ทางแยกของการตัดสินใจ

โดย สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ข่าวฟาร์มหมูรายกลางและรายย่อยโซนภาคกลางแถว ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี นครนายก หรือสุโขทัย แทขายหมูยกฟาร์มหลักจากเกิดการระบาดของโรคโดยไม่มีการรายงานว่าเป็นเชื้อชนิดใด ซึ่งผู้เขียนคาดว่าจะเป็นกลุ่มเชื้อไวรัสเนื่องจากระบาดเร็วและรุนแรง ดังเช่นการระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์แฟริกาที่ทำลายจำนวนสุกรไปหลายล้านตัวในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม หรือกัมพูชา อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้จากกรมปศุสัตว์ไทย

ผลของการเทขายหมูจนเรียกได้ว่าปิดฟาร์มทำให้ราคาหมูขุนที่ขายได้ต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยง โดยแม่พันธุ์ซื้อขายกันที่ 10-15 บาท/กิโลกรัม หมูขุน 25-40 บาท/กิโลกรัม ลูกหมูเหลือ 4-5 บาท/กิโลกรัม เรียกได้ว่า ล้มทั้งยืน มาแบบไม่ทันตั้งตัว หลายฟาร์มเปิดมากว่า 30 ปี แต่ต้องปิดฟาร์มภายในเวลาไม่ถึงสองเดือน สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับฟาร์มหมูโซนนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรีเมื่อสามเดือนก่อน

ด้วยฟาร์มหมูรู้ถึงภัยไวรัสอย่างดี พยายามทำทุกทางเพื่อป้องกันฟาร์มแบบตั้งการ์ดสูง ใช้เงินทุนไม่น้อยไปกับการฆ่าเชื้อ เข้มงวดการเข้าออกฟาร์ม แม้ว่าจะพยายามปฏิบัติตามระบบ Bio-security อย่างเข้มข้น แต่ด้วยความชื้นจากสภาพฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อสำคัญต่อการระบาดของเชื้อไวรัส หลายฟาร์มก็ต้องพ่ายศึกนี้ในที่สุด

วิกฤตินี้คาดว่าจะกระทบต่อซัพพลายเชนอาหารทั้งระบบในไม่ช้า หากหน่วยงานรัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ ต้องรีบการจัดการกับการระบาดครั้งนี้อย่างเร่งด่วนและเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน ทั้งข้อมูลการตรวจพบโรค การแจ้งตรวจ ทำลายซากทิ้งเมื่อพบการระบาด และเงินช่วยเหลือชดเชย ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างแรงจูงใจเปิดเผยข้อมูลจากฟาร์ม

เนื่องการระบาดทุกครั้งที่ผ่านมาฟาร์มหมูจะเลือกวิธีรีบเทขายให้เร็วที่สุดโดยไม่มีการส่งตรวจหรือแจ้งเหตุการตายผิดปกติ เนื่องจากการแจ้งต้องใช้เวลา หากพบเชื้อโรคระบาดร้ายแรงจะต้องทำลายซากทิ้งและรอคอยเศษเงินช่วยเหลือที่มาช้าแบบเก็บเข้าลิ้นชักลืมสนิท สู้เทขายกำเงินไว้ต่อทุนจะดีกว่ารอคอยเงินช่วยเหลืออย่างไม่มีกำหนด หากกรมปศุสัตว์ยังคงใช้วิธีแบบเดิมเช่นนี้ต่อไปนอกจากจะไม่สามารถควบคุมการระบาดครั้งนี้ได้ ยังจะเป็นการจุดฉนวนปัญหาวิกฤตภาวะอาหารราคาแพงในอนาคตอันใกล้ดังเช่นหลายประเทศที่กำลังเผชิญอยู่

อย่างไรก็ดี เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การทำมาตรฐานฟาร์มเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยทั้งของฟาร์มและผู้บริโภคที่ต้องการหมูที่มีคุณภาพ ฟาร์มมาตรฐาน จึงเป็นหนึ่งในทางออก เราจะทำฟาร์มหมูแบบเดิมๆ เหมือนที่เคยทำมาไม่ได้อีกแล้ว

