ยกระดับหมอนทองไทยด้วยการสร้างแบรนด์

คอทุเรียนปีนี้คงได้อิ่มเปรมกับหมอนทองกันไม่น้อยด้วยความเอาจริงเอาจังและตื่นตัวกับการตัดทุเรียนแก่ได้มาตรฐาน เพื่อรักษาคุณภาพหมอนทองไทย 

แม้ปัจจุบันไทยยังสามารถครองสัดส่วนตลาดทุเรียนในจีนมากที่สุด แต่ในไม่ช้าผลผลิตทุเรียนจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเข้ามาแบ่งเค้กก้อนใหญ่นี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากหมอนทองแล้วปีนี้หลายคนคงได้มีโอกาสลิ้มลองทุเรียนก้านยาว พวงมณี หรือแม้แต่พันธุ์มูซันคิง โอฉี หนามดำ ทุเรียนชื่อดังของมาเลเซียที่ขายได้ราคาในตลาดจีน แต่ปัจจุบันผลผลิตในไทยเริ่มออกมาเช่นกันด้วยเหตุที่มีผู้ประกอบการและบริษัทที่ปรึกษาทางการเกษตรขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนพันธุ์เหล่านี้ในหลายพื้นที่ของไทย

ตัวผู้เขียนได้มีโอกาสทดลองชิมพันธุ์มูซันคิง หากเทียบกับหลากหลายสายพันธุ์ที่ได้ลิ้มลอง ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนั้นคิดว่า ในเรื่องของรสชาติ เนื้อสัมผัส กลิ่นหอมที่มีเสน่ห์ของทุเรียนสายพันธุ์ของไทยอย่าง กบพิกุล กบชายน้ำ เหนือกว่า แต่ใช่ว่าหมอนทองจะสู้ไม่ได้ 

ด้วยลักษณะที่โดดเด่นของหมอนทองในมุมของผู้บริโภคคือ ลูกใหญ่ เมล็ดลีบ เนื้อเยอะ คุ้มค่ากับเงินในกระเป๋าที่จ่ายออกไป

สำหรับผู้ค้า หมอนทองสามารถตัดที่ความสุก ณ เปอร์เซ็นต์แป้ง 30% ปัจจุบันตัดกันที่ 32-35% ใช้เวลานาน 7-10 วัน สุกพอดีทาน ระยะเวลาช่วงนี้นานพอที่จะให้ผู้ค้าบริหารจัดการจนถึงการขายปลีกปลายทางให้แก่ผู้บริโภค หมอนทองจึงเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะแก่การค้าในตลาด Mass หมอนทองจึงถูกวางจำหน่ายในตลาดทั่วโลก

สวนทุเรียนจึงมีหมอนทองเป็นพันธุ์พื้นฐาน ปลูกกันทั่วทุกภูมิภาคของไทย แต่การผลิตหมอนทองนั้น ผู้ปลูกทราบกันดีว่า หมอนทอง เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่อ่อนแอ ดูแลยาก โรคมาก ตายง่าย ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเชื่อว่าตลาดทุเรียนหมอนทองไทยไม่ง่ายที่ใครจะมาตีตลาดได้ แต่ต้องสะกิดเตือนกันสักนิดว่า ความรู้เรียนทันกันหมด ตลาดหมอนทองไทยจึงเดินมาถึงจุดเสี่ยงที่ผู้คว่ำหวอดในวงการทุเรียนรู้กันดีถึงอนาคตหมอนทองไทยที่ไม่เหมือนเดิม

ด้วยมีเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้นกระจายไปทั่วประเทศ ตอนนี้ผลผลิตยังไม่ออกมา หน่วยงานภาครัฐจึงมีเวลาเตรียมตัว เตรียมความพร้อมให้ทุเรียนเหล่านี้เป็นทุเรียนคุณภาพ เช่น

