ยุทธศาสตร์ทุเรียนไทย ที่หนึ่งในใจ หาใช่ยอดขาย

เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลการส่งออกทุเรียนไตรมาสแรกของปี 2567 (มกราคม-มีนาคม) สื่อทั้งหลายออกมาตีข่าวทุเรียนไทยไตรมาส 1 ยอดส่งออกลดลง อาจเสียแชมป์เบอร์หนึ่งผู้ส่งออกทุเรียนไทยให้กับเวียดนาม สร้างความขุ่นเคืองไม่น้อยให้กับชาวสวนทุเรียนที่กำลังเครียดกับผลผลิตที่เสียหายอันเนื่องมาจากสถาพภูมิอากาศที่ร้อนระอุ แม้แต่คนอย่างเรายังทนไม่ไหว นับประสาอะไรกับทุเรียน

ทุเรียนคือผลไม้ที่มีความเป็นฤดูกาลสูง ด้วยสภาพอากาศของปีนี้ร้อนสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดช้ากว่าปกติ ทุเรียนหลายสวนแตกคาต้น ผลหลุดล่วงก่อนเวลาเก็บเกี่ยว ขนาดผลเล็กลง น้ำหนักลดลง ชาวสวนได้แต่ เฝ้าดูแบบทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ทำใจ

ภาพที่ 1 ทุเรียนแตกคาต้น
ขอบคุณเจ้าของภาพ

แต่ที่ทำให้ชาวสวนต้องทำใจกว่าคือ ราคา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนลับแล อุตรดิตถ์ เปิดทุเรียนหลินลับแลพรีเมียมปีนี้  550 บาท/กก. ต่างจากปีก่อนๆ ที่เปิดไม่ต่ำกว่า 600 บาท ที่ยกตัวอย่างหลินลับแล เพราะเป็นพันธุ์ที่ปลูกยาก ดูแลยาก ผลผลิตน้อยเมื่อเทียบกับหลงลับแล เมื่อได้มีโอกาสได้ลองทานรับรองว่าจะลืมหลงลับแลไปเลย ขนาดตัวจี๊ดอย่างหลินลับแล ยังเปิดราคาลงจากปีก่อน สายพันธุ์อื่นไม่ต้องคิด เอาแค่ผ่านปีเดือดปีนี้ให้ได้เป็นพอ ปีหน้าว่ากันใหม่

ทุเรียน เป็นผลไม้ ถึงจะมีการทำสารเพื่อให้ออกนอกฤดู มีการขยายพื้นที่ปลูกไปทั่วประเทศ (ภาพที่ 2) แม้จะมีผลผลิตตลอดทั้งปี ก็ยังคงมีความฤดูกาล ช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกมากจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายนซึ่งเป็นทุเรียนภาคตะวันออก โดยมีจันทุบรี ระยอง ตราด เป็นแหล่งผลิตสำคัญ หลังจากนั้นจะเป็นทุเรียนใต้นำโดยชุมพร ทุเรียนภาคอื่น ๆ และปิดท้ายที่ภาคเหนือ โดยมีลับแล จ.อุตรดิษฐ์เป็นแหล่งผลิตสำคัญ

ภาพที่ 2 คาดการณ์สัดส่วนผลผลิตทุเรียนรายเดือน [2]

เรามิอาจทะนงตนว่าเป็นเบอร์หนึ่ง มีประสบการณ์สูง เพราะความรู้เรียนทันกันหมด เวียดนามอาศัยองค์ความรู้และบทเรียนความผิดพลาดจากไทย นำไปปรับปรุงและพัฒนา กำหนดยุทธศาสตร์ทุเรียนชัดเจน ภาครัฐสอดประสานกันดีกับผู้ค้าและเกษตรกร ต่างกับไทยลิบลับ

ถึงไทยจะเสียแชมป์ผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ให้แก่เวียดนาม ก็ไม่เห็นจะต้องใส่ใจ ถ้าไทยยังคงรักษาแชมป์ทุเรียนไทยในฐานะ “ทุเรียนเบอร์หนึ่งในใจของผู้บริโภค” มุ่งผลิตทุเรียนคุณภาพ มีเท่าไรก็ขายหมด มีเท่าไรก็ไม่พอ นี่สิที่ต้องใส่ใจ นี่คือยุทธศาสตร์ทุเรียนไทยที่ควรจะเป็น เลิกเสียทีที่เน้นปริมาณ เน้นยอดขาย ยอดส่งออก เอาแต่ตัวเลข เกษตรกรไม่ได้อะไร

ตลาดทุเรียนปลายทางที่จีนมีการแข่งกันรุนแรง ผู้ค้าวิ่งหาทุเรียนคุณภาพ คิดกลวิธีการนำเสนอขายทุเรียนให้ดึงดูดใจผู้ซื้อมากขึ้น เช่น ปอกให้เห็นเนื้อทุเรียนส่วนหนึ่งและใช้พลาสิกใส Wrap ทุเรียนทั้งลูกเพื่อให้ซื้อมองเห็นเนื้อทุเรียนแบบจะจะ (ภาพที่ 3) และที่ก้านทุเรียนแต่ละลูกก็มีสลากที่ผู้ประกอบการนำเข้าติดไว้ ตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงสวน แถมแยกเกรดทุเรียนอย่างชัดเจน เช่น พันธุ์ก้านยาวเขียนชัดเจนว่าเป็น Premium Fresh Durian ภาพนี้ยิ่งเน้นย้ำว่า ทุเรียนที่ไม่มีคุณภาพ จะไม่สามารถยืนอยู่ได้ในอนาคต

หากภาครัฐยังไม่จริงจัง รอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยมาแก้อยู่เช่นนี้ อีกสักปีสองปี คงได้มาตามแก้ปัญหาทุเรียนไทยราคาตกต่ำเพราะพ่อค้ากดราคาผลผลิตทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ เหมือนวงจรอุบาท์ดังเช่นสินค้าเกษตรตัวอื่น ๆ ก่อนหน้านี้

ภาพที่ 3 ทุเรียนไทยในซุปเปอร์ GSH [1]

ที่มา:

[1] https://www.facebook.com/moac.beijing/posts/pfbid0zDbQxk6fMaBPCHjaxh7KmtScUQ8Ax6K8Z9cERLd2JtF3BuyKiTn49cYnN6osX3Z8l

[2] https://www.oae.go.th/assets/portals/1/files/calendar.pdf และ https://mis-app.oae.go.th/product/%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99