ปั้นทุเรียนเบญจพรรณ ให้เป็น ทุเรียนขั้นเทพ (Divine durian)

เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ด้วยนิสัยอยากรู้อยากลองทำให้ปีนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสลองชิมทุเรียนหลายพันธุ์ จากหลายสวน ได้แก่ หมองทองจาก 7 สวน ก้านยาว 5 สวน เม็ดในยายปราง 3 สวน กบสุรรรณ 2 สวน นอกจากนี้ยังมี กบชายน้ำ กบพิกุล นกหยิบ ทองกมล จันทบุรี 7 กระดุม พวงมณี มูซันคิง หลงลับแล สาลิกา และทองลินจง

เสียดายที่ยังไม่มีโอกาสลิ้มลองอีกหลายพันธุ์ เหตุเพราะตัวผู้เขียนมีข้อกำจัดในการทานทุเรียน ไม่สามารถทานได้ครั้งละหลายเม็ดเหมือนเพื่อน ๆ มิเช่นนั้นคงสามารถลิ้มลองทุเรียนมากกว่านี้ 

หากถามว่า พันธุ์ไหนอร่อย คงต้องถามกลับว่า คุณชอบแบบไหน และเปิดใจให้กับทุเรียนสายพันธุ์ที่ไม่ใช่หมอนทอง สายพันธุ์ตลาดที่เราคุ้นเคยและรู้จักกันดีในคุณลักษณะที่โดดเด่นทั้ง ลูกใหญ่ เปลือกบาง เมล็ดลีบ เนื้อเยอะ หาซื้อง่าย และราคาถูกโดยเปรียบเทียบกับปริมาณที่ได้

หากเทียบ 6 คุณลักษณะนี้ ทุเรียนเบญจพรรณ แพ้ทุกด้านยังไงก็สู้หมอนทองไม่ได้ เพราะลูกเล็ก เม็ดใหญ่ เนื้อน้อย เปลือกหนา แต่ถ้ามองอีกมุมก็ใช่ว่าจะไม่มีตลาดให้สู้

แล้วทุเรียนเบญจพรรณเหล่านี้จะสู้ได้อย่างไร

  1. ความสนุกของการทางทุเรียนกลุ่มเบญจพรรณคือ ประสบการณ์ (Experience) อันจุดแข็งและจุดขายของทุเรียนกลุ่มนี้ ทั้งช่วงเวลาที่ออกสู่ตลาด พื้นที่ปลูกที่แตกต่าง สวนแต่ละสวนจึงสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองได้
  2. ด้วยความหลากหลายของพันธุ์ทุเรียนในเมืองไทยไม่น้อยกว่า 500 สายพันธุ์ และยังคงมีพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการนำเมล็ดไปปลูก ทุเรียนเบญจพรรณโบราณ จึงมีความหายาก อันเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างได้
  3. “รสชาติดีคุ้มค่ากับราคา”  คือคำตอบของกลุ่มลูกค้าของทุเรียนเบญจพรรณ กลุ่มผู้ชื่นชอบทุเรียนที่รสชาติที่เข้มข้น รสสัมผัสที่เหนียว ความครีมมี่ ผู้ที่มองชอบความแตกต่างจากหมอนทอง และที่สำคัญคือ ให้ความสำคัญที่รสชาติก่อนราคา หากราคาไม่แพงมากนัก ผู้บริโภคกลุ่มนี้พร้อมจะจ่าย
  4. ทุเรียนกลุ่มเบญพรรณนี้เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบทุเรียน แต่ทานได้ทีละน้อย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่ชื่นชอบทุเรียนหรือผู้มีปัญหาสุขภาพที่แต่ต้องระวังเรื่องน้ำตาล
  5. แต่ละสายพันธุ์มีระยะการสุกไม่เท่ากัน มีหลายรุ่น หากบริหารจัดการดีดีก็สามารถมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดได้

