แรงจูงใจคนเลี้ยงหมูให้หวนคืนอาชีพ

เรื่องโดย สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

2-3 ปีนี้นับว่าเป็นช่วงปีย่ำแย่ที่สุดของคนเลี้ยงหมู เพราะต้องเผชิญกับโรคระบาดในหมูและตามด้วยโรคระบาดโควิด-19 ในคน ตามด้วยราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงลิ่ว แถมเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากอุทกภัยทำน้ำท่วมไปหลายพื้นที่ แต่เมื่อถึงเวลาขาย กลับขายไม่ได้ราคาตามที่ประกาศ จนเกิดวลี “ราคาทิพย์” ให้ช้ำใจ

คนเลี้ยงหมูบอบช้ำกันขนาดอย่างหนัก น้อยรายนักที่ยืนหยัดฝ่าคลื่นลมมาได้ เราจึงได้เห็นฟาร์มรายย่อยหลายแห่งตัดสินใจลดความเสี่ยงด้วยการหยุดเลี้ยงหมูเพื่อรอดูสถานการณ์ ขณะที่รายกลางและรายใหญ่ตัดสินใจพักโรงเรือน ชะลอการเลี้ยงหมู หรือสั่งซื้อลูกหมูน้อยลงเช่นกัน ซึ่งมีหลายรายก็ตัดสินใจยุติอาชีพและหันไปประกอบธุรกิจอื่นทดแทน คาดว่าฟาร์มหมูหายไปจากระบบแล้วไม่น้อยกว่า 30%

ความเสียหายของหมูจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อผนวกการนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่น้อยลง ทำให้ปัจจุบันเหลือปริมาณการผลิตเพียง 14.7 ล้านตัว จากปี 2563 ที่มีการผลิตหมูประมาณ 20.45 ล้านตัว จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้น และปริมาณหมูมีชีวิตยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว จนผู้ขายหมูย่างเมืองตรังถึงกับเปรยว่า น่าจะมีหมูขายถึงเพียงสิ้นปีนี้เท่านั้น

อันที่จริงหมูในบ้านเราคงไม่ถึงกับขาดแคลนจนถึงกับต้องนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ แต่ว่าปริมาณหมูมีชีวิตจะกลับเข้าสู่ระดับ 20 ล้านตัวอีกครั้งอาจต้องใช้เวลาอีกราว 2-3 ปี เพราะวงจรการเลี้ยงหมูจะอยู่ที่ประมาณ 2 ปี โดยโรคระบาดหมูสามารถควบคุมการระบาดได้ เพราะยังมีความกังวลสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เช่น เลี้ยงแล้วกลับมาเป็นโรคหรือไม่ ภาวะโควิด-19 คลี่คลายจนกำลังซื้อกลับมาเต็มที่หรือไม่ เหนืออื่นใด คือ ความมั่นใจของคนเลี้ยงในการตัดสินใจว่าจะกลับมาเลี้ยงหมูหรือไม่

เราจะสร้างความเชื่อมั่นให้คนเลี้ยงหมูได้อย่างไร ?

การกลับเข้าสู่อาชีพ และกล้าเสี่ยงที่จะนำเข้าหมูทั้งแม่พันธุ์และลูกหมูของเกษตรกรต้องอยู่บนพื้นฐานความมั่นใจว่าทำไปแล้วมีกำไรเลี้ยงตัวและครอบครัวได้ ซึ่งตัวแปรสำคัญในการสร้างความมั่นใจนั้นก็คือภาครัฐ ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาโรคระบาด รวมถึงมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวด แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ราคาขายที่ต้องสอดคล้องต้นทุนและเป็นไปตามกลไก ไม่ใช่ราคาทิพย์ จับต้องไม่ได้

การแก้ปัญหาโรคระบาดด้วยการวางมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นป็นสิ่งจำเป็น ภาครัฐและเอกชนร่วมลงทุนวิจัยวัคซีนอย่างจริงจังเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยทั้งของฟาร์มและผู้บริโภคที่ต้องการหมูที่มีคุณภาพ

ฟาร์มมาตรฐานจึงเป็นหนึ่งในทางออก หากทำฟาร์มหมูแบบเดิมเหมือนที่เคยทำมาคงบอกได้คำเดียวว่า ไม่รอด

จากเป้าหมายของกรมปศุสัตว์ที่พยายามยกระดับฟาร์มสุกรเข้าสู่การเป็น “ฟาร์มมาตรฐาน” สำหรับฟาร์มสุกรขนาด 500 ตัวขึ้นไปทุกฟาร์มต้องเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(GAP) สำหรับฟาร์มสุกร (มกษ. 6403)  โดยข้อมูลจากงานเสวนาเชิงกลยุทธ์ เปิดมุมมองอนาคตธุรกิจหมู 2021-2025 “หมูไทย (ชนะ) กูรูพยากรณ์อนาคตหมูไทย” พบว่า ปัจจุบันฟาร์ม 70% เข้าสู่มาตรฐานฟาร์มแล้ว

ทิศทางของฟาร์มหมูในอนาคตจะเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มทั้งหมดซึ่งดีกับทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แม้ปัญหาสำคัญคือ ต้นทุน ในการทำฟาร์มมาตรฐานที่สูงจนขาดแรงจูงใจจากผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง แต่ปัจจัยสำคัญคือ ราคาขายที่สะท้อนต้นทุนการผลิตหมูที่แท้จริงต่างหากที่จะช่วยให้คนเลี้ยงหมูมั่นใจและพร้อมจะกลับมาทำอาชีพนี้อีกครั้ง ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ตามนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ต้องเตรียมมาตรการทั้งการติดตามปริมาณหมูอย่างใกล้ชิดและดูแลราคาขายหมูมีชีวิตให้เป็นไปตามกลไกที่แท้จริง หาใช่แค่การกำหนดราคาเพดานดังเช่นอดีตที่ผ่านมาจนกลายเป็นการซ้ำเติมคนเลี้ยงหมูผู้รอดชีวิตจากจากวิกฤตินี้ให้ล้มหายตายจากไป โดยไม่สามารถกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง./

หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 3  ธันวาคม 2564 หน้า 5

ขอบคุณภาพจาก kenneth-schipper-vera-6y7jACxmhP8-unsplash-scaled

 

Leave a Reply