ปุ๋ยแพง เรื่องร้อนแรงที่ไม่มีใครสนใจ

เมื่อสองเดือนก่อนได้เขียนเตือนสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากต้นทุนการผลิตเพิ่ม หรือ Cost push จากปัญหาพลังงานการผลิตในอุตสาหกรรมถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ จนส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาหารที่ต้นทุนการผลิตที่สำคัญคือ ปุ๋ย (เคมี) ซึ่งประเทศผู้ส่งออกปุ๋ย DAP เช่น จีน รัสเซีย ก็จำกัดปริมาณการส่งออกเพื่อปกป้องภาคเกษตรของประเทศ จนส่งผลให้ราคาปุ๋ยโลกพุ่งขึ้นประมาณ 200% ในปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ปุ๋ยแพงไม่จบง่าย ๆ

ล่าสุดอินเดียวางแผนจะเพิ่มเงินอุดหนุนปุ๋ยเคมีในปี 2021/22 เป็นประวัติการณ์มากกว่า $20.64 พันล้าน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนท่ามกลางสถานการณ์ราคาสารเคมีตั้งต้นในการผลิตปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอินเดียเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยยูเรีย (ประมาณ 30% ของประมาณ 35 ล้านตันของการบริโภคยูเรียเฉลี่ยต่อปี) รวมถึงไดแอมโมเนียมฟอสเฟตด้วยเพื่อใช้ในภาคเกษตรกรรมที่มีประชากรอยู่มากถึง 60% ของจำนวนประชากรทั้งหมด (1.38 พันล้านคน) ขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 15% ของประเทศ มูลค่าประมาณ $2.7 ล้านล้าน

การที่ภาคเกษตรของอินเดียมีขนาดใหญ่มากจนต้องพึ่งพิงการนำเข้าปุ๋ยเคมีตั้งต้น รัฐบาลตัดสินใจให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทต่างๆ เช่น National Fertilizer Ltd (NAFT.NS), Madras Fertilizer Ltd (MDFT.NS), Rashtriya Chemical & Fertilizers Ltd (RSTC.NS), Chamabal Fertilsers & Chemicals Ltd (CHMB.NS) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีในประเทศเพื่อให้ขายในราคาอัตราที่ต่ำกว่าตลาด

นอกจากนี้อินเดียยังได้ขอให้ผู้ผลิตปุ๋ย NPK (ไนโตรเจน ฟอสเฟต และโพแทสเซียม) ผลิต DAP เพื่อเพิ่มปริมาณปุ๋ยไปยังเขตที่มีสต็อกต่ำ รวมถึงเพิ่มจำนวนรถไฟสำหรับการขนส่งปุ๋ยนำเข้า เพื่อรักษาสต๊อกลดความเสี่ยงเรื่องปุ๋ยขาดแคลน และดูแลราคาปุ๋ยเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกร

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งเราก็ไม่น้อยหน้าในการเป็นประเทศผู้นำเข้าปุ๋ย เราพึ่งพิงปัจจัยภายนอกนานจนละเลยการเตรียมรับมือกับปัญหานี้ ผู้เขียนเห็นแต่ข่าวการการประกันรายได้ในสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือพืชการเมืองทั้งหลาย ซึ่งเป็นนโยบายยาพิษที่คอยกัดกินภาคเกษตรของไทยให้อ่อนแอ เพราะนโยบายนี้เมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ผลผลิตต่อไร่ไม่ก้าวหน้า มีแต่ปริมาณ คุณภาพไม่ตามมา

ขณะที่ปัญหาปุ๋ยตอนนี้ยังไม่เห็นมาตรการใดที่จะมาบรรเทาสถานการณ์ปุ๋ยแพงของเกษตรกรไทย

หากจะแก้ปัญหาแบบควบคุมราคาแบบขอไปที คงมีแค่ราคาปุ๋ยทิพย์ไม่ต่างจากหวย 80 บาทที่รัฐไม่เคยพบว่ามีการขายเกินราคา แต่คนซื้อหวยไม่เคยได้จ่ายในราคา 80 บาทเช่นกัน

คงได้แต่รอดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/commodities/exclusive-india-faces-record-fertiliser-subsidy-202122-2021-11-30/?fbclid=IwAR3gAlUIMeIjNTZtz_T89vCFBrcQSXxyCEiCdXZoV2NAu6Jfv0b0v29aiyk

Photo by Markus Winkler on Unsplash

Leave a Reply