทรวงยังไม่มีการอนุมัติให้ปรับราคาขึ้นและตามที่เป็นข่าว

ตัวผู้เขียนเชื่อว่าผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพยายามขอปรับขึ้นราคามาหลายรอบแต่ไม่สำเร็จ ดังเช่นเรื่องอาหารสัตว์ กระทรวงพาณิชย์กำลังซื้อเวลาโดยการประกาศตรึงราคาสินค้า 18 หมวด (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสด อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยา-เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง) ด้วยข้ออ้างปัญหาค่าครองชีพสูงประชาชนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทั้งราคาอาหารและราคาพลังงาน แต่สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นคือ ราคาสินค้าได้ปรับตัวขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นตัวแทนชี้วัดความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐ ซึ่งท่านควบคุมปลายทางแต่ไม่ควบคุมราคาวัตถุดิบต้นทาง ผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปล่อยให้ราคาวัตถุดิบสำคัญทั้งข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

จะว่าไปบะหมี่กึงสำเร็จรูปก็น่าเห็นใจไม่น้อย แม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคา 2 บาท/ซอง ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สต. ปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคา 6 บาท/ซอง ก๋วยเตี๋ยวชามละ 30 บาทเริ่มหาทานได้ยากยิ่ง หากเทียบกันแล้ว ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับขึ้นมา 3 เท่า ขณะที่ก๋วยเตี๋ยวปรับขึ้นมาเกิน 5 เท่า เนื่องจากรัฐควบคุมราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปง่ายกว่าควบคุมราคาก๋วยเตี๋ยว หลายคนจึงมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นที่พึ่งในช่วงกระเป๋าแฟบ

สาเหตุสำคัญของของแพงรอบนี้เกิดจากต้นทุนการผลิต ตอกย้ำด้วยดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index : PPI) เดือนมีนาคม 2565 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปีโดยดัชนีตัวนี้วัดราคาสินค้าที่ผลิตและขายออกจากโรงงานจำนวน 501 รายการ ซึ่งไม่รวมค่าขนส่งและภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อโรงงานหนึ่งซื้อปัจจัยการผลิตมาจากอีกโรงงานจะมีต้นทุนค่าขนส่งและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ในราคาปัจจัยการผลิตนั้นด้วย (1)

ราคาน้ำมันปาล์ม ใกล้จะถึงจุดที่เกินกว่าการบริหารจัดการของผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเช่นกัน เนื่องจากสต๊อกก่อนหน้ายังคงประคองราคาน้ำมันปาล์มขวดได้อีกระยะหนึ่ง

การขึ้นของราคาน้ำมันปาล์มแน่นอนผลดีส่งย้อนกลับไปที่เกษตรกร ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ราคารับซื้อทะลายปาล์ม 18% ของโรงงานเฉลี่ย 10.16 บาท/กก. บางแห่งราคารับซื้อทะลุ 11 บาท/กก. ไปแล้ว (2) แม้ว่าราคาปุ๋ยจะแพงแต่ราคารับซื้อทะลายปาล์มระดับนี้รับรองว่าต้องถูกใจเจ้าของสวนปาล์มแน่นอน แต่ช่วงนี้ชาวสวนปาล์มต้องเฝ้าสวนกันชนิดที่อาจต้องนอนเฝ้าสวน เพราะวันดีคืนดีอาจมีแขกไม่ได้รับเชิญมาช่วยตัดปาล์มในยามค่ำคืน

ภาพที่  1 ราคารับซื้อทะลายปาล์มและราคาปาล์มน้ำมันบริสุทธิ์เฉลี่ยรายเดือน (มกราคม 2564 – เมษายน 2565)

ที่มา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (2)

สำหรับผู้ที่ตกที่นั่งลำบากคือ ผู้ผลิตอาหารที่ต้องใช้น้ำมันปาล์ม และแน่นอนไม่พ้นผู้บริโภค

เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2564 จากราคา 50-52 บาท/ขวด ปัจจุบันราคาจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านโชห่วยขยับขึ้นเป็น55-60 บาท/ขวด

