อาหารสิ้นคิดเบอร์หนึ่ง

เมื่อพูดถึงอาหารสิ้นคิด ผัดกะเพรา ไข่เจียว ข้าวเหนียวหมูปิ้ง หนึ่งในสามเมนูนี้ มักจะเป็นเมนูแรกๆที่หลายคนเอ่ยถึง คำถามคือทำไมเราถึงนึกเมนูนี้ได้เป็นเมนูแรกๆอาจเรียกได้ว่าหลุดออกมาจากปากโดยที่เรายังไม่ได้คิดด้วยซ้ำ การตัดสินใจนี้ผ่านการคิดแบบอัตโนมัติ ซึ่งรวดเร็ว ฉับไว และเป็นไปโดยสัญชาตญาณ ซึ่งไม่ต้องอาศัยการคิดมากมายอะไร นั่นหมายถึงว่าการเลือกเมนูที่จัดอยู่ในกลุ่มอาหารสิ้นคิด เช่น ข้าวผัดกะเพราะไก่ไข่ดาว แทบจะไม่ต่างอะไรกับการเลือกเมนูโปรด โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งรีบที่ต้องแข่งกับเวลาอย่างมื้อกลางวัน หากจะแตกต่างอย่างมากกับการเลือกเมนูในมื้อเย็นที่มีเวลามากขึ้นในการคิดและตัดสินใจ และจะยิ่งต้องคิดมากขึ้นอาหารมื้อนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เราคนเดียว ตัวอย่างง่ายที่สุดคือ การนัดทานข้าวกับเพื่อนหรือคนสำคัญ การพบปะสังสรรค์ เราต้องมานั่งคิดและพิจารณาว่าเราจะกินอะไรดี มีใครไม่กินอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ มีใครแพ้อาหารอะไรหรือเปล่า ตัวเลือกร้านอาหารก็จะค่อยๆถูกตัดออกไป และหากสมาชิกที่ไปด้วยมีไอเดียอยู่ว่าอยากกินอะไร ก็จะช่วยให้ตัวเลือกตัดออกไปหรืออยู่ไม่มากนัก การตัดสินใจกินแบบหลังนี้เราเรียกว่า การคิดแบบไตร่ตรอง

นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจัดระบบการคิดของคนเราออกเป็นสองระบบ คือ การคิดแบบอัตโนมัติ (System 1) และการคิดแบบไต่ตรอง(System 2) จากตารางที่ 1 จะเห็นว่า เราใช้ทั้งสองระบบความคิดในการตัดสินใจเรื่องกินในชีวิตประจำวัน และกระบวนการคิดเรื่องเหล่านี้ก็มีผลสืบเนื่องไปถึงสุขภาพของเราในอนาคต

เรามักจะเลือกกินอาหารที่อร่อยและถูกปาก และอาหารที่อร่อยส่วนมากมักจะเป็นอาหารจำพวก ทอด ปิ้ง ย่าง เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมอาหารเหล่านี้มักอร่อยและทำให้เราน้ำลายสอทุกครั้งที่เห็นหรือนึกถึง เนื่องจากการปรุงอาหารด้วยวิธีการเหล่านี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Millard reaction ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นเมื่อโปรตีนและน้ำตาลถูกเปลี่ยนโครงสร้างด้วยความร้อน ทำให้อาหารจำพวกของทอด ปิ้ง และย่าง มีสีเหลืองอมน้ำตาล ส่งกลิ่นหอม และมีรสชาติที่โดดเด่น ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เราตัดสินใจเลือกกินอาหารจำพวกนี้แบบอัตโนมัติและเราก็กินมากเกินความพอดี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความเสี่ยงของการเป็นโรคในกลุ่ม NCDs ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การกินคือความสุขอย่างหนึ่ง แต่เราคงต้องใช้การคิดแบบไตร่ตรองให้มากขึ้นสักหน่อย กินอาหารให้หลากหลาย อย่ากินมากจนเกินพอดีเพื่อที่เราจะได้มีสุขภาพที่ดีและมีความสุขในการกินยาวนานขึ้น

Photo by Robin Stickel on Unsplash

ที่มา

Thaler and Sunstein: Nudge แปลโดย นรา สุภัคโรจน์(2560): Nudgeสะกดความคิด สะกิดพฤติกรรม.สำนักพิมพ์วีเลิร์น. กรุงเทพ.

https://www.seriouseats.com/2017/04/what-is-maillard-reaction-cooking-science.html

 

Leave a Reply