ทางเลือกสุขภาพ – ฉลากพูดได้
เมื่อสองสัปดาห์ก่อน เราได้มีโอกาสเข้าไปฟังสัมมนาหัวข้อเรื่อง “Healthier Choice Logo สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย”
ถือเป็นก้าวสำคัญของฉลากพูดได้ ลบจุดอ่อนของฉลากแบบเดิม ๆ ด้วยแนวคิดที่ว่า ฉลากนี้จะออกให้ก็ต่อเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นดีต่อสุขภาพกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นในกลุ่มเดียวกัน
ฉลากทางเลือกสุขภาพ หรือ Healthier choice นั้นถือเป็นฉลากที่บอกกับเราว่า สินค้าที่เราอยู่ในมือนั้นดีต่อสุขภาพ ไม่ต้องวุ่นวายกับการอ่านฉลากโภชนาการ ไม่ต้องสับสนกับสีเขียวเหลืองแดง (กรณีเป็นฉลากไฟเขียวไฟแดง)
ก่อนหน้านี้ไทยเราก็ได้บังคับให้มีการใช้ฉลาก GDA ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม หลายคนคงสงสัยเหมือนเราว่าทำไมถึงไม่ทำเป็นฉลากไฟเขียวไฟแดง
คำตอบที่ได้คือ การตกลงเกณฑ์หรือเส้นแบ่งระหว่างเขียว เหลือง และแดง คืออุปสรรคสำคัญ อีกทั้ง เมื่อกำหนดได้ ปัญหาตามมาคือ ถ้าสินค้าตัวหนึ่งมีฉลากทั้ง 3 สีอยู่บนฉลาก เช่น ไขมันเป็นสีเขียว ไขมันอิ่มตัวเป็นสีเขียว น้ำตาลเป็นสีแดง เกลือเป็นสีเหลือง คำถามคือ สรุปว่ามันดีต่อสุขภาพหรือไม่
แต่ฉลากทางเลือกสุขภาพนี้ ข้ามปัญหาเหล่านี้ไป
เพราะฉลากทางเลือกสุขภาพนี้ ช่วยบอกผู้บริโภคว่าค่าของไขมัน น้ำตาล และเกลือ ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น โซเดียมต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6,000 มก./100 มล. หรือน้ำตาลต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 กรัม/100 มล.
ผู้บริโภคไม่ต้องมาปวดหัวกับตัวเลข ทางทีมงานรับรองตรวจสอบมาให้เรียบร้อย เป็นมิตรกับผู้บริโภคอย่างเราสุด ๆ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะกินหรือดื่มแบบไม่มีลิมิตชีวิตเกินร้อยนะจ๊ะ กินแต่น้อย แต่พองาม แต่พอดี ไม่อ้วนพีให้หนักใจ
อ้ออีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก เจ้าฉลากทางเลือกสุขภาพนี้เป็นแบบสมัครใจ คือ ผู้ประกอบการรายใดสนใจ สามารถไปติดต่อขอรับการตรวจรับรองได้ ปัจจุบันฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
แต่ในอนาคตคงมีค่าดำเนินการจำนวนหนึ่ง เนื่องจากต้องมีทีมตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็เป็นต้นทุนค่าดำเนินการที่ทาง อ.ย. ต้องรับผิดชอบอยู่ในปัจจุบัน
ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ยื่นของการรับรองได้จำนวน 9 กลุ่ม รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,158 ผลิตภัณฑ์ จาก 180 บริษัท ผ่านการรับรอง ติดโลโก้และจำหน่ายแล้วจำนวน 805 ผลิตภัณฑ์ จาก 133 บริษัท
ความมุ่งหวังของทีมปั้นฉลากทางเลือกสุขภาพของหน่วยรับรองการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ คือ ความฝันที่อยากเห็นคนไทยรู้จัก เชื่อมั่นในฉลาก และใช้ฉลากทางเลือกสุขภาพนี้ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคกลุ่ม NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
เพราะปัจจุบันงบประมาณด้านสาธารณสุขหมดคิดเป็น 2.2% ของ GDP เกือบทั้งหมดของงบประมาณไปกับการรักษาประมาณ 18,376 บาท/คน/ปี แต่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการป้องกันเพียง 12 บาท/คน/ปี [1]
และค่ารักษาส่วนใหญ่ก็เป็นการรักษาผู้ป่วยโรคในกลุ่ม NCDs นี่แหละ และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยมากถึงร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของคนไทย
โจทย์ข้างต้นไม่ได้ง่ายที่จะแก้ เราต้องช่วยกัน
ขอขอบคุณทีมงานที่พยายามผลักดันส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา และขอบคุณสำหรับแผนงานในอนาคตคน
ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพี่อเราคนไทยทุกคนจะมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจาก NCDs
ปล. หากผู้ประกอบการสนใจสมัครขอใช้สัญลักษณ์โภชนาการ สามารถส่งใบสมัครขอรับการรับรองได้ที่มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยดาวน์โหลดใบสมัคร และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://healthierlogo.com หรือ www.ทางเลือกสุขภาพ.com
#ด้วยรักและห่วงใยจากทีมEatEcon
#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน
หากเพื่อนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com
#eatecon
ที่มา:
[1] http://dental2.anamai.moph.go.th/download/article/03%20รายงานผลิตภัณฑ์%2015%20มิย%2060kpi19.pdf
[2] http://www.thai-tba.or.th/admin/myfile/2019-06-13-13-48-39-Healthier%20in%20Thai%20Beverage%20Propax2019%20.pdf
[3] http://www.thai-tba.or.th/download.php
[4] https://www.hfocus.org/content/2016/09/12648
ภาพจาก http://www.foodfocusthailand.com/wp-cms/2017/03/