เมื่อรัฐจะเก็บ “ภาษีของเค็มและไขมันทรานส์”

เมื่อไม่นานมานี้หลายคนคงตื่นเต้นกับเรื่องไม่ใหม่แต่ไม่ค่อยคุ้นหูที่จู่ ๆ ภาครัฐนำโดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศเตรียมห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายกรดไขมันทรานส์ หรือที่รู้จักในชื่อ ทรานส์แฟท (Trans Fat) ในประเทศไทย โดยชี้ชัดว่าเจ้าไขมันทรานส์เป็นภัยต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการที่เราบริโภคอาหารและขนม เช่น เค้ก ขนมปัง หรือ โดนัท ที่ใช้เนยขาว เนยเทียม ครีมเทียม หรือมาการีน เป็นส่วนผสม

ตามมาด้วยกรมสรรพสามิตก็รับลูกต่อ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ออกมาให้ข้อมูลว่ากำลังเตรียมแผนเสนอ ครม. พิจารณาแพ็คเกจภาษีใหม่ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 61 มุ่งเป้าเก็บสินค้าที่มีความเค็ม และสินค้าที่ทำให้เกิดไขมันทรานส์ ด้วยเหตุผลในแนวทางเดียวกัน คือความห่วงกังวลต่อภาวะสุขภาพของคนไทยนั่นเอง

พอได้ยินเรื่องการจัดเก็บภาษีเพิ่ม เราก็ตื่นตกใจกันตามปกติด้วยเพราะเกรงผลที่จะตามมา จนหลายฝ่ายก็วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลถังแตกจนถึงขั้นต้องมาเก็บภาษีเล็ก ๆ น้อย ๆ จากประชาชน

อย่าพึ่งตกใจ ประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีวัตถุดิบของสินค้าอุปโภคบริโภคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ เมื่อ 16 กันยายน 2560 กรมสรรพสามิตก็ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มความหวานไปแล้ว

ผลจากมาตรการในครั้งนั้นส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มต้องปรับตัวเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อและเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น โดยออกกลยุทธ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ นำเสนอเครื่องดื่มที่เน้นจุดขายสูตรน้ำตาลน้อยหรือลดปริมาณน้ำตาลในส่วนผสมเพื่อตอบรับกระแสรักสุขภาพที่กำลังฮอตฮิต ซึ่งก็ต้องระวังเรื่องสารให้ความหวานที่ใช้แทนน้ำตาลอีก

เรามาย้อนไปดูการจัดเก็บภาษีน้ำหวานกันสักหน่อย การเก็บภาษีแบ่งออกเป็น 5 ระดับตามค่าความหวาน ซึ่งต่างจากอัตราการเก็บภาษีก่อนหน้านั้น ที่จัดเก็บเพียงอัตราเดียวที่ 14 กรัม/100 มล. โดยจัดเก็บในราคา 1 บาท/ลิตร

ค่าความหวาน (กรัม/100 มล.)

อัตราภาษี

0-6

ไม่เสียภาษี

6-8

10สตางค์/ลิตร

8-10

30สตางค์/ลิตร

10-14

50สตางค์/ลิตร

14 ขึ้นไป

1 บาท/ลิตร

ซึ่งคาดว่าการจัดเก็บภาษีของเค็มและไขมันทรานส์นี้ ก็คงจะจัดเก็บในแนวทางเดียวกับภาษีตามค่าความหวาน

พอย้อนกลับไปดูตัวเลขด้านบนอีกที…มันช่างเป็นอัตราที่น้อยนิดเสียเหลือเกินสำหรับผู้บริโภคหรือคนซื้ออย่างเราๆ

เราว่ามันแทบจะไม่มีผล ไม่ได้อ้างอิงจากผลงานวิจัยที่ไหนหรอก เพียงแต่วัดจากตัวเราเองที่พอมีความรู้เรื่องภาษีบ้างและมีแนวทางเรื่องปากเรื่องท้องที่ดีต่อสุขภาพพอสมควรนี่แหละ

รู้แล้วไง? ปรับภาษีแล้วยังไง?