  1. เตรียมความพร้อมองค์ความรู้การผลิตทุเรียนให้เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอและตำบล และสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวกับทุเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้คำแนะนำแก่ผู้ปลูกทุเรียนหน้าใหม่ 
  2. เตรียมข้อมูลสำหรับการทำทุเรียน GI ของท้องถิ่น 
  3. ผลักดันการทำสวนทุเรียนตามแนวปฏิบัติเกษตรดีที่เหมาะสมหรือ GAP อย่างต่อเนื่อง ให้การทำ GAP เป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานที่ควรทำ 
  4. เพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้กับเจ้าของสวน หาใช่เพียงแค่ชาวสวนปลูกทุเรียนขายเหมือนอดีตที่ผ่านมา

เราต้องร่วมกันสร้างแบรนด์หมอนทองไทยให้แข็งแรง หมอนทองไทยต้องไม่เหมือนเดิม หากทำแบบเดิม เท่ากับเราย่ำอยู่กับที่ เราต้องร่วมกันสร้างให้หมอนทองไทยเป็นทุเรียนหมอนทองพรีเมียม

ปีนี้เราเริ่มเห็นกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำทุเรียนหมอนทองคุณภาพ ให้ความสำคัญกับการตัดทุเรียนแก่ ตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งก่อนตัด ปีนี้เราจึงเห็นข่าวทุเรียนอ่อนน้อยกว่าปีก่อน ๆ เราได้รู้จักทุเรียน GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่มากขึ้นถึง 11 สายพันธุ์ ได้แก่ 

  1. ทุเรียนนนท์ : ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมือง 
  2. ทุเรียนจันท์ : ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พวงมณี นกหยิบ ทองลินจง นวลทองจันทร์ กบสุวรรณ และพันธุ์ทางการค้า เช่น พันธุ์จันทบุรี 1 – 10 
  3. ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ : ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จ.นครราชสีมา
  4. ทุเรียนชะนีเกาะช้าง จ.ตราด
  5. ทุเรียนในวงระนอง : ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จ.ระนอง
  6. ทุเรียนสาลิกาพังงา : ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง จ.พังงา 
  7. ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ : ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง, ชะนี, ก้านยาว 
  8. ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ : ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล 
  9. ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ : ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล 
  10. ทุเรียนปราจีน : ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมือง 
  11. ทุเรียนป่าละอู : ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี 

นอกจากนี้ในอนาคตน่าจะมีทุเรียนพันธุ์หมอนพระร่วง จังหวัดสุโขทัย ทุเรียนน้ำแร่ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ได้รู้จักกันมากขึ้น 

จะเห็นได้ว่า ทุเรียนขึ้นชื่อของแต่ละที่เป็นพันธุ์หมอนทองเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากรสชาติและเนื้อสัมผัสของทุเรียนหมอนทองจะแปรเปลี่ยนไปตามสภาพดิน น้ำ อากาศของพื้นที่ รวมถึงวิธีการผลิตที่แตกต่าง ออกดอกในช่วงเวลาที่ต่างกัน ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดในเวลาที่ต่างกัน ปัจจัยเหล่านี้คือเรื่องราวที่สามารถหยิบยกขึ้นมาสร้างแบรนด์ให้กับหมอนทองไทยได้

ความพยายามในการทำทุเรียน GI คือการสร้างแบรนด์ให้กับทุเรียนหมอนทองของแต่ละท้องที่จึงง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น แต่อย่างไรก็ดี แต่สวนทุเรียนเองก็จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ของสวนด้วยเช่นกัน การผลักดันให้สวนทุเรียนสร้างแบรนด์ แสดงให้ความตั้งใจของสวนทุเรียนที่จะผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อรักษาแบรนด์ทุเรียนให้เข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี เส้นทางของการสร้างแบรนด์ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา ความอดทน ห้ามรีบเร่ง ต้องค่อยๆ สร้างและสั่งสมความเชื่อใจเพื่อความไว้วางใน ดังสุภาษิตที่ว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

การสร้างแบรนด์หมอนทองไทยจึงต้องร่วมทำทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับสวน ซึ่งต้องร่วมมือร่วมใจทั้งชาวสวน ผู้ค้า และภาครัฐ

ผู้เขียนมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าคอทุเรียนพร้อมสนับสนุนแบรนด์ทุเรียนหมอนทองไทยที่ส่งมอบหมอนทองดีที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน

#EatEcon

ขอบคุณภาพจาก Siam Diamond Durian สยามไดมอนด์