กินข้าวอย่างไร ไม่ให้อ้วน ตอนที่ 2

จากบทความตอนที่ 1 เล่าถึงวิธีการกินข้าวและเลือกข้าวที่ช่วยเรากินข้าวแล้วไม่อ้วน

ตอนนี้เราจะขอเล่าเทคนิคอย่างง่าย ๆ แถมมีงานวิจัยรองรับ มาเล่าสู่กันฟัง

วิธีแรก ลดขนาดจานและชาม

ศาสตาจารย์ Brian Wansink แห่ง Cornell University ได้ออกแบบการทดลองด้านพฤติกรรมการรับประทานขึ้นมา 4 การทดลอง เพื่อที่จะยืนยันว่า ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่กระตุ้นให้เรา ซื้อ ใช้ และกิน มากกว่าภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก [1]

Wansink ให้อธิบายพฤติกรรมที่เกิดขึ้นว่า เรามักจะมองว่าต้นทุนของขนาดใหญ่นั้นถูกกว่า ดีกว่า หรือคุ้มค่ากว่า ส่งผลให้เรามีแนวโน้มที่จะ ซื้อ ใช้ และกิน เยอะขึ้นนั่นเอง

การทดลองในห้องแล็บของ Wansink ศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้จาน ถ้วย แก้ว และช้อนขนาดใหญ่ ซึ่งพบว่า คนเรากินเยอะขึ้นจริง ๆ เมื่อเราใช้ภาชนะใหญ่ เพราะเราเสียดาย 

และแม้ในว่านักวิจัยจะแจ้งให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทราบว่า ภาชนะที่ท่านใช้อยู่ใหญ่กว่าปกตินะ คือบอกเป็นนัย ๆ โปรดระวังกินเยอะ นะจ๊ะ แต่สุดท้ายผู้เข้าร่วมก็กินเยอะมากอยู่เหมือนเดิน 

ดังนั้น กลับไปดูจานสิว่าใหญ่ไปหรือเปล่า ถ้าใหญ่ละก็ ลดขนาดภาชนะของคุณซะ โดยเฉพาะจานและช้อน !!!

ข้อสำคัญต่อมาคือ อย่าเสียดาย เพื่อน ๆ เราหลายคนเป็นพวกชอบเสียดาย ต้องกินให้หมด 

เก็บใส่กล่องแช่ตู้เย็นเอาไว้มื้อถัดไปได้ค่ะ ไม่ต้องเสียดาย  

นอกจากนี้ Wansink ยังได้วิจัยต่อถึงปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เรากินเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รูปร่างของจาน แสง การพบปะสังสรรค์ และความหลากหลายของอาหาร ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เรากินเยอะโดยไม่รู้ตัวแม้ว่าเราตั้งใจจะจำกัดปริมาณก็ตาม [2]

สภาพแวดล้อมข้างต้นคุ้นมั้ยว่ามักเป็นที่ไหน … 

เดาไม่ยากเนอะ … ใช่ค่ะ ร้านอาหาร นั่นเอง สถานที่เรามักชอบนัดกินข้าวกัน ยิ่งร้านหรู ดูดี ดูแพง องค์ประกอบครบ !!!

แค่มองจากภายนอก จะเห็นถึงการตกแต่งร้านที่สวยงาม เปิดเพลงเบา ๆ แสงไฟอ่อน ๆ กลิ่นอโรมาหอม ๆ การจัดวาง จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ รูปแบบภาชนะที่สวยเด่นแปลกตา เหล่านี้คือสิ่งที่ร้านอาหารทำไว้รอให้คุณสั่งอาหารเยอะ ๆ และช่วยคุณเจริญอาหาร 

แล้วถ้าคุณไปกับคนรู้จัก เพื่อนสนิทมิตรสหาย ตอนสั่งก็เต็มที่ ตอนกินไม่ต้องพูดถึง กินเพลินจนลืมอิ่มแน่นอน พอนึกได้ก็อิ่มจนถึงคอ 555

Photo by Nick Karvounis on Unsplash

สำหรับใครที่เป็นพวกขี้เบื่ออาหารแบบเรา เหนื่อยมาก ๆ มักจะกินไม่ค่อยลง ร้านอาหารเหล่านี้ช่วยได้ดีทีเดียวค่ะ แต่จะไม่ค่อยดีกับเงินในกระเป๋าเราสักเท่าไร

แต่…ใครที่ไม่มีปัญหาเหล่านี้ เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงจะดีกว่า เพราะคุณกำลังจ่ายเงินเพื่อซื้อความอ้วนค่ะ

เวลาไปร้านอาหาร เคยสังเกตมั้ยว่า หลายร้าน พนักงานมักจะรีบเก็บภาชนะที่กินหมดแล้ว คุณรู้หรือไม่ว่า ทำไม?

มันเป็นจิตวิทยาหนึ่งค่ะ เพราะเรามักไม่เคยนับหรือจำว่าเรากินอะไรไปบ้าง กินไปมากเท่าไร พนักงานหลายแหล่งทำหน้าที่ได้ดีซะด้วย ทำให้เราไม่เห็นซากอาหารทั้งหลายที่เรากินไป เก็บเร็วสุด ๆ และเราก็กินไปเรื่อย ๆ กินเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนี้ หากพนักงานจะมาเก็บจาน ก็ขอให้ปฏิเสธแล้วบอกแบบนิ่ง ๆ ว่า อย่าพึ่งเก็บ วางไว้บนโต๊ะเช่นนั้นแล เอาไว้เตือนตัวเองว่ากินไปแค่ไหนแล้ว

แต่ร้านอาหารก็ไม่ได้มีแค่ลูกเล่นแค่นี้

ตัวอย่าง ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ …สิ่งที่เราเห็นแทบทุกร้านคือ ทุกโต๊ะจะมี “ขนมถ้วย” วางอยู่บนจานประมาณ 4 คู่ ใครหักห้ามใจไม่ได้ ก็จัดไปก่อนหนึ่งคู่ระหว่างรอก๋วยเตี๋ยวมาเสิร์ฟ พอเสร็จก็ขออีกสักคู่ เบา ๆ ครบเลยทั้งคาวหวาน ยิ่งเป็นคอขนมไทยแบบเรา รับรองขาดไม่ได้

ขอบคุณภาพจาก https://www.wongnai.com/restaurants/233071KD-ก๋วยเตี๋ยวเรือพระนคร-เดอะมอลล์บางกะปิ/photos/6e09a45194754cb28c4cae7a218e368a

หรือร้านอาหารบุฟเฟต์ … เราจะเห็นจานหรือถ้วยขนาดเล็กกว่าปกติ เพื่อให้ลูกค้าอย่างเราตักได้น้อยลง ทำให้เราต้องเดินหลายรอบ เราก็จะกินได้น้อยลง ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนได้

สรุปเทคนิคง่าย ๆ สำหรับกินข้าวอย่างไรไม่ให้อ้วน ตอนนี้

  1. ลดขนาดภาชนะ เช่น จาน ชาม ช้อน ถ้วย
  2. เก