ไม้ด่าง : The Power of Surprise

ณ เวลานี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า วงการไม้ประดับ (ไม้ใบ ไม้ด่าง) ได้รับอานิสงส์จากการระบาดของ COVID-19 จนเรียกได้ว่าเป็นช่วงขาขึ้น ผลของการหยุดอยู่บ้านทำให้คนหันมาปลูกต้นไม้เป็นงานอดิเรกให้ตลาดไม้ด่างเติบโตในระดับหนึ่ง และเมื่อมี Influencer ตัวฉกาจอย่างดารานักแสดชั้นนำ เข้ามาสนใจ โพสต์รูปคู่กับต้นไม้ผ่าน Instragram Facebook YouTube จึงดันให้ตลาดไม้ด่างกลายเป็นที่สนใจในวงกว้าง ต้นไม้บางต้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนเพราะกระแสและความต้องการที่มากจากคนนอกวางการที่พร้อมจะควักตังในกระเป๋าในราคาที่หลายคนตกใจ บางคนเข้ามาซื้อหาด้วยคำว่า ของมันต้องมี เดี๋ยวตกเทรนด์ หรืออารมณ์ที่เรียกว่า FOMO (Fear of Missing Out)

อันที่จริงในวงการไม้ประดับจะมีวัฏจักรกันอยู่แล้ว แต่รอบนี้มีปัจจัยหนุนให้กระแสไม้ด่างติดลมบนได้นานกว่าเมื่อเทียบกับอดีต คือ บริการขนส่งที่รวดเร็ว และสื่อสังคมออนไลน์ที่ส่งต่อภาพ อารมณ์และความรู้สึกหลงใหลของผู้ปลูกเลี้ยงไม้ด่าง กระตุ้นให้เกิดความต้องการของเพื่อนสนิทมิตรหายที่ได้เห็นภาพเหล่านั้น

ถ้าให้จัดกลุ่มนักเล่นไม้ด่างปัจจุบันน่าจะมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มนักสะสมไม้ด่างรุ่นเก๋า
  2. กลุ่มผู้เลี้ยงหน้าใหม่ที่เริ่มเล่นช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 เล็กน้อย
  3. กลุ่มผู้เลี้ยงหน้าใหม่ที่เริ่มเล่นในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19
  4. กลุ่มซื้อมาขายไปหรือพ่อค้า

กลุ่มผู้เลี้ยงหน้าใหม่มักเป็นกลุ่ม Gen X และ Gen Y เชี่ยวชาญในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Instragram Facebook YouTube เป็นสื่อกลาง กลุ่มนี้จะสร้างคอนเทนต์ ถ่ายภาพไม้ด่างสวย ๆ ให้ข้อมูลต่าง ๆ ของไม้ที่ตนชื่นชอบ รวมถึงการขายไม้ด่างผ่านช่องทางเหล่านี้ด้วยเช่นกัน จะบอกว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จุดกระแสไม้ด่างก็คงจะไม่เกินไปนัก

ตัวอย่างไม้ด่างมาแรงในปี 2021 อยู่ในวงศ์บุกบอน (Araceae) เช่น สกุล Philodendron สกุล Monstera สกุล Syngonium สกุล Epipremum สกุล Alocasia สกุล Homalomena ไม่ไว้แต่สกุล Caladium หรือบอนสีที่เรารู้จักกันก็เข้ากระแส ซึ่งเดิมทีออกจากสวนต้นละ 60 บาท ปัจจุบันราคาปรับขึ้นไปไม่น้อยกว่าสองเท่าตัว อ้อ…อีกตัวคือ กล้วยด่าง เกือบลืมเสียแล้ว