เป้าหมายของกรมปศุสัตว์ที่พยายามการยกระดับฟาร์มสุกรเข้าสู่การเป็น “ฟาร์มมาตรฐาน” สำหรับฟาร์มสุกรขนาด 500 ตัวขึ้นไปทุกฟาร์มต้องเข้าสู่ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มสุกร (มกษ. 6403)  ถึงตอนนี้น่าจะครบ 3 เดือนเป้าหมายที่กรมฯ ได้ประกาศไว้ จากข้อมูลในงานเสวนาเชิงกลยุทธ์ เปิดมุมมองอนาคตธุรกิจหมู 2021-2025 “หมูไทย (ชนะ) กูรูพยากรณ์อนาคตหมูไทย” พบว่า ปัจจุบันฟาร์ม 70% เข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม

แต่สำหรับฟาร์มหมูรายย่อยไม่สามารถปรับตัวสู่การทำมาตรฐานฟาร์มได้ แม้ว่ากรมปศุสัตว์จะพยายามพัฒนามาตรฐานฟาร์ม GFM (Good Farm Management)

แต่เชื่อเถิดว่าหลายฟาร์มไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการจัดทำมาตรฐานฟาร์มต้องใช้เงินทุนในการปรับเปลี่ยนฟาร์มเก่า ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างโรงเรือนและใช้เงินทุนไม่น้อย ไหนจะเรื่องความวุ่นวายในเรื่องเอกสารที่ฟาร์มไม่ชำนาญ ประกอบกับสถานการณ์ที่รุมเร้ารอบด้าน หลายฟาร์มจึงมาถึงทางแยกที่คิดไม่ตกว่าจะสู้ต่อ หรือจะยอมแพ้ แล้วบอกลาอาชีพ หันไปหาอาชีพใหม่ซึ่งไม่ง่ายนักกับสถานการณ์เศรษฐกิจในยุคโควิดเช่นนี้

นโยบายวิธีขีดเส้นตายในระยะเวลาอันสั้น มีโทษปรับรุนแรง แต่ขาดการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยน นโยบายเช่นนี้น้อยนักที่จะได้รับความร่วมมือ และมักทำแบบขอผ่านไปที ไม่มีความยั่งยืนเพราะผู้ปฏิบัติตาม ไม่ได้เข้าร่วมด้วยความเต็มใจและเข้าใจ หากแต่ปฏิบัติตามเพราะเลี่ยงไม่ได้

ด้วยข้อจำกัดของเงินทุน ฟาร์มบางแห่งปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) ด้วยเหตุที่ขอสินเชื่อง่ายกว่าการเป็นฟาร์มอิสระ และมีระบบสนับสนุนการทำมาตรฐานฟาร์ม แม้จะต้องเปลี่ยนบทบาทจากเจ้าของฟาร์มกลายเป็นการรับจ้างผลิต มีต้นทุนแพงกว่าทำฟาร์มแบบเดิม แต่ก็เป็นทางเลือกที่ไม่แย่นัก เพราะเกษตรพันธสัญญาสามารถมักจะมีการระบุราคารับซื้อหรือราคาประกันตามคุณภาพที่ตกลงกันไว้ พร้อมกับมีสัตว์แพทย์เป็นที่ปรึกษาประจำฟาร์ม ทำให้สามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดี บางบริษัทมีการทำประกันภัยพิบัติเพิ่มเติม ซึ่งในอนาคตน่าจะมีการทำประกันภัยโรคระบาดเพิ่มเติมในสัญญาด้วย

ไม่ว่าจะฟาร์มหมูเลือกทางเลือกใด ผู้เขียนคาดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตคือ ราคาหมูหน้าฟาร์มปีหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนเนื่องจากจำนวนแม่พันธุ์ที่หายไปจากการเทขายปิดฟาร์ม ซึ่งตอนนี้ก็ปรับขึ้นมาแล้วประมาณหนึ่ง นี่ยังไม่รวมการส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และปริมาณความต้องของผู้บริโภคกลับมาหลังจากปิดเมือง ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยการผลิตสำคัญเช่น ต้นทุนปุ๋ยเคมี

ผู้เขียนหวังว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ต้องเตรียมมาตรการรับมือ ติดตามปริมาณหมูอย่างใกล้ชิด และดูแลราคาให้เหมาะสม หาใช่แค่การกำหนดราคาเพดานดังเช่นอดีตที่ผ่านมาจนกลายเป็นการซ้ำเติมฟาร์มหมูผู้รอดชีวิตให้ล้มหายตายจากไปเพราะมาตรการตรึงราคาที่ไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง

ขอบคุณภาพจาก Photo by Barbara Barbosa from Pexels

Leave a Reply