เราก็ยังคงซื้อเครื่องดื่มแบบซื้อบ้างนาน ๆทีเหมือนเคย เพราะถึงแม้จะจัดเก็บภาษีเพิ่มแต่ราคาขายปลีกก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด หรือบางยี่ห้อปรับบ้างก็ไม่มากจนคนซื้ออย่างเรารู้สึกตกใจ เราว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเหมือนกัน

เพราะอะไรน่ะเหรอ..ก็เพราะกำไรต่อขวดหรือกระป๋องมากเสียจนไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาจากการเก็บภาษีนี้ แถมถ้าซื้อแบบยกแพค ก็จะได้ราคาต่อหน่วยถูกลงไปอีก จึงไม่แปลกที่เราจะซื้อดื่มกันตามปกติ

มีการสำรวจผลของการเก็บภาษีน้ำหวานจากประเทศเม็กซิโก ฝรั่งเศส และ เบลเยี่ยม พบว่า ยอดการจำหน่ายน้ำหวานจะลดลงในช่วงก่อนการเก็บภาษี 1 ปี แล้วลดลงในปีที่จัดเก็บ แต่จะลดลงอีกเพียงเล็กน้อยหลังจากจัดเก็บไปได้หนึ่งปี จากนั้นยอดซื้อก็กลับมา และจะกลับมาซื้อเพิ่มขึ้นจนเป็นบวกในที่สุด (ข้อมูลจาก GlobalData, 2017)

ผลจากการสำรวจนี้บอกอะไรเรา

มันบอกว่า การเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำเกินไปไม่ได้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ซื้ออย่างยั่งยืน

สำหรับประเทศไทย คงต้องรอผู้รู้หรือคนที่มีข้อมูลประเมินผลการจัดเก็บภาษีค่าความหวานว่าจะเป็นอย่างไร แต่เราคาดว่าผลคงออกมาไม่แตกต่างกัน

การเก็บภาษีของเค็มและสินค้าที่มีไขมันทรานส์ ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกัน แม้มาตรการจัดเก็บภาษีที่ว่านี้จะมีขึ้นจริงก็คงไม่ส่งผลต่อความต้องการซื้อของผู้บริโภคมากนัก

กรมสรรพสามิตได้ชี้แจงทันทีหลังมีการวิพากย์วิจารณ์ว่า เป้าหมายสินค้าที่จะเริ่มเก็บภาษีของเค็ม คือสินค้าที่ผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่บรรจุหีบห่อ และระบุปริมาณโซเดียมชัดเจน ซึ่งคงไม่เก็บภาษีผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน อย่างไข่เค็ม ปลาเค็ม กุ้งแห้ง หรือสินค้าแปรรูปอื่น ๆ

สินค้าที่คาดว่าเข้ากลุ่มแน่ ๆ ก็น่าจะเป็นพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกลุ่มพร้อมกิน (Ready to eat) ขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูง

ตอนจะแกะซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลองอ่านฉลากดู จะรู้ว่าสินค้าเหล่านี้มีปริมาณโซเดียมผสมในอัตราที่สูงมาก ซึ่งมีโซเดียมเยอะเกินกว่าความต้องการของร่างกายเราถึง 2-3 เท่า…เฮ๊ย! นี่เราจะกินเข้าไปทำไมตั้งมากมายเนี่ย (เพราะบางช่วงบางจังหวะของชีวิตเงินในกระเป๋ามันก็ไม่เอื้อให้เรากินของดี ๆ ไง)

แต่เราต้องยอมรับว่า คนไทยส่วนใหญ่ติดกินอาหารรสจัด เรียกว่าจัดเต็มทั้งเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน อาหารบางอย่างไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งรสชาติมากมาย (ถ้ารู้จักใส่ใจคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพและเหมาะกับอาหารแต่ละชนิด) ก็ประโคมใส่สารปรุงแต่งนานาชนิด เรียกว่าบริโภคเครื่องปรุงมากเกินความจำเป็นก็คงจะได้

แต่เราลืมคิดว่า สิ่งที่เรากินเข้าไปนั้นจะสร้างภาระอย่างมากมายต่อตับ ไต หัวใจ และร่างกายของเรา และจะกลายเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนชีวิตในการรักษาโรคภัยในระยะยาว

คราวนี้ โซเดียมก็กลายเป็นจำเลยในฐานความผิดประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สินอย่างไม่ต้องสงสัย (หรือหากคุณ ๆ ท่าน ๆ สงสัย ก็คงต้องขอให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมกันต่อ)

ประเด็นเรื่องปริมาณโซเดียมที่ผสมในบรรดาอาหารต่าง ๆ ทั้งสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป และที่เราทำทานกันเองนี้ ทาง สสส. ก็พยายามรณรงค์ให้มีการลดปริมาณโซเดียมในอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลง10% ทุกยี่ห้อ ภายในปี 2562 ผ่าน Change.org

ว่าง ๆ อย่าลืมเข้าไปอ่านและร่วมลงชื่อได้ตามลิ้งค์นี้นะ http://bit.ly/2LDJCRq

กลับมาว่ากันต่อถึงประเด็นเรื่องผลกระทบจากมาตรการจัดเก็บภาษีของเค็มและไขมันทรานส์ เราว่าถ้าหากผู้ผลิตมีการปรับขึ้นราคาสินค้าล่ะก็ อัตราภาษีที่จัดเก็บก็คงไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่น่าจะเกิดจากต้นทุนค่าโฆษณาหรือการจัดการด้านอื่นเพื่อการแข่งขันเสียมากกว่า แต่ผู้ผลิตก็คงจับเอาประเด็นเรื่องภาษีมาเป็นข้ออ้างอีกเช่นเคย

