กินข้าวกินปลา

กินข้าวกินปลา

กับข้าวกับปลา

ข้าวใหม่ปลามัน

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

‘ข้าว’ และ ‘ปลา’ ดูจะเป็นสองสิ่งที่อยู่กันมากับวิถีชีวิตของคนไทย 

จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ เวลามีแขกเยี่ยมเยือน แม่มักจะถามว่า ‘กินข้าว กินปลา’ มารึยัง หลัง ๆ จะลดเหลือแค่ ‘กินข้าว’  รึยัง 

กินข้าวรึยัง จึงเป็นคำถามที่เรามักเอื้อนเอ่ย ทักทายเพื่อนสนิทมิตรสหาย

หรือเวลาเราจะนัดเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน เราก็มักจะชวนว่า ‘ไปกินข้าวกัน’ ไม่ได้เจอกันนานแล้วนะ

แต่เราอาจจะไม่ได้กินข้าวจริงๆ เราอาจจะไปกิน สุกี้  ชาบู พิซซ่า ซูชิ หรือแม้แต่ ก๋วยเตี๋ยว เราก็เหมารวมว่า ‘กินข้าว’ แต่จะกินอะไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

‘กินข้าว’ คำพูดติดปากเหล่านี้เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของสังคมไทยที่มีข้าวอยู่เคียงคู่กันมาตั้งแต่อดีต 

ไม่ใช่แค่วิถีชีวิตของคนไทย แต่ข้าว ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมโลกโดยเฉพาะชาวเอเชีย

ข้าว นั้นรากเดิมมาจากข้าวป่า ผ่านการเพาะปลูกปรับปรุงพันธุ์มาอย่างยาวนานนับหมื่นปี

ส่วนปลาในอดีตก็มีอยู่ทั่วไป อยากกินก็จับเอา

แต่ปัจจุบันหากไกลจากวิถีชีวิตเหล่านี้มากขึ้นทุกที

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Bloomberg พาดหัวข่าวเกี่ยวกับข้าวเรื่อง 

“Eating More Rice Could Help Fight Obesity, Study Suggests” 

ข้าว แหล่งคาร์โบไฮเดรตของชาวเอเชียดูจะเป็นทางหนึ่งที่สามารถช่วยชาวตะวันตกต่อสู้กับภาวะโรคอ้วน อันเป็นปัญหาหนักอกของประเทศเจริญแล้วทั้งหลายในปัจจุบัน

ประเด็นนี้ถูกยิบยกขึ้นมาในงานประชุมวิชาการของ The European Congress on Obesity ที่จัดขึ้นที่ Glasgow เมื่อต้นเดือนก่อน เนื่องจากประเทศที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก (150 กรัม/วัน/คน) มีระดับภาวะโรคอ้วนต่ำกว่าประเทศที่ขนมปังเป็นอาหารหลัก ซึ่งกินข้าวเฉลี่ย 14 กรัม/วัน/คน อย่างเห็นได้ชัด [1]

คณะนักวิจัยของ Professor Tomoko Imai ได้ประมาณการว่า หากสามารถเพิ่มการบริโภคข้าวได้ประมาณ 50 กรัม/วัน/คน (ประมาณ 1/4 ถ้วย) สามารถที่จะช่วยลดการกระจุกตัวของภาวะโรคอ้วนได้ประมาณ 1%

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยกัน คนไทยเรายังคงกินข้าวเป็นอาหารหลัก ประชากรมีภาวะน้ำหนักเกิน (BMI =25 kg/m2) ประมาณ 32.6% ภาวะโรคอ้วน 10% [2]

เบา ๆ เพราะสัดส่วนคนที่มีภาวะโรคอ้วนของไทยเรายังน้อยกว่า อังกฤษ (27.8%) และอเมริกา (36.2%) แบบคนละชั้น

แม้ปัญหาโรคอ้วนของไทยเราจะไม่รุนแรงเหมือนประเทศอื่น แต่เราก็ไม่ควรประมาท

ทีมวิจัยของ Professor Tomoko Imai ทิ้งท้ายไว้ว่า การกินข้าวนั้นช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่การกินข้าวมากเกินไปนั้นเสี่ยงต่อการเป็น อ้วนลงพุง (metabolic syndrome) และ ‘เบาหวาน’ นะจ๊ะ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่นำพาเราไปสู่ภาวะโรคอ้วน คือ รูปแบบการใช้ชีวิต 

อยากกินขนมหวานมาก จนไม่กินข้าวในมื้อนั้น แล้วก็บอกตัวเองว่า ได้พลังงานเท่ากัน แบบนี้เค้าเรียกเนียน

แม้เราได้รับพลังงานเท่ากันจริง แต่กระบวนการย่อยนั้นแตกต่าง สารอาหารที่เราได้รับก็แตกต่าง กินมันทุกอย่างนั่นแหละ แต่กินอย่างพอดี นั้นดีที่สุด 

การดูแลตัวเองไม่ให้ไปถึงจุดที่ชุดเรา คับ หรือแน่นปริ แบบว่าใส่ไม่ได้นั้นดีที่สุด 

แต่ก็ไม่ต้องเครียดแบบต้องกินคลีน 

เอาแบบสบายๆ กินแบบพอดี กินมันทุกอย่าง อย่างกินซ้ำซาก เดินทางสายกลางนี่แหละ 

#ด้วยรักและห่วงใยจากทีมEatEcon

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

หากเพื่อนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

#eatecon

ที่มา

https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-04-30/eating-more-rice-could-help-fight-obesity-study-suggests

https://www.who.int/gho/ncd/risk_factors/overweight/en/

Photo by Eiliv-Sonas Aceron on Unsplash

Leave a Reply