ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการผลิตและการค้าโคเนื้อคุณภาพของไทย

เรื่องโดย สุวรรณา สายรวมญาติ และศุภธัช ศรีวิพัฒน์

อุปสงค์การบริโภคเนื้อโคคุณภาพของผู้บริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กำลังการผลิตโคขุนคุณภาพภายในประเทศไม่สามารถตอบสนองได้ทัน ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าโคมีชีวิต เนื้อโคและผลิตภัณฑ์หลายพันล้านบาทต่อปี นโยบายของภาครัฐที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้การเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพหลักของเกษตรกร ซึ่งได้สนับสนุนการรวมกลุ่มการเลี้ยงและถ่ายเทคโนโลยีการเลี้ยงโคเนื้อ ทำให้ปริมาณการผลิตโคเนื้อในช่วงปี พ.ศ. 2561-2566 เพิ่มสูงขึ้น (ตารางที่ 1) (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2566)

ตารางที่ 1 ปริมาณการผลิต ส่งออก นำเข้า และการบริโภคเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ของไทย ปี 2561 – 2565

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2565)

สิ่งที่ภาครัฐพยายามทำคือส่งเสริมการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อทั้งในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างการผลิตและการตลาดให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโคเนื้อของไทย ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนประเทศภายใต้แนวคิดแบบจำลองเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2569

อย่างไรก็ดี นโยบายที่ผ่านมาดำเนินตามงบประมาณ ขาดความต่อเนื่อง และไม่ยั่งยืน จึงทำให้การส่งเสริมการผลิตโคเนื้อคุณภาพผ่านวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ยังไม่บรรลุเป้าหมายดังที่คาดหวัง ภาครัฐควรใช้นโยบายที่ยั่งยืนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันการผลิตโคเนื้อให้ได้มาตรฐานและคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ซึ่งผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้

ด้านการผลิต

1) ภาครัฐควรสานต่อนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตโคเนื้อของกรมปศุสัตว์ให้มีความต่อเนื่อง โดยเน้นการเพิ่มจำนวนแม่โคคุณภาพที่ได้รับการรับรองสายพันธุ์โดยสหกรณ์โคเนื้อ ในการดำเนินนโยบายควรให้กรมปศุสัตว์ควรร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์เพื่อให้ทำหน้าที่อาสาปศุสัตว์คอยติดตามผลการผสมเทียมและจัดทำฐานข้อมูลโคให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

2) กรมปศุสัตว์ควรเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตโคขุนคุณภาพ ในขั้นแรกควรเร่งขึ้นทะเบียน (NID) โคเนื้อมีชีวิตทุกตัวและปรับปรุงคุณภาพเบอร์หูให้มีความคงทนสะดวกต่อการใช้งาน ควรเชื่อมต่อกับระบบการขึ้นทะเบียนโคแบบดิจิทัล ช่วยลดขั้นตอนด้านเอกสารในการเคลื่อนย้ายโคมีชีวิต ช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ท้องถิ่นทั้งด้านเวลาและกำลังคน

3)กรมปศุสัตว์ควรร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัย เร่งพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้ระบบ IoT มาใช้ในการจัดการฟาร์ม ในส่วนนี้กรมปศุสัตว์ควรได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในการพัฒนาระบบและดูแลระบบเพื่อให้การบริการมีความต่อเนื่อง

4) เพื่อให้ได้เนื้อโคที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานจำเป็นต้องผลิตโคปลายน้ำให้ได้คุณภาพนิ่งและมาตรฐานเดียวกัน รัฐบาลควรส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ที่มีศักยภาพปรับปรุงคอกกลางให้ได้มาตรฐาน GAP โดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและระยะพักชำระเงินต้นในช่วง 3 ปีแรก เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการบริหารจัดการฟาร์ม

5) การจัดทำมาตรฐาน GAP และ GFM สำหรับฟาร์มโคเนื้อ ควรพิจารณาตามขนาดฟาร์ม ตามจำนวนโคขุน และเป้าหมายในการดำเนินกิจการ เช่น ฟาร์มโคเนื้อขนาดใหญ่และฟาร์มโคเนื้อที่ส่งออกควรบังคับให้ขอรับรองมาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อการส่งออก เป็นต้น

6) ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตโคเนื้อ เพื่อให้สมาชิกที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและมีเงินทุนน้อยเน้นการผลิตโคต้นน้ำและโคกลางน้ำสายพันธุ์ดีที่ได้รับการรับรองพันธุ์ ส่งต่อให้กับสมาชิกสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนที่เน้นการผลิตโคปลายน้ำและมีธุรกิจจำหน่ายเนื้อโค โดยปรับแก้กฎหมายให้วิสาหกิจชุมชนสามารถเป็นสมาชิกสหกรณ์เครือข่ายได้ในรูปแบบสมาชิกสมทบประเภทนิติบุคคล และมีการปันผลตามขนาดการดำเนินงานของธุรกิจ

ด้านการค้า

1) กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับจังหวัดส่งเสริมการสร้างเอกลักษณ์การผลิตโคขุนคุณภาพภายใต้แบรนด์สหกรณ์ โดยร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดในพื้นที่ส่งเสริมการใช้เนื้อโคจากโคขุนที่สมาชิกสหกรณ์ผลิตได้ และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนเพื่อกระตุ้นการบริโภคเนื้อโคที่ผลิตในจังหวัด

2) กรมปศุสัตว์กำหนดยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพการผลิตโคและระบบโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่การผลิตโคขุนคุณภาพ ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายโคมีชีวิต ซึ่งควรสนับสนุนให้เกิด ‘คอมพาร์ทเมนต์’ โคเนื้อเพื่อการส่งออก โดยกรมปศุสัตว์สามารถร่วมมือกับสหกรณ์ในจังหวัดหรือจังหวัดใกล้เคียงที่มีด่านชายแดนที่มีการนำเข้าและส่งออกโคเนื้อมีชีวิต มีกระบวนการตรวจสอบรับรองที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเพื่อกำหนดเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคสัตว์อื่นที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งกรมปศุสัตว์มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคเป้าหมายในชายแดน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้มงวดและเฝ้าระวังการลักลอบการส่งออกและนำเข้าโคขุนที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเพื่อไม่ให้ประเทศคู่ค้าใช้เป็นข้ออ้างในการสั่งห้ามนำเข้าโคขุนมีชีวิตของไทยในอนาคต

3) เนื่องจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน GMP ของสหกรณ์มีน้อย จำเป็นต้องปรับปรุงโรงฆ่าของสหกรณ์ที่มีอยู่ให้ได้มาตรฐาน ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนเงินทุนหรือจัดหาสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยและมีระยะเวลาผ่อนชำระคืนเพียงพอที่จะไม่เป็นภาระของสหกรณ์ หรือนำร่องรถฆ่าสัตว์เคลื่อนที่ดังเช่นประเทศออสเตรเลีย

อ้างอิง

1. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2565. สถานการณ์สินค้าเกษตรและแนวโน้ม ปี 2566.

2. สุวรรณา สายรวมญาติ และศุภธัช ศรีวิพัฒน์. 2566. โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโคเนื้อในประเทศไทย สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานคณะการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ขอบคุณภาพจาก ThaiPBS