หรือถ้ามีการปรับขึ้นราคาจริง “การซื้อลดลง” จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงระยะสั้นๆ สุดท้ายเราก็ซื้อกันเหมือนเดิม เพราะราคาที่ปรับขึ้นนั้นไม่ได้มากจนเรารู้สึกว่าเดือดร้อนเหมือนตอนปรับขึ้นค่าน้ำมัน อาจจะแค่เสียความรู้สึกนิดหน่อย ผู้ผลิตเค้าก็ประกาศให้เรารับรู้กันแต่เนิ่น ๆ พอถึงเวลาที่ปรับราคาขึ้นจริง เราก็ทำใจยอมรับราคานั้นเสียแล้ว

อีกอย่าง สินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่มีอัตราความต้องการของผู้บริโภคสูง การแข่งขันทางด้านราคาย่อมสูงตามไปด้วย สินค้าแต่ละแบรนด์แต่ละยี่ห้อก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก ทดแทนกันได้ ราคาก็เกือบจะเท่ากัน ถ้าเจ้าไหนยี่ห้อไหนขึ้นราคา เราก็เปลี่ยนไปซื้อเจ้าอื่นแทน เว้นเสียแต่ว่าเราจะจงรักภักดีหรือ(ยึด)ติดกับสินค้านั้นจนไม่ยอมเปลี่ยนแปลง… กลไกการตลาดแบบนี้ก็ไม่เอื้อให้ผู้ผลิตผลักกภาระมาให้ลูกค้าอย่างเราง่ายนัก ดังนั้น ขอพี่น้องชาวไทย “อย่าตื่นตูม”

จะว่าไป มาตรการจัดเก็บภาษีนี้ก็เป็นผลดีกับเรา ๆ ท่าน ๆ อยู่ไม่น้อยนะ

เอาอย่างกว้างๆ ประการแรกรัฐก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเงินภาษี คิดในทางที่ดีว่าเราก็อาจจะมีสวัสดิการรัฐที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งเราคงต้องรอดูกันต่อไป

แต่ผลดีที่เราจะกล่าวเน้นคือ การเก็บภาษีประเภทนี้จะบีบบังคับแบบกลายๆ ให้ผู้ผลิตทั้งหลายต้องปรับตัวปรับกลยุทธ์ เพื่อควบคุมต้นทุนและช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ถ้าโซเดียมมีภาษี ทรานส์แฟทถูกสั่งห้าม ผู้ผลิตก็คงต้องลดปริมาณลงมาไม่ให้มากเกินความเหมาะสม หรือเปลี่ยนไปใช้ส่วนผสมอื่นที่ให้รสชาติทดแทน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของอาหารแปรรูปที่เป็นมิตรกับผู้ซื้ออย่างเรา (Hawkes et al., 2015)

แล้วอีกไม่นานสินค้าที่ถูกกล่าวอ้างว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายและไม่ทำลายสุขภาพคงออกมาวางตลาดกันอย่างล้นหลาม เรียกว่าการตลาดแบบโหนกระแสก็คงไม่ผิด

นโยบายการเก็บภาษีค่าความหวาน ของเค็ม และไขมันทรานส์ จึงใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์กับเรา หากแต่เป็นนโยบายที่ช่วยเราทางอ้อม แต่เราคงต้องเปิดใจกับคำว่า “ภาษี” ให้มากขึ้น

By Suwanna Sayruamyat and Apai Chanthachootoe

หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

อ้างอิง

Hawkes, C. et al. 2015. Smart Food Policies for Obesity Prevention. Lancet (385): 2401-21.

GlobalData. 2017. Sugar tax 2018: examining the global impact on drinks volumes.

online: https://inside-drinks.nridigital.com/inside_drinks_jul18/sugar_tax_2018_examining_the_global_impact_on_drinks_volumes(Access 8 Nov. 18)

BBC. 2018. ข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษีความเค็ม ที่กำลังพูดถึงในขณะนี้. (Online) https://www.bbc.com/thai/thailand-46136054?ocid=socialflow_facebook&fbclid=IwAR0oq6PDDgKTU0ExfC9NVarlCqNx5GSQLREqoXEgUjXj-7ZQYCeak5-eikI#

Photo by Charles Deluvio 🇵🇭🇨🇦 on Unsplash

Leave a Reply