พ่อค้าคนกลาง จำเลยของคนมักง่าย แต่ไม่ง่ายที่จะตัดออก

เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ่อค้าคนกลาง กดราคา คำพูดที่เราได้ยินอยู่เสมอ วาทะกรรมของคนที่ไม่เข้าใจการทำธุรกิจ ขายของไม่ได้ราคา ราคาสินค้าตกต่ำ นึกอะไรไม่ออก โทษพ่อค้าคนกลางไว้ก่อนว่ากดราคา

สินค้าเกษตร มีคุณสมบัติแตกต่างจากสินค้าอุตสาหกรรม เรื่องความเป็นฤดูกาล (seasonality) ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นช่วง ๆ (availability) มากบ้างน้อยบ้างตามฤดู น้ำหนักมาก เน่าเสียง่าย (perish ability) อายุการเก็บรักษาสั้น ใช้พื้นที่การเก็บรักษาและมีต้นทุนมาก ยิ่งเก็บนานคุณภาพยิ่งลด แถมน้ำหนักหาย ทำให้ต้นทุนโลจิสติกต่อหน่วยของสินค้าเกษตรสูงโดยเปรียบเทียบ

แม้ว่าในทางเศรษฐศาสตร์ สินค้าเกษตรมักจะถูกสมมติว่ามีความเหมือนกันทุกประการ (homogeneous commodity) แต่ในการซื้อขายจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ สินค้าเกษตรมีความเป็นธรรมชาติ คือ มีความหลากหลายตามคุณภาพผลผลิต อันเกิดจากปัจจัยการผลิตที่ขึ้นกับดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ

ยิ่งสภาพอากาศร้อนและแล้งรุนแรง เช่นปีนี้ ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดออกน้อยกว่าปกติ เช่น ผักชี ทุเรียน บางชนิดขาดแคลนจนหาซื้อไม่ได้ เช่น มะพร้าวน้ำหอม เพราะอากาศร้อนจนมะพร้าวขาดคอ ราคาก็ปรับตัวสูงขึ้นตามอุปทานที่ลดลง หากผลผลิตออกมากจนล้นตลาด ราคาจะลดลงเป็นปกติของกลไกตลาด แต่คนที่ไม่เข้าใจก็มักสรุปเอาว่า พ่อค้าคนกลางกดราคา

หน้าที่สำคัญของพ่อค้าคนกลางในธุรกิจการเกษตรคือ ทำให้ตลาดเป็นตลาดที่สมบูรณ์นำผลผลิตไปสู่ปลายทาง เนื่องจากพ่อค้าคนกลางจะทำหน้าที่สำคัญคือ การจัดหา เริ่มต้นจาก หาตลาด แล้วจึง รวบรวมผลผลิต → คัดเกรด → จัดเก็บ → ขนส่ง → จำหน่าย สู่ตลาดปลายทางไม่ว่าจะเป็นผู้แปรรูป ค้าส่ง ค้าปลีก หรือแม้แต่ผู้ส่งออก

อีกหน้าที่สำคัญของพ่อค้าคนกลางในตลาดสินค้าเกษตร คือ การรับความเสี่ยง ตั้งแต่การรวบรวมจนถึงการแจกจ่าย พ่อค้าคนกลางจะต้องประเมินราคารับซื้อผลผลิตเพื่อให้ครอบคลุมกับความเสี่ยง หากรับซื้อผลผลิตที่เกษตรกรผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดปลายทางต้องการ ก็ไม่แปลกที่ราคารับซื้อจะต่ำ เพราะพ่อค้าต้องเอามาปรับปรุง แปรสภาพ แล้วจึงขายได้ ต้นทุนการบริหารจัดการสูงและต้องมีกำไรเหลือพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป

การทำธุรกิจต้องมีกำไร หากทำแล้วขาดทุน คงไม่มีใครทำ เป็นพ่อค้าคนกลางจึงไม่ง่าย

การดำเนินธุรกิจเกษตรของไทยท้าทายกว่าหลายประเทศ เนื่องจากเกษตรกรเป็นรายเล็ก ทำกันแบบครัวเรือน น้อยรายที่จะเป็นรายใหญ่ การรวบรวมผลผลิตจึงมีต้นทุนสูง ปัจจุบันพ่อค้าคนกลางต้องมีทีมเก็บเกี่ยวผลผลิต ตัดแต่ง คัดเกรด มีกระบวนการยืดอายุผลผลิต ก่อนไปจำหน่ายที่ตลาดปลายทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกร จึงจัดระบบคุณภาพมาตรฐานเสียตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดการสูญเสียและความเสี่ยงที่จะขาดทุน

จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสเกษตรกรมืออาชีพ ใส่ใจในการผลิตจนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรกลุ่มนี้ไม่เคยถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ตรงกันข้าม ผลผลิตมีเท่าไรพ่อค้ารับหมด จองกันล่วงหน้าแถมบวกราคาเพิ่มจากราคาตลาดให้อีกเนื่องด้วยสามารถนำไปขายได้ราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป

ราคาส่วนต่างที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อกับราคาขายปลีกปลายทางดูเหมือนจะห่างกันมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าบางครั้งก็ไม่เหลือกำไรมากนัก บางล็อตขาดทุน บางล็อตกำไร เนื่องจากมีปัจจัยกำหนดต้นทุนของพ่อค้าหลายปัจจัย ได้แก่ อุปสงค์ อุปทาน ช่องทางการตลาดปลายทาง สิ่งอำนวยความสะดวก (เช่น ระบบขนส่ง) ค่าเสียโอกาสที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการแทรกแซงจากรัฐ

ข่าวนายกให้สำรวจตลาดใหม่ตัดพ่อค้าคนกลาง ทำเอาผู้เขียนถึงกับส่ายหัว พ่อค้าคนกลางตกเป็นจำเลยอีกเช่นเคย

เมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐมักจะมุ่งเป้าโดยการแทรกแซงด้วยการตัดพ่อค้าคนกลางออกจากระบบตลาด รวบรวมจัดเก็บผลผลิตเพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด หรือส่งผลผลิตโดยตรงไปยังผู้บริโภคตามหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อลดอุปทานในระบบ แต่การทำเช่นนี้ทำได้เพียงครั้งคราว อย่าทำจริงจัง แต่หากจะตัดพ่อค้าออกไปเลย อย่าได้หาทำ

หากรัฐจะทำหน้าที่พ่อคนกลางเสียเอง มีแต่เสียกับเสีย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความเชี่ยวชาญ ต้นทุนการบริหารจัดการสูง โครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้อ ระเบียบร้อยแปดไร้ความคล่องตัว ประสิทธิภาพการบริหารจัดการต่ำ เห็นได้ชัดๆ ก็โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดที่ถึงวันนี้ผ่านมา 10 ปีแล้วก็ยังขายไม่หมด

พ่อค้าคนกลางคือนักธุรกิจที่ทำกำไรจากการบริหารจัดการความเสี่ยง แต่รัฐไม่ได้มีหน้าที่แสวงหากำไร ความสามารถในการรับมือความเสี่ยงต่ำ และมีโอกาสเกิดการทุจริตสูง และทำให้ระบบตลาดพังในที่สุด

แล้วรัฐควรทำอะไร?

หน้าที่ของรัฐคือ

  1. การส่งเสริมให้มีจำนวนพ่อค้าคนกลางมากพอที่จะเกิดการแข่งขัน
  2. มีกลไกติดตามการค้าไม่ให้ได้กำไรเกินปกติมากจนเกินควร
  3. กำหนดคุณภาพสินค้าเพื่อเป็นมาตรฐานในการซื้อขายที่ชัดเจน
  4. ประกาศราคาซื้อขายแนะนำตามคุณภาพให้เป็นที่รับรู้ทั่วกัน เข้าถึงง่าย
  5. ขึ้นทะเบียนพ่อค้าคนกลางโดยเฉพาะพ่อค้าคนกลางต่างชาติที่เข้ามารวบรวมสินค้าเกษตร เช่น ล้งทุเรียน ล้งมังคุด หรือแม้แต่ผู้รวบรวมโคเนื้อ ให้อยู่ในเงื่อนไขเดียวกับพ่อค้าไทย มีการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมการค้า เพื่อไม่ให้พ่อค้าไทยเสียเปรียบจนแข่งกับพ่อค้าต่างชาติไม่ได้ดังเช่นทุกวันนี้

นอกจากนี้ รัฐควรส่งเสริมการการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์หรือวิสาหกิจ รวมถึงสนับสนุนการทำแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่องให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง หาใช่การทำตามนโยบาย หมดงบก็จบไป วิธีนี้จะเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับกลุ่มเกษตรกร ทั้งยังลดบทบาทของพ่อค้าคนกลางในสินค้าเกษตรที่มีจำนวนพ่อค้าคนกลางน้อย มีผู้กำหนดราคาเพียงไม่กี่ราย

อุปสรรคของการรวมกลุ่มของเกษตรกรไทยก็ไม่ง่าย กลุ่มมักแตกเมื่อพ่อค้าวิ่งหาสินค้า ให้ราคามากกว่ากลุ่มนิดหน่อยก็แตกแล้ว หากยังไม่สามารถทำให้เกษตรกรรายย่อยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวได้ กลุ่มก็เกิดยาก เป็นได้แค่วาทะกรรมเช่นกัน

ถึงอย่างไรก็ต้องมีพ่อค้าคนกลางอำนวยความสะดวกในระบบตลาดมีกำไรที่พอเหมาะ ให้ตลาดทำหน้าที่ได้โดยที่รัฐเป็นเพียงผู้กำกับดูแล ไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือกำไรเกินปกติ แล้วปล่อยให้ผู้ซื้อพิจารณาเลือกเอง

แม้ว่าผู้เขียนรู้อยู่แก่ใจว่า แนวคิดการลดช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยตัดพ่อค้าคนกลางออกไป เป็นแค่แนวคิดที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เพราะแนวคิดนี้รัฐมีออกมาทุกสมัย แต่ก็ไม่เคยทำได้สำเร็จ เพราะรัฐมาแล้วไป แต่พ่อค้าคนกลางอยู่ยาวไม่ได้หมดตามวาระ คว่ำหวอดในวงการจนรู้วิธีการรับมือดี แถมดีไม่ดีดิวจนเพิ่มอำนาจผูกขาดให้ตัวเองได้ด้วยซ้ำ

พ่อค้าคนกลาง แม้อยากจะตัดออก แต่ไม่ง่ายดังที่คิด

#EatEcon