หากจะอิงกับสุราก้าวหน้าสักหน่อย ดอกทุเรียนนี่ก็ไม่ธรรมดา เนื่องจากดอกทุเรียนมีความหวาน สามารถนำมาทำคราฟเบียร์หรือจะทำเป็นสุราท้องถิ่นก็ได้ รสชาติไม่ธรรมดา เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับดอกทุเรียนที่ต้องล่วงหล่นใต้ต้นหลังจากชาวสวนทำการปัดดอกเพื่อช่วยการผสมเกสร หากแต่การจัดการจะต้องแข่งกับเวลาสักหน่อย เพราะลำพังแค่ปัดดอกก็แทบจะไม่ทันอยู่แล้ว จึงปล่อยให้หล่นใต้ต้นกลายเป็นปุ๋ย หากแบ่งดอกทุเรียนที่ล่วงหล่นสักหน่อยมาทำเครื่องดื่มคราฟเบียร์ หรือ สุราจากดอกทุเรียน มูลค่าของดอกทุเรียนที่ได้คงไม่เบา

ตัวผู้เขียนเองไม่ได้มีประสบการณ์ในการปลูกหรือค้าทุเรียน เพียงแต่เป็นคนชอบลองชอบชิม และอยากรู้อยากเห็น จากประสบการณ์ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่ตัวผู้เขียนสังเกตุเห็น พบว่า ผู้บริโภครู้จักทุเรียนหมอนทอง ชะนี ก้านยาว ปีนี้เริ่มรู้จักกระดุม พวงมณี และพันธุ์อื่น ๆ มากขึ้น เนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ผู้ค้าสามารถทำตลาดได้ ซูเปอร์มาเก็ตหรือห้างค้าปลีกเริ่มนำไปวางจำหน่ายได้มากขึ้น แต่ก็ผลผลิตก็ไม่มากพอที่จะทำตลาดในวงกว้าง นี่คือความท้าทายของการทำตลาดทุเรียนเบญจพรรณ

ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า การทำตลาดทุเรียนเบญจพรรณยากกว่าตลาดหมอนทองมาก แม้แต่ตลาดออนไลน์ที่ตัดตอนจากผู้ปลูกไปยังผู้บริโภคยังปาดเหงื่อ เนื่องจากทุเรียนเบญจพรรณมีราคาแพงกว่าทุเรียนหมอนทอง ความคาดหวังของผู้ซื้อจึงมีมากเพราะจ่ายแพง อยากได้อร่อย แต่ความอร่อยนั้นไม่ง่าย เหตุเพราะ…