ไม้ด่างที่อยู่ในกระแสมักไม่ใช่พืชที่มีถิ่นฐานในเมืองไทย มีการนำเข้ามาโดยกลุ่มนักสะสมต้นไม้ ขยายพันธุ์ จำหน่าย แลกเปลี่ยน รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกยังต่างประเทศทำให้ไม้ด่างหลายชนิดราคาทะลุเพดาน เนื่องจากไม่ได้มีแค่ความต้องการของตลาดไทยเท่านั้น จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร พบว่า ปี 2563 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกไม้ประดับประมาณ 53,862.34 ไร่ มีมูลค่าการส่งออก 791.58 ล้านบาท มูลค่าส่งออกไม้ประดับด่าง 1.691 ล้านบาท เช่น กลุ่มพูลด่าง เตยด่าง สาคูด่าง โดยมีปลายทางหลากลาย เช่น สหรัฐเมริกา เกาหลีใต้ บาห์เรน นอร์เวย์ โอมาน แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น

ไม้ด่าง ที่นิยมเล่นกันเป็นอาการด่างที่เกิดจากพืชมีสีที่ผิดรูปจากรูปแบบทั่วไปอันเกิดจากความผิดปกติของการแสดงออกของยีนหรือการกลายพันธุ์ วงการเรียกด่างประเภทนี้ว่า “ด่างแท้” จึงทำให้สัดส่วนการเกิดด่างน้อยเมื่อเทียบกับไม้ปกติทั่วไป การเกิดใบด่างที่เห็นจึงไม่คงตัว ด้วยเหตุนี้ไม้ด่างจึงอ่อนแอกว่าไม้ใบปกติ ผู้เล่นใหม่ต้องทราบว่าไม้ด่างที่ซื้อมานั้น มีข้อจำกัดเรื่องแสงอย่างไร ความชื้นมากน้อย รวมไปถึงวัสดุปลูกและกระถางที่เหมาะสม เพราะแต่ละชนิดต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแตกต่างกัน (สุรวิช วรรณไกรโรจน์, 2564; ปกป้อง ป้อมฤทธิ์, 2564)

ด้วยความหลากหลายของไม้ด่างที่มีสายพันธุ์ที่หลากหลาย มีลูกเล่นแพรวพราว มีความด่างที่ไม่คงตัว แต่ละใบมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ผู้เป็นเจ้าของจึงได้ลุ้นทุกครั้งที่มีการแตกหน่อผลิใบ สร้างความหลงใหลให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ได้ไม่ยากนัก การเติบโตของตลาดไม้ด่างจึงเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของ The power of surprise ซึ่ง Scott Reddick เขียนบทความใน Havard Business Review ปี 2013 ชื่อเรื่อง “Surprise is Still the Most Powerful Marketing Tool”สื่อว่า การสร้างความประหลาดใจยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลังที่สุด เนื่องจากชีวิตคนเรานั้นมีเรื่องไม่คาดคิดตลอดเวลา สมองเราจึงเสพติดเซอร์ไพรส์ รู้สึกตื่นเต้น และมีความสุข มนุษย์เราจึงกระหายสิ่งที่ไม่คาดคิดโดยไม่รู้ตัว

ในมุมของผู้เล่นไม้ด่าง การซื้อไม้ด่าง ก็คล้ายกับกล่องสุ่ม ที่ไม่รู้ว่าใบต่อไปที่ผลิออกมาจะด่างสวยหรือไม่ หรืออาจจะไม่ด่างเลยก็เป็นได้ มันสนุกตรงได้ลุ้น และนี้คือพลังของ Surprise เสน่ห์เหล่านี้ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่หลายคนที่คิดในตอนแรกว่าจะซื้อมาทำแม่เพื่อขยายพันธุ์แล้วจำหน่าย แต่ด้วยเสน่ห์ของไม้ด่างดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้หลายคนกลายเป็นความผูกพันปรับเปลี่ยนกลายเป็นนักสะสม หลายคนก็สวมหมวก 2 ใบ เป็นทั้งนักสะสมและนักขายไม้ด่าง เพราะซื้อเก็บอย่างเดียวทุนจม ต้องมีการขยายจำหน่ายออกบ้างเพื่อหาตัวใหม่เข้ารัง

