เรื่องหมูแพงกับกำแพงราคาที่ปวดใจ

เรื่องโดย

สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัญหาหมูราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจนเรียกว่าแพงเมื่อเทียบกับกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภค จนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ต้องกำหนดราคาหมูชีวิตหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท/กก. ราคาขายส่งเนื้อแดงห้างค้าปลีก 128 บาท/กก. และราคาขายปลีกเนื้อแดงไม่เกิน 160 บาท/กก. ราคานี้เท่ากับราคาเพดานช่วงเดือนสิงหาคมปี 2563 แต่ต้นทุนตอนนี้ไม่เท่าเดิม

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์คงต้องบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงใด ๆ ที่เป็นการบิดเบือนราคาตลาดเพราะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ อาจจะดูเหมือนคนเลือดเย็นที่จะบอกว่าภาครัฐควรปล่อยให้ มือที่มองไม่เห็น (Invisible hand) หรือ กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี แม้ดูเหมือนจะไม่ได้ทำอะไร แต่การไม่ทำอะไรนี่แหละดีแล้ว ปล่อยให้กลไกลตลาดของหมูปรับตัวไปตามธรรมชาติระหว่างปริมาณความต้องการ อาจต้องใช้เวลาสักนิด แต่จะไม่มีใครต้องมารับผลของการควบคุมราคาหน้าฟาร์มไว้ที่ 80 บาท

สาเหตุหลักของการกำหนดราคาเพดานคือ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในยุคโควิด กรมการค้าภายในจึงขอความร่วมมือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติควบคุมราคาไว้ไม่ให้เกินนี้ ทั้งนี้ ข้อมูลต้นทุนการผลิตจากคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดเล็กของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) พบว่า ต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาสที่ 1/2564 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 77.49 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2563 ที่ 75.16 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถ้าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากมีภาวะภัยแล้งในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน ต้นทุนการผลิตสุกรขุนอาจขยับเพิ่มเป็น 78 – 80 บาท/กก.

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนป้องกันโรค PRRS และโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 300 บาท/ตัว ทั้ง 2 โรคน่ากลัวพอกันเพราะจะทำให้หมูเสียหายหรือตายจำนวนมากหากป้องกันไม่ดี  PRRS มีอยู่เดิม และ ASF ก็จ้องจู่โจม แถมปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ แถมผลการทดลองใช้วัคซีน ASF ในประเทศจีนก็ไม่เป็นดังหวัง โรคนี้ยังคงเป็นหอกทิ่มแทงอุตสาหกรรมหมูเอเชียต่อไป

ต่างจากวัคซีนโควิดที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ว่าจะใช้ของใคร ทำไมไม่ใช่เจ้านั้นเจ้านี้ วัคซีนโควิดมีแล้ว อยู่ที่ว่าจะฉีดได้เมื่อไร จะฉีดของใคร แต่ของวัคซีน AFS หมูมันยังไม่มี !!!

เมื่อยังไม่มีก็ต้องป้องกัน และค่าป้องกันตามระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม GFM) รวมถึงการจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยออกนอกฟาร์มไม่ถูก ทุกอย่างคือต้นทุนที่ผู้ประกอบการฟาร์มหมูต้องแบกรับ ทางภาครัฐก็ตรวจและปรับอย่างเดียว ไม่มีมาตรการช่วยเหลือหรืออุดหนุนใด ๆ ดังเช่นประเทศอื่น

หากไปย้อนดูราคาขายหมูหน้าฟาร์มตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาหน้าฟาร์มอยู่ในช่วง 68-80 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ (ตารางที่ 1) จะเห็นว่า ราคาในภาคตะวันตกและภาคใต้จะถูกสุด เนื่องจากปริมาณหมูที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการในพื้นที่ ขณะที่ภาคเหนือมีราคาแพงสุด เนื่องจากปริมาณหมูที่ผลิตได้น้อยกว่าความต้องการ และราคาขายที่แนะนำจากสมาคมจะอั้นไว้ที่ 80 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ขอความร่วมมือ แต่การซื้อขายจริงในพื้นที่บางจุดโดยเฉพาะภาคเหนือทะลุเพดานไปเรียบร้อย เพราะหมูเสียหายจากโรคไปพอสมควร ยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้พอกับความต้องการได้ นี่คือตัวอย่างของการทำงานตามกลไกตลาดอย่างเสรี

 

ตารางที่ 1 ราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มช่วงเดือนธันวาคม 2563 – เดือนมกราคม 2564

เดือนธันวาคม 2563

เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564
วันพระที่ 8 วันพระที่ 14 วันพระที่ 22

วันพระที่ 29

ภาคตะวันตก

68

68 74 78

80

ภาคตะวันออก

74

74 76 78

80

ภาคอีสาน

74

74 77 80

80

ภาคเหนือ

80

80 80 80

80

ภาคใต้

68

68 72 76

80

ที่มา: สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ (2564)

 

หากใช้ราคาต้นทุนเฉลี่ยที่ 75 บาท (ต้นทุนเดือนธันวาคม) มาเปรียบเทียบกับราคาเพดาน 80 บาท จะมีส่วนต่าง 5 บาท ถ้าขายหมูขุนน้ำหนัก 100 กก. จะได้กำไร 500 บาท/ตัว ดูเหมือนเยอะ แต่ใช้เวลาขุนเฉลี่ย 4 – 5 เดือนกว่าจะขายได้ ทำให้ผลตอบแทนที่ได้เฉลี่ย 100-125 บาท/เดือน/ตัว ถ้าขุนออกได้เดือนละ 100 ตัว ๆ ละ 100 กก. ก็จะได้กำไรคร่าว ๆ 500*100 = 50,000 บาท/เดือน แต่ตอนนี้ต้นทุนประมาณ 78 บาท เท่ากับว่าส่วนต่างเท่ากับ 2 บาท ก็จะได้กำไรประมาณ 200*100 = 20,000 บาท/เดือน คำถามคือ แล้วจะมีกี่ฟาร์มที่มีกำลังขุนออกจำหน่ายได้เดือนละ 100 ตัว? เพราะกำลังการขุนขนาดนี้ต้องมีหมูขุนจำนวน 400 ตัวหมุนเวียน ไม่ใช่ฟาร์มรายเล็กแน่นอน

ถึงเวลาแล้วที่ต้องภาครัฐต้องทบทวนราคาเพดานสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ก็ควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด

ทำไมควรปล่อยให้หมูเป็นไปตามกลไก?

หากย้อนกลับไปช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ทุกครั้งที่ผู้ประกอบการหมูประสบภาวะขาดทุนสาเหตุหลักมาจากราคาขายหน้าฟาร์มต่ำกว่าต้นทุนเนื่องจากปริมาณหมูล้นตลาด เช่น ปี พ.ศ. 2543-2546  2550  2555 และ 2560-2561 (ภาพที่ 1) ใครสายป่านไม่ยาวพอ บริหารจัดการไม่ดีก็ต้องเลิกกิจการ คงเหลือแต่มืออาชีพมาจนถึงวันนี้ และเมื่อผู้อ่อนแอแพ้พ่าย ปริมาณหมูที่ล้นตลาดจะค่อยๆ ปรับตัวลดลง ราคาขายหน้าฟาร์มจะขยับปรับตัวสูงขึ้น เป็นวัฏจักรเช่นนี้เสมอมา และนี่คือตัวอย่างของการปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน โดยที่รัฐต้องไม่ใช้งบประมาณใด ๆ ในการช่วยเหลือเยียวยาอย่างจริงจังดังเช่นสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ

โดยในปี 2564 นี้ จากข้อมูลการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปริมาณหมูขุนตอนนี้น่าจะมีประมาณ 22.5 ล้านตัว ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาที่เพิ่มขึ้น ผ่านช่วงหน้าร้อนนี้ไปราคาน่าจะปรับตัวลดลง

 

ภาพที่ 1 ราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ปี 2543 – มกราคม 2564

ที่มา: สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ (2563) และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ (2564)

 

การกำหนดราคาเพดาน 80 บาท คือ น้ำใจที่ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของผู้บริโภค แต่ราคานี้คือ “กำแพง” ที่กำลังกดทับและทำลายชาวหมูรายย่อยเกือบ 2 แสนรายให้ออกจากอุตสาหกรรมนี้ในอนาคตทางอ้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรทบทวนราคาเพดานให้สอดคล้องกับต้นทุนอย่างรอบด้านตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน แม้ไม่ทันใจ แต่จะเกิดผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุดต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะงบประมาณรัฐที่ต้องใช้ในการแทรกแซง

แล้วผู้บริโภคควรทำอย่างไร?

ผู้บริโภคสามารถลดปริมาณการซื้อเนื้อหมูแล้วเปลี่ยนเป็นไก่ ปลา กุ้ง ซึ่งราคาตอนนี้ก็ลดลงกว่าแต่ก่อนมากจากผลของโควิด-19 เมื่อความต้องซื้อน้อยลง ราคาก็จะปรับตัวลงมาเองโดยธรรมชาติ

โปรดรอสักนิด ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน อาจจะดูเหมือนเลือดเย็น ไม่สนใจความเดือดร้อนของผู้บริโภค แต่ได้โปรดมองอีกด้านตามความเป็นจริงว่ามีต้นทุนต้องจ่าย

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ. 256 ข้อมูลราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม. ออนไลน์: https://www.swinethailand.com/16866405/ราคาสุกรขุน-ปี-2561-2564
  2. สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์. 2564. ประชากรสัตว์ ความต้องการใช้อาหารสัตว์ ปี 2564. ออนไลน์: http://www.thaifeedmill.com/Portals/0/2016/สรุปประมาณการประชากรสัตว์%20คาดคะเน%20ปี64%20(ไทย).pdf
  3. https://pasusart.com/ชาวหมูโอด-ราคาวัตถุดิบ/
  4. Photo by Kenneth Schipper Vera on Unsplash

Leave a Reply