อากาศแปรปรวนเด้ง 4 เหตุต้นทุนหมูแพง ขอผู้บริโภคโปรดเห็นใจ

เรื่องโดย ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 คณะอนุกรรมการต้นทุน Pig Board รายงานต้นทุนการผลิตสุกรขุน 98.81 บาท/กก. นับว่าเป็นต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่สูงเป็นประวัติการณ์เรียกได้ว่าฟาร์มต้องคุมขมับ เพราะราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มมีชีวิตตามประกาศของสมาคมฯ คือ 96-98 บาท/กก. ซื้อขายจริงในบางพื้นที่ทะลุ 100 บาท/กก. เป็นที่เรียบร้อย นั่นหมายถึง วันนี้ราคาขายปลีกเนื้อหมูทะลุ 200 บาท/กก. อีกครั้ง

ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ นับว่าราคาสุกรขุนของไทยแพงติดอันดับ 3 รองจากฟิลิปปินส์ (140-144 บาท/กก.) และกัมพูชา (98-106 บาท/กก.) (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 ราคาประกาศสุกรขายจริงในต่างประเทศ (บาท/กก.) ประจำวันที่ 23 เมษายน 2565

ที่มา www.verproductgroup.com (1)

คำถามคือ ที่มาของตัวเลขต้นทุนการผลิตสุกรขุนปรับตัวเพิ่มสูงขณะนี้มาจากอะไรบ้าง

ตอบ: ตัวเลขต้นทุนการผลิตสุกรสูงในขณะนี้เกิดจากสถานการณ์ 4 เด้ง

เด้งที่ 1 ผลของการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ปริมาณแม่พันธุ์ยังไม่เพียงพอ และยังไม่สามารถผลิตลูกสุกรเข้าระบบได้เพียงพอกับความต้องการ ฟาร์มจำนวนมากเลิกกิจการ และมีจำนวนไม่น้อยที่ยังคงตัดสินใจรอที่จะกลับมาเลี้ยงอีกครั้ง ทำให้อัตรากำลังการผลิตสุกรขุนปีนี้น้อยกว่าปีก่อน  เมื่อผลผลิตสุกรเข้าสู่ตลาดยังน้อยกว่าปริมาณความต้องการ ราคาย่อมต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่มากกว่าอัตราการผลิตได้

เด้งที่ 2 ผลต่อเนื่องจากเด้งแรก คือ ต้นทุนลูกสุกร เนื้อหมูที่วางขายอยู่ในตลาดช่วงนี้ต้องย้อนไปเดือนมกราคม 2565 หากเราจำกันได้ เป็นช่วงที่ราคาเนื้อสุกรแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ราคาลูกสุกรก็แพงที่สุดเช่นกัน โดยราคาเฉลี่ยลูกสุกรเดือนมกราคม 3,650 บาท/ตัว ทำให้สัดส่วนต้นทุนลูกสุกรสูงถึง 40.65% ของต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่แปรสภาพมาเป็นเนื้อสุกรในตลาดตอนนี้

เด้งที่ 3 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสภานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสองประเทศนี้เป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญของโลก ผลพวงจากสถานการณ์นี้ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อนเกิดสงครามวัตถุดิบก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว (อันที่จริงปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยซ้ำ) โดยตั้งแต่ต้นปี ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 17.1% กากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 13.6% ข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 8.3% ปลาป่นเพิ่มขึ้น 19.3% (ภาพที่ 2) ถึงกับมีการแซวกันว่า “ราคาวัตถุดิบขึ้นโหดเหมือนโกรธคนเลี้ยง” ปัจจัยต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์นี้ส่งผลให้ราคาสุกรขุนมีชีวิตในหลายประเทศปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเมียนมาร์ และเวียดนาม ทั้งสองประเทศเผชิญปัญหาเดียวกับไทย คือ ต้องนำเข้าวัตถุดิบพืชอาหารสัตว์จากต่างประเทศ

ในการขุนสุกรให้ได้น้ำหนักประมาณ 100 กก. ต้องใช้อาหารสุกรประมาณ 250 กก. คิดเป็นต้นทุนค่าอาหารไม่น้อยกว่า 4,000 บาท หรือประมาณ 45.09% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันผู้เลี้ยงจำนวนไม่น้อยตัดสินใจขยายเวลาเลี้ยงนานขึ้นจาก 100 กก. เป็น 110 – 120 กก. เพื่อขายให้ได้น้ำหนัก แน่นนอน…ต้นทุนอาหารก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ภาพที่ 2 ราคาวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ช่วงเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม 2565

เด้งที่ 4 สภาพอากาศที่ร้อน สุกรจะกินอาหารน้อยกว่าปกติ ทำให้โตช้า อัตราแลกเนื้อช่วงหน้าร้อนจะต่ำเป็นปกติ ทำให้ฟาร์มต้องเลี้ยงนานขึ้น ทำให้ต้นทุนอาหารในช่วงหน้าร้อนสูงกว่าปกติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากถามว่าเด้งไหนที่รัฐพอจะบรรเทาปัญหาได้คือ เด้งที่ 2 การแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบ โดยทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้เสนอแนวทางแก้ไข 3 ข้อไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ได้แก่

  1. ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2%
  2. ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1
  3. เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควตา ภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณขาดแคลนชั่วคราว ในปี 2565

ข้อเสนอทั้ง 3 เอาเข้าจริงก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ดูเหมือนว่า จะได้รับการตอบสนองบ้างในเรื่องการผ่อนปรนให้นำเข้าวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตามกรอบ WTO  ได้แก่ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ ไม่เกิน 0.38 ล้านตันในช่วง เมษายน – กรกฎาคม 2565 ภายใต้เงื่อนไขว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ต้องไม่ขยับขึ้น ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากเนื่องจากวัตถุดิบทดแทนไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี หรือข้าวบาร์เลย์ ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยสงคราม ค่าขนส่ง และค่าเงินบาทที่อ่อนทะลุ 34 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ราคาสินค้านำเข้าทุกชนิดปรับเพิ่มสูงขึ้น

ตลอดต้นปีที่ผ่านมามีการประชุมหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางการแก้ปัญหา เนื่องจากมีข้อกังวลในการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากเกินไปจนกระทบต่อราคารับซื้อข้าวโพดที่จะออกมาตามฤดูกาลผลิตของไทย แต่หากพิจารณาราคานำเข้าข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์แล้ว การผ่อนคลายเงื่อนไขข้อนนี้ออกไปน่าจะอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ เนื่องจากราคาข้าวโพดในประเทศถูกกว่าราคานำเข้า ซึ่งยังคงจูงใจให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้ข้าวโพดได้อยู่ แต่หากแก้ปัญหาไม่ได้ ราคาข้าวโพดในประเทศจะกลับมาเป็นหอกอีกด้ามของปัญหานี้ อีกประโยชน์สำคัญของการขยายเวลานำเข้าทดแทนจะทำให้ผู้กักตุนข้าวโพดขณะนี้ยอมคายผลผลิตที่กักตุนไว้เกร็งกำไรในอนาคต เนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวโพดรอบการผลิตในปัจจุบันปรับเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาปุ๋ยแพง

มาตรการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเหลือง 2% จัดการได้ง่ายที่สุด ซึ่งสามารถยกเลิกเป็นการชั่วคราวได้ หรือจะลดภาษี ก็ย่อมทำได้ แต่มาตรการนี้ก็ถูกยื้อไว้นานที่สุดโดยที่ยังไม่มีการตอบสนองใดๆ  

สำหรับมาตรการควบคุมนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ควรต้องผ่อนปรนมากขึ้น หากรัฐไม่ต้องการซ้ำเติมปัญหาให้แก้ยากไปกว่านี้ เนื่องจากรัฐสามารถตกลงกับโรงงานให้ประกันราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ท้องถิ่นในประเทศทั้งหมดที่ความชื้นไม่เกิน 30% ได้ ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 8.5 บาท/กก. และราคารับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศ 19.75 บาท/กก. ราคารับซื้อนี้นับว่าเป็นราคาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือพึงพอใจ และรัฐยังมีเครื่องมือสำคัญคือโครงการประกันรายได้ที่นำมาเป็นอีกช่องทางที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร

เนื่องจากสถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนยังคงยืดเยื้อ และกำลังการผลิตของผู้ผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล น่าจะมีปัญหาในปีการผลิตปัจจุบันเนื่องจากต้นทุนน้ำมันและปุ๋ยแพง เหล่านี้จะทำให้ราคาต้นทุนการผลิตสุกรไม่น่าจะลดลงได้

นั่นหมายถึงราคาเนื้อสุกรคงต้องแพงขึ้นอีก !!!

นอกจากนี้ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า “มีขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนผิดกฎหมาย อาทิ เยอรมัน บราซิล แคนาดา อิตาลี เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา โดยสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าอื่น อาทิ เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเล นำมากระจายขายปะปนกับหมูไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะตลาดแถวนครปฐมและราชบุรี” (2) นี่คือสิ่งสำคัญที่รัฐต้องเข้มงวดกวดขันการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยอย่างเลือดเย็น ซึ่งจะกระทบไปยังเกษตรกรพืชไร่อีกเป็นหลายล้านครัวเรือนด้วยอย่างแน่นอน

ภาพที่ 3 ราคาสุกรขุนในต่างประเทศในสกุลเงินบาท (บาท/กก.)

ที่มา : pig333.com (3)

เมื่อรัฐไม่มีความสามารถแก้ปัญหาต้นทางจัดการต้นทุนวัตถุดิบได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ มิเช่นนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เหลืออยู่ไม่ถึงแสนราย คงต้องเซย์กู้ดบายถาวรเพราะต้นทุนที่แบกรับกันอยู่ตอนนี้ แบกกันแอ่นจนหลังจะหักแล้ว

สำหรับผู้บริโภคคงได้เพียงบริหารจัดการเงินในกระเป๋า ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เพราะการตรึงราคาสุกรหน้าฟาร์มคงไม่สามารถสั่งได้เหมือนในอดีต และในอีกไม่กี่วันนี้ก็จะต้องเผชิญกับการปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด

#EatEcon

ที่มา

  1. Vetproductgroup.com
  2. https://pasusart.com/%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b9-%e0%b8%88%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%90%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%87/?fbclid=IwAR34TetL3Yd8T9ZEO3ILQJgpQY2KMC7svQEuEyHj2PWkvGhavJIal612fMM

3. https://www.pig333.com/markets_and_prices/

4. Photo by Kenneth Schipper Vera on Unsplash