ไม้ด่างขายกันจะ 4 กลุ่ม คือ

  1. ไม้ด่างตั้งต้นพร้อมเป็นต้นแม่พันธุ์ จะมีราคาค่อนข้างแพง
  2. ไม้ด่างตัดสด กลุ่มนี้เกิดจากความต้องการไม้ด่างหายาก ต้นใหญ่มีราคาแพง จึงตัดหน่อ ผ่าหัว ตัดข้อ กิ่งชำ ทาหรือจุ่มน้ำยาเร่งราก แล้วอบระยะหนึ่งจนตั้งต้นได้ มีราก แล้วก็มาเสนอขาย ราคาจะย่อมเยา ขายง่าย ได้จำนวน หลัง ๆ ความต้องการมีมาก ขายได้ราคา ผู้ขายหลายรายเริ่มตัดสดแบบให้ผู้ซื้อดูแลต่อเองก็มี กรณีที่ต้นแม่แพงมาก ๆ ก็มีการขายไข่ของต้นไม้ คล้ายๆ กับตาที่พร้อมแตกหน่อ แต่ละฟองที่ซื้อขายกันกินข้าวได้หลายมื้อ
  3. ไม้ด่างเนื้อเยื่อ กลุ่มนี้สำหรับสายลุ้น ราคาหลักร้อย
  4. ขายเมล็ด สำหรับพันธุ์ที่สามารถขยายได้แบบอาศัยเพศ

หากมองเฉพาะในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางการจุดพลุให้กับไม้ด่าง เท่าที่สังเกตุรูปแบบการซื้อขายไม้ด่างออนไลน์มีประมาณ 3 แบบ

  1. การไลฟ์สด (Live) ผู้ขายจะเปิดราคาขาย ใครชอบก็เอฟไป บางรายก็ให้เสนอราคาซื้อแข่งกันเหมือนการประมูล จนได้ราคาเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย วิธีนี้มักเป็นสวนเล็ก พ่อค้าแม่ค้าต้นไม้ จะมีไลฟ์ขายกันประจำ
  2. การโพสต์ขายระบุราคาชัดเจน ใครสนในก็เอฟไป ใครที่เอฟก่อน ก็ได้ก่อน วิธีนี้เป็นที่นิยมสำหรับผู้เลี้ยงหน้าใหม่ที่มีสินค้าไม่มาก และทำเป็นงานอดิเรก
  3. การเปิดเสนอราคา ถูกใจปิดให้ คล้าย ๆ กับการประมูล โดยมากมักไม่มีการกำหนดเวลาสิ้นสุด ให้ผู้สนใจใส่ราคากันไปเรื่อย ๆ ตามกำลังทรัพย์ในกระเป๋าและความอยากได้ ราคาที่ผู้สนใจเสนอไปเป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าภายในใจของผู้ซื้อ ทางเศรษฐศาสตร์เรียกกว่า ความเต็มใจจ่าย (Willingness to Pay) ต้นไหน ลายสวย หายาก ต้นใหญ่ อยู่ในกระแส ก็จะเรียกแขกได้คึกคัก

ข้อดีของวิธีการเปิดเสนอราคา ถูกใจปิดให้ คือ

  1. ผู้ขายไม่สามารถกำหนดราคาขายได้เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ไม่รู้ราคาตลาด แต่กลุ่มนี้ไม่มีมากเพราะหากผู้ขายมีต้นสวยมาครอบครองพร้อมจำหน่าย ต้องรู้ราคาตลาดในระดับหนึ่ง
  2. ผู้ขายมีโอกาสที่จะขายได้ราคาสูงกว่าราคาในใจ ซึ่งหลายครั้งผู้ขายมีราคาในใจสูงลิบบวกกับต้นทุนที่จับมาในราคาแพงก็หวังปล่อยในราคาที่ทำกำไรได้งาม แต่กรณีนี้ ผู้ขายอาจติดกับดักของความเป็นเจ้าของ หรือ Endownment effect คือ ผู้ขายประเมินราคาไม้ด่างไว้สูงกว่าผู้ซื้อมาก จึงตั้งราคาขายที่ตนถูกใจไว้สูงเกินจริง แบบที่เรียกกันว่า ราคาไปดาวอังคาร จึงมักจบท้ายด้วย ปิดเก็บเข้ารัง