  1. องค์ความรู้การจัดการทุเรียนเบญจพรรณทั้งการผลิตและการตลาดมีน้อยหรือเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีก็ว่าได้ ด้วยเพราะมีมากมายหลากหลายพันธุ์นับไม่ถ้วน ปัจจุบันผู้ผลิตและผู้ค้าจึงค่อย ๆ เรียนรู้กันไป
  2. ในแง่ของการจัดการตั้งแต่การเก็บเกี่ยว แต่ละสายพันธุ์มีความหนักเบาหรือระยะวันสุกที่แตกต่าง และต้องตัดแก่จริง ๆ จึงจะได้ทานแบบอร่อย แถมระยะอร่อยก็สั้น หากแกะเร็วหรือช้าไปเพียงหนึ่งวัน จากว้าวจะกลายเป็นยี้ทันที  
  3. ด้วยความหลากหลายที่แตกต่าง ทำให้ทุเรียนบางสายพันธุ์ เช่น กะเทยเนื้อขาว ไม่สามารถอิงกับสายพันธุ์ที่เนื้อสีเหลืองได้ จึงดูที่สีเนื้อและสีเม็ดแล้วบอกว่าเป็นทุเรียนอ่อนไม่ได้ บางสายพันธุ์ไม่มีกลิ่น ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบร่วมกันทั้ง ดมกลิ่น เคาะเพื่อฟังเสียง สังเกตุขั้วปลิงและน้ำหนักที่เบาขึ้น เหล่านี้คือประสบการณ์ที่ต้องสั่งสม
  4. ผู้บริโภคยังดูระยะการสุกของทุเรียนไม่เป็น ขณะที่ผู้ค้าปลีกยังดูระยะการสุกไม่แม่น การซื้อขายทุเรียนเป็นลูกจึงเสี่ยงเหมือนซื้อหวย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สวนทุเรียนและผู้ค้าทุเรียนที่มากประสบการณ์ รักในอาชีพ ซื่อสัตย์กับลูกค้า จึงมีฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการตลาดแบบปากต่อปาก
  5. ทุเรียนเบญจพรรณมีอายุการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวสั้น การจัดการตัด คัด กระจายสินค้า และจัดจำหน่ายจึงต้องแข่งกับเวลา หากช้าในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งจากกำไรจะกลายเป็นขาดทุนทันที
  6. ใครแกะคนนั้นเสี่ยงขาดทุน เพราะชาวสวนถนัดปลูกเฝ้าดูแลฟูมฟักจนตัดลูก ไม่ถนัดขาย ขณะที่ผู้บริโภคถนัดซื้อ ไม่ได้เข้าใจถึงเส้นทางกว่าจะได้มาเป็นลูกทุเรียนอยู่ในตรงหน้าพร้อมทาน ผู้ซื้อทุเรียนต้องไม่แกะทุเรียนก่อนสุกหรือปล่อยจนเลยระยะสุก หากไม่สามารถรับความผิดพลาดจุดนี้ได้ ควรซื้อแบบแกะพร้อมรับประทาน แพงหน่อยแต่อร่อยแน่ อย่าเสี่ยงซื้อแบบลูกมาแกะเอง ให้ความเสี่ยงของความไม่อร่อยอยู่ที่ผู้ค้าไป
  7. การทำตลาดทุเรียนเบญจพรรณในแง่ของการส่งออกจึงต้องคิดให้หนัก ผู้เขียนเห็นว่าทุเรียนเบญจพรรณไม่ควรทำตลาด Mass และยังไม่ควรทำตลาดต่างประเทศหากเรายังไม่สามารถจัดการโซ่อุปทานทุเรียนเบญจพรรณได้ ควรทำตลาดในเมืองไทยให้แข็งแรงก่อนจะดีกว่า แล้วตลาดจะวิ่งมาหาเราเอง ดังเช่นการทำตลาดทุเรียนมูซันคิงของมาเลเซีย
  8. การให้ข้อมูลลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ค้าที่ต้องทำตลาดออนไลน์ การอธิบายและให้ข้อมูลรายละเอียดและข้อสังเกตุระยะสุกของแต่ละสายพันธุ์จะช่วยสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ รวมถึงช่วยเปิดใจให้ลูกค้าเข้าใจทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ได้ดีขึ้น ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ผู้ค้ายังให้ความสำคัญน้อยเกินไป เนื่องจากกลุ่มลูกค้าออนไลน์จ่ายในราคาที่แพงว่าตลาดเนื่องจากมีค่าขนส่งเพิ่มขึ้นมา ความคาดหวังของลูกค้าจึงมากกว่าการซื้อตามแผงทั่วไป การใส่ใจรายละเอียดจึงต้องทำให้มากเข้าไว้

ด้วยเหตุนี้ ทุเรียนเบญจพรรณจึงต้องเป็นทุเรียนขั้นเทพ ต้องใส่ใจรายละเอียด และต้องร่วมมือร่วมใจกัน

สำหรับภาครัฐ สิ่งที่ทำง่ายและทำได้เลยคือ จัดทำฐานข้อมูลทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้น เพื่อให้ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค หรือผู้ที่สนใจอื่นๆ สามารถเข้าถึง และหาข้อมูลได้ง่ายโดยสะดวก ข้อมูลเหล่านี้ปัจจุบันอยู่กระจัดกระจาย หากได้มีการรวบรวมและทำให้เข้าถึงง่าย ก็จะช่วยสนับสนุนการสร้างการรับรู้และทำตลาดให้ผู้บริโภครู้จักทุเรียนสายพันธุ์ดีดีซึ่งจะช่วยกระตุ้นความอยากของผู้บริโภคผู้คลั่งไคล้ทุเรียนได้สรรหามาลิ้มลอง สามารถอ้างอิงหรือเทียบเคียงคุณลักษณะของสายพันธุ์ที่ได้ลิ้มรสได้ แล้วปล่อยให้ตลาดทำงานไปตามกลไก

การทำตลาดทุเรียนเบญจพรรณเป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยยกระดับทุเรียนไทยให้กลายเป็น ทุเรียนขั้นเทพด้วยเรื่องราว (Divine durian story) เป็น Soft power ที่แท้จริงได้ไม่ใช่เพียงคำพูด แต่หน่วยงานภาครัฐต้องให้ความสำคัญมากกว่าแค่การจัดประกวดพันธุ์ทุเรียน ซึ่งจำเป็นที่ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ตามงบประมาณที่หมดไปในแต่ละปี

#EatEcon

ขอบคุณภาพจากสวนตาก้าน www.duriannon.com