ฤาว่า…รัฐยินดีที่เห็นคนเลี้ยงหมูขาดทุน?

เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลังจากราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของไทยที่เคยสูงสุดในภูมิภาคเมื่อปี 2565 ผลผลิตขายเมื่อช่วงปลายปี ณ ราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ยังพอมีกำไรให้คนเลี้ยงหมูไทยได้กลับมาเลี้ยงรอบใหม่ แต่ในช่วงเวลานี้ ราคาหมูไทยกลับต่ำสุดเมื่อเทียบกับรอบบ้าน (ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ของเวียดนามที่ 88-90 บาท กัมพูชา 80 บาท ลาว 88 บาท พม่า 110 บาท มาเลเซีย 126 บาท ฟิลิปปินส์ 104 บาท) [1] ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไทยกลับต่ำสุด ณ 62-74 บาท/กก. อนิจจาราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไทยไม่เที่ยงหนอ

คนเลี้ยงหมูจะทราบกันดีในภาวะที่แนวโน้มของราคาหมูลดลง เวลาราคาหมูลงจะลงเร็วมาก เพราะฟาร์มใหญ่จะรีบเทขาย อุปทานเนื้อหมูในตลาดจะมีมาก ทำให้เขียงทั้งหลายได้โอกาสชะลอการซื้อหมูขุนจากรายย่อย หรือรับซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาประกาศอ้างอิง แต่จะมีการซื้อขายจริงต่ำกว่าราคาประกาศ 2-3 บาท/กก. บางพื้นที่อาจต่ำกว่าเป็น 10 บาท/กก.

ปัจจุบันหมูที่ขายกันตามท้องตลาดจะมาจาก 2 ส่วนคือ หมูที่เข้าเชือดแล้วจำหน่ายภายใน 24 ชั่วโมง และ ‘หมูกล่อง’ ‘หมูชิ้น’ หรือ ‘หมูกินไฟ’ ซึ่งหมูกลุ่มนี้คือสาเหตุใหญ่ของราคาหมูขุนมีชีวิตตกต่ำในปัจจุบัน

หมูกล่อง เนื้อหมูที่ชำแหละแล้วเก็บไว้ในห้องเย็นรอเวลาจำหน่าย โดยมากแล้วในช่วงที่ราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มตกต่ำ ผู้แปรรูปเนื้อหมูทั้งหลายจะใช้โอกาสนี้ซื้อเนื้อหมูสต๊อกไว้ในห้องเย็น ซึ่งเป็นการบริหารจัดการวัตถุดิบตามวิถีการทำธุรกิจทั่วไป ตอนหลังฟาร์มขนาดใหญ่หลายแห่งหันมาทำตลาดเนื้อหมูก็ใช้วิธีการเดียวกัน

หากแต่หมูกล่องไม่ได้มาจากหมูที่เลี้ยงภายในประเทศเท่านั้น ยังมีหมูกล่องอีกส่วนเป็นหมูเถื่อนที่มีการลักลอบนำเข้านี่แหละปัญหาที่ฆ่าคนเลี้ยงหมูรายย่อยอย่างเลือดเย็น

กระบวนการจัดการหมูเถื่อนเป็นไปอย่างเชื่องช้า ผ่านมาเป็นปีจนถึงวันนี้ หาตัวผู้ลักลอบนำเข้าไม่ได้ ด้วยกระบวนการและขั้นตอนทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรค แถมบทลงโทษก็ยังน้อยนิด เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ผู้กระทำผิดคิดแล้วว่าคุ้มเสี่ยง เราจึงได้เห็นข่าวหมูเถื่อนเข้าไทยไม่จบไม่สิ้น  

หลังจากที่เจอปัญหาโรคระบาดหมู ASF ทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหายไปจากระบบไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ในช่วงปี 2563-2565 จนการควบคุมโรคระบาดหมูนี้ดีขึ้น ผู้เลี้ยงรายย่อยตัดสินใจกลับมาเลี้ยงอีกครั้ง แต่สถานการณ์กลับซ้ำเดิมด้วยปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์และหมูกล่องเถื่อน

ปัจจุบันราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มตามประกาศอ้างอิงของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคตะวันตก 62 บาท/กก. หากแต่ต้นทุนการผลิตหมูขุนสูงถึง 90 บาท/กก. [2] เท่ากับว่าตอนนี้คนเลี้ยงหมูขุนขาดทุน 30 บาท/กก. หากชำแหละที่ 100 กก. ก็เท่ากับว่าขาดทุน 3000 บาท/ตัว ซึ่งทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประมาณการว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีหมูเข้าเชือดประมาณวันละ 50,000 ตัว เท่ากับว่าตอนนี้การผลิตหมูขุนของประเทศขาดทุนวันละ 150 ล้านบาทโดยประมาณ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายเล็กจำนวนไม่น้อยต้องเลิกเลี้ยงจากการขาดทุนสะสม [3]