ข้อเสียของวิธีนี้โดยที่ไม่มีการกำหนดเวลาสิ้นสุดของการเสนอราคา คือ ผู้สนใจต้องมีเวลาพอที่จะติดตามราคาเสนอซื้อล่าสุด ซึ่งการทำให้ผู้สนใจต้องรอคอยอย่างไม่มีจุดหมายว่ารอคอยถึงเมื่อไร จะทำให้เกิดความไม่พอใจก่อตัวจนกลายเป็นความเบื่อหน่าย และลดความสนใจกับการซื้อต้นไม้ด้วยวิธีนี้

ทั้งนี้ ผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบเสียเวลากับการเสนอราคาด้วยวิธีนี้ ทางออกคือไปคุยกันหลังบ้าน ยกหูถามราคาในใจ หากตกลงราคาที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ ผู้ซื้อก็จะไปใส่ราคาในโพสต์แบบกระโดด ผู้ขายก็จะเข้าไปปิดการเสนอราคา อันเป็นการจบการขาย ราคาที่ปิดการขายในโพสต์จะกลายเป็นราคาตลาดที่ใช้อ้างอิงให้กับต้นอื่น ๆ ต่อไป

ปัญหาสำคัญของการซื้อต้นไม้ออนไลน์คือ การจัดส่งสินค้า แม้ว่าปัจจุบันระบบขนส่งจะพัฒนาขึ้นมามากแบบก้าวกระโดด มีผู้ให้บริการหลายเจ้า แต่การขนส่งต้นไม้ผ่านบริการเหล่านี้ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย หากมีราคาแพงระดับ 5 หลักขึ้นไปก็มักจะใช้วิธีนัดรับหรือไปส่งให้ถึงบ้าน หากจำเป็นต้องส่งก็ควรเลือกการแพคแบบตะกร้าจะดีกว่า

สำหรับผู้เล่นใหม่ที่สนใจลงทุนในตลาดนี้ต้องพร้อมที่จะรับความเสี่ยงหากไม้ด่างที่ซื้อมาไม่เป็นดังใจหวัง เพราะต้นแม่พันธุ์ราคาแพงมาพร้อมกับความเสี่ยงในเรื่องของการดูแลและขยายพันธุ์ที่ดีหากเสียหายหรือตายไปก็เท่ากับสูญเงินก้อนนั้นไม่อาจเอากลับคืน ประกอบกับราคาปัจจุบันสูงเกิดจนเรียกว่า “ปั่น” ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการปั่นราคาหัวทิวลิปที่เนเธอร์แลนด์เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1600-1700 ก็ย้อนไปประมาณสัก 300 กว่าปี หรือเหตรุการณ์การปั่นราคาหน้าวัวที่อินโดนีเซียเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เหตุการณ์เหล่านี้วนกลับมาซ้ำรอยให้เห็นกันเรื่อย ๆ เพียงแต่อาจไม่รุนแรงเท่าอดีต

การเล่นหาไม้ด่างจึงควรมีความชอบเป็นทุนเดิม พอใจซื้อหาตามกำลัง มีเวลาก็ขยาย ขายบ้าง พอเป็นงานอดิเรกที่สร้างรายได้ ส่วนท่านใดที่สนใจลงทุนจริงจัง ก็ควรต้องศึกษาหาความรู้และใส่ในใจรายละเอียดของไม้ให้มาก เพราะตลาดไม้ประดับเป็นตลาดที่ซื้อขายกันที่ความสวยงาม ความหายาก ความพึงพอใจ ใช้เวลา ต้องจริงใจ ข้อมูลตรงปก อย่าได้รีบร้อนหวังกอบโกย

#EatEcon

ที่มา:

  1. สุรวิช วรรณไกรโรจน์. 2564. มุมวิชาการว่าด้วยเรื่องของ “ไม้ด่าง”. วารสารเคหเกษตร 45(8): หน้า 60-62.
  2. ปกป้อง ป้อมฤทธิ์. 2564. เหตุไฉนไม้ด่างจึงกระแสแรง?. วารสารเคหเกษตร 45(8): หน้า 56-59.
  3. https://hbr.org/2013/05/surprise-is-still-the-most-powerful

Photo by Sergio Camalich on Unsplash

Leave a Reply