กรมปศุสัตว์: ผู้ชี้ชะตาชาวหมูรายย่อยไทย

เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นับแต่วันที่มีการประกาศการระบาดของโรคแอฟริกันอหิวาต์ในสุกรเมื่อเดือนมกราคม 2565 ล่วงเลยมาจนถึงตอนนี้ก็ 11 เดือนแล้ว สถานการณ์หมูไทยเป็นอย่างไรบ้าง ราคาหมูจะลดลงหรือยัง เกษตรกรรายย่อยจะกลับมาได้หรือไม่ กลับมาได้อย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ผู้เขียนถูกถามเสมอเรื่อยมา

ในมุมมองของผู้เขียนเองคาดว่า…

สถานการณ์การผลิตหมูของไทยในปี 2566 จะดีขึ้น แต่ราคายังจะคงตัวในระดับนี้ต่อไปอีกประมาณกลางปี 2566 ด้วยเหตุผลสนับสนุน ข้อ ดังนี้

1) สถานการณ์การระบาดของ ASF อยู่ในสถานะที่เรียกว่าสงบและควบคุมได้

2) ผู้เลี้ยงมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามหลัก Biosecurity ได้ดี

3) กรมปศุสัตว์เปลี่ยนนโยบายในการควบคุมโรคจากเดิมที เมื่อตรวจพบเชื้อจะตีวงรัศมีรอบฟาร์ม แล้วทำลายหมูทั้งหมูที่อยู่ในเขตควบคุมนั้น เป็นนโยบายการถอนฟัน คือ ทำลายเฉพาะหมูที่ตรวจเจอเชื้อและเฝ้าระวังกลุ่มหมูเสี่ยงแทนการทำลายทั้งหมด

4) ผู้เลี้ยงตัดสินใจเข้าเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มทรงตัวในระดับนี้ (มากกว่า 100 บาท/กก.) พอมีกำไรและจูงใจให้กลับเข้าเลี้ยงและขยายการผลิต

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของ ASF อยู่ในสถานะที่เรียกว่าสงบและควบคุมได้ ผู้เลี้ยงปฏิบัติตามหลัก Biosecurity ได้ดี ส่งผลให้มีอุปทานหมูเพิ่มในตลาดมากขึ้นเข้าใกล้จุดสมดุลกับการบริโภคภายในประเทศสำหรับผู้บริโภคชาวไทย แต่ไทยเรายังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอีกไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน/เดือน (ตามการคาดการณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รับประทานเนื้อหมูเป็นหลัก แสดงถึงว่าอุปทานยังคงน้อยกว่าอุปสงค์ แสดงว่า ราคาหมูยังจะคงตัวในระดับนี้ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2566 และเริ่มลดลงในช่วงครึ่งปีหลังแต่ไม่น่าจะลดลงมากนัก

ดังนั้น ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยทั้งปี 2566 น่าจะอยู่ในช่วง 90-100 บาท/กก. ราคาหมูเนื้อแดงและสะโพกก็จะประมาณ 185 – 210 บาท

นอกจากนี้ ยังมีเหตุปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาหมูหน้าฟาร์มสำหรับชาวหมู คือ การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน

Cr. trueid

สถานการณ์หมูเถื่อนน่าจะยังคงมีอยู่ในปี 2566 แต่ปริมาณการลักลอบนำเข้าไม่น่าจะมากเท่าปี 2565 ซึ่งปัจจัยนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เลี้ยงหมูตกที่นั่งลำบากท่ามกลางภาวะกดดันด้านต้นทุนการผลิตสูง ทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และพันธุ์สัตว์ ซึ่งมีราคาแพง อันเนื่องจากแม่พันธุ์ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม สถาการณ์ระดับราคาหมูหน้าฟาร์มที่มากกว่า 100 บาท/กก. ร่วมกับภาวะขาดแคลนแม่พันธุ์ น่าจะทำให้ราคาซื้อขายลูกหมู (นน. 16 กก.) ไม่น้อยกว่า 3,000 บาท/ตัว ต่อเนื่องตลอดปี 2566 จะทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อย รายเล็ก และรายกลางเดิมคิดหนักไม่น้อยใจการกลับเข้าเลี้ยง เนื่องจากต้นทุนลูกสุกรมีราคาแพงมาก สูงถึง 3,600 บาท/ตัว คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของต้นทุนการขุน และใช้ระยะเวลาขุนนาน ประมาณ 4 – 5 เดือน โอกาสที่จะขาดทุนมีสูงหากราคาหมูหน้าฟาร์มที่ขายได้น้อยกว่า 90 บาท/กก. ในช่วงครึ่งหลังปี 2566

ปัจจัยที่ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มในช่วงครึ่งปีหลังลดลงน้อยกว่า 90 บาท/กก. มี 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1) สถานการณ์หมูเถื่อน และ 2) การขยายกำลังการผลิตของฟาร์มขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่ม Integrated farm ที่ทำครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เนื่องจากกลุ่มนี้มีทุนหนา พร้อมด้วยทรัพยากรทั้งเทคโนโลยี ระบบการบริหารจัดการฟาร์มที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และบุคลากรที่มีองค์ความรู้ กำลังการผลิตของฟาร์มกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและครองสัดส่วนอุปทานหมูไทยมากกว่าร้อยละ 70

ผู้เขียนเห็นว่า 2 ปัจจัยนี้จะทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยไม่สามารถกลับมาได้ดังที่หวัง โดยปัญหาหมูเถื่อน ส่งผลต่อผู้เลี้ยงรายย่อยมากกว่ารายใหญ่ เนื่องจากตลาดหมูของผู้เลี้ยงรายย่อยจะขายอยู่ในท้องถิ่นที่มีกำลังซื้อไม่มากด้วยภาวะเศรษฐกิจ ทำให้เขียงท้องถิ่นจะซื้อหมูเป็นอยู่ที่ประมาณ 90 – 100 กก. หากหมูเถื่อนทะลักเข้ามามาก เขียงท้องถิ่นจะหันไปซื้อหมูเถื่อนแทนหมูจากรายย่อย เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่าและจัดการง่ายกว่า

เมื่อเทียบกับฟาร์มใหญ่ที่มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่ารายย่อย เนื่องจากมีตลาดรองรับแน่นอนและใหญ่กว่า มักเป็นตลาดที่อยู่ในเมืองที่มีกำลังซื้อและความต้องการมากกว่าตลาดท้องถิ่น มีเงินทุนและสายปานยาว  สามารถขุนได้นาน 5 – 6 เดือน จนได้น้ำหนัก 130 กก. บางรายขุนถึง 160 กก. อุปทานหมูจากฟาร์มใหญ่จึงกลับมาได้เร็วกว่าและน่าจะมากกว่าก่อนช่วงที่เกิดวิกฤติ ASF แน่นอน

ความหวังของชาวหมูจึงอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ชี้ชะตาชาวหมูรายย่อยว่าจะเอาจริงเอาจังในการตรวจจับหมูเถื่อนเหมือนช่วงเดือนตุลาคม 2565 ได้หรือไม่ หากการตรวจจับเข้มแข็งตลอดปี 2566 ก็จะสร้างความมั่นใจให้ผู้เลี้ยงรายย่อยกลับมาได้มากขึ้น

แต่หากเจ้าหน้าที่รัฐตรวจจับกันพอเป็นพิธีเพื่อสร้างผลงานในช่วงฤดูกาลโยกย้ายปรับเปลี่ยนตำแหน่ง คงไม่แคล้วเดินตามรอยไก่เนื้อและไก่ไข่ ที่เหลือแต่ผู้เล่นรายใหญ่ดังเช่นปัจจุบัน

#EatEcon

Leave a Reply