ต้นทุนสำคัญของการผลิตหมูขุนคือ อาหารสัตว์ ที่มีสัดส่วนสูงร้อยละ 60-70 ของต้นทุนการผลิตหมูขุนทั้งหมด ในช่วงครั้งหลังของปี 2565 เกษตรกรรายย่อยและรายเล็กตัดสินใจกลับเข้าเลี้ยงหลังจากที่โรคระบาดหมูสงบลง ด้วยหวังจะเพิ่มผลผลิตหมูให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการเนื้อหมูภายในประเทศ แม้ว่าต้นทุนวัตถุอาหารสัตว์จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 อันเนื่องจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

คำถามสำคัญของคนเลี้ยงหมูคือ เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่แก้ไขปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์อย่างจริงจังซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐในการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เหตุใดต้นทุนการเลี้ยงหมูของเวียดนามอยู่ที่ 75 บาท/กก. มีสัดส่วนต้นทุนอาหารสัตว์ร้อยละ 60-70 ไม่ต่างจากไทย สถานการณ์การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศไม่พอ ต้องนำเข้าเช่นเดียวกัน แถมประสิทธิภาพการเลี้ยงยังเป็นรองไทย แต่เวียดนามสามารถจัดการต้นทุนได้ต่ำกว่าเราอย่างมาก แสดงว่ามีโครงสร้างการจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ดี

คนในวงการปศุสัตว์ทราบดีว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาโครงสร้างการจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองทำกันพอเป็นพิธี แถมแก้ที่ปลายเหตุคือ การควบคุมราคาขาย ด้วยอาศัย “พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 (มาตรา 25)” ให้คณะกรรมการฯ มีอํานาจกําหนดราคาซื้อหรือราคาจําหน่ายสินค้าควบคุมให้ผู้ซื้อซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่กําหนด หรือให้ผู้จําหน่ายจําหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กําหนด หรือตรึงราคาไว้ ในราคาใดราคาหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

แม้หมูและเนื้อหมูจะถูกจัดให้เป็นสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายใน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เคยควบคุมได้จริง กรรมจึงตกที่กลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์ต้องดิ้นรนแก้ปัญหากันตามมีตามเกิด ใครสายป่านไม่ยาว ก็ต้องออกจากอุตสาหกรรมนี้ไป เรื่องนี้ไม่ใช่แค่คนเลี้ยงหมู ผู้เลี้ยงโคนมที่ต้องใช้อาหารข้นมากก็เลิกกิจการกันไปไม่น้อย

ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า ระดับนโยบายเห็นดีเห็นงามที่จะให้ราคาเนื้อหมูถูก ไม่สนใจแก้ปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ ไม่เอาจริงเอาจังจัดการหมูเถื่อน จนเกิดอุปทานหมูส่วนเกินในตลาดเพื่อกดค่าครองชีพของประชาชนทั่วไปไม่ให้สูงไปกว่านี้ แล้วปิดหูปิดตาปล่อยให้คนเลี้ยงหมูขาดทุนไปเรื่อย ๆ เลือดไหลออกจนหมดตัว แล้วหายไปโดยไม่มีใครสนใจ

นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ สภาวะเอลนีโญ ซ้ำเติมปัญหาราคาวัตถุดิบพืชอาหารสัตว์ที่คงตัวในระดับสูง ซ้ำร้ายสถานการณ์สุญญากาศทางการเมืองของไทย ผ่านมาสองเดือนยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ปัญหาของคนเลี้ยงหมูรวมทั้งคนเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วประเทศคงต้องแก้ไขกันเองเหมือนที่เคยเป็นมา ดังคำพระท่านว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ – ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่าได้หวังพึ่งใคร

#EatEcon

อ้างอิง

[1] pasusart.com (2566). ราคาหมูหน้าฟาร์มร่วง วอนรัฐช่วยด่วน หลังขาดทุนกว่า 6 เดือน ออนไลน์ https://pasusart.com/ราคาหมูหน้าฟาร์มร่วงยา/ เข้าถึง 7 สิงหาคม 2566.

[2] https://www.swinethailand.com/17394530/live-pig-price-25072023

[3] pasusart.com (2566) เสียงจากเกษตรกร “ขอแค่ขายหมูได้พ้นต้นทุน” ออนไลน์ https://pasusart.com/เสียงจากเกษตรกร-ขอแค่ข/, เข้าถึง 18 กรกฎาคม 2566.

photo by lucas-vinicius-peixoto-P7Um6_hkwbU-unsplash