ร้านขายอาหารตามตลาดที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มในการทอด ปรับตัวโดยการใช้น้ำมันในการทอดซ้ำหลายรอบขึ้น บางร้านเปลี่ยนเมนูที่ต้องใช้น้ำมัน เป็นเมนูต้ม บางร้านตัดสินใจหยุดขายก็มีเนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว จะขึ้นราคาก็เห็นใจลูกค้า เรียกว่า เหนื่อยกันหมด ได้แต่ถอนหายใจยาวๆ แล้วนั่งทำใจ

สิ่งที่เรามักเห็นรัฐทำคือ การควบคุม แต่เมื่อไรรัฐจะยอมรับความจริงว่า รัฐไม่สามารถมีอำนาจเหนือกลไกตลาดได้

ยิ่งควบคุม ยิ่งแพง เพราะตลาดมืดจะทำงานทันที ใครมีสินค้าจะกักตุน ใครอยากได้ของต้องจ่ายเพิ่ม ผู้ผลิตรับต้นทุนไม่ไหว ตัดสินใจลดกำลังการผลิต สินค้าหลายอย่างขาดตลาด ราคายิ่งวิ่ง สุดท้ายผู้บริโภคปลายทางรับเต็มๆ

การที่รัฐพยายามบอกว่ามาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อช่วยลดภาระแก่ประชาชน จะตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ มันช่วยลดภาระให้แก่ประชานได้จริงหรือ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ราคาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องกินต้องใช้ดาหน้าปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง    

ข่าวที่เกี่ยวเนื่องกันคือ อินโดนีเซียผู้ผลิตและผู้ส่งออกปาล์มน้ำมันอันดับหนึ่ง ซึ่งส่งออก 1 ใน 3 ของผลผลิตทั้งประเทศ ได้ประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มโอเลอิน (น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผ่านกระบวนการฟอกสี ขจัดกลิ่น และลดกรดไขมันอิสระ (RBD Olein)) เพื่อแก้สถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารให้บรรเทาลง แต่ยังคงอนุญาตให้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้ (3)

ขณะที่ประเทศเรากลับตรงกันข้าม ปัจจุบันยังมีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญในปี 2564 คือ อินเดีย คิดเป็น 93.29% ของมูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมดของไทย (4) ควรต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ เพราะตอนนี้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศได้ปรับตัวสูงกว่าราคาต่างประเทศแล้วด้วยเหตุของการตื่นตะหนกของมาตรการของอินโดนีเซีย

ด้วยสถานการณ์ที่รุมเร้า ทั้งสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน กำลังการผลิตน้ำมันทานตะวันของยูเครนคงยังไม่กลับมาง่าย ๆ อินโดนีเซียยังคงมาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์ม ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย แม้ว่าจะส่งออกไม่มากประมาณ 3 ล้านตัน แต่ด้วยความต้องการของตลาดต่างประเทศ ปาล์มน้ำมันไทยจะเนื้อหอมอย่างมาก หากพาณิชยังคงแก้ปัญหาช้า ใช้การตรึงราคาแบบอ้างว่าช่วยประชาชน แล้วไม่ควบคุมปริมาณการส่งออกให้ทันท่วงที แนวโน้มของราคาน้ำมันปาล์มที่เราต้องซื้อมาใช้คงได้เห็นทะลุ 70 บาท และน่าจะมีราคาแถมจากตลาดมืดอีกส่วนหนึ่งแน่นอน

อ้างอิง

  1. https://www.bangkokbiznews.com/columnist/1001602?fbclid=IwAR3Gwag98pkTffPSNL2llNi0ZOz0Gwy3AVDF7D4cyzK59KC_hTIjdI_F7J8
  2. https://agri.dit.go.th/index.php/department_doc/3/ปาล์มน้ำมัน/28
  3. https://www.prachachat.net/breaking-news/news-919139
  4. https://xn--42ca1c5gh2k.com/wp-content/uploads/2022/02/Product-Profile-%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1-16-%E0%B8%81.%E0%B8%9E.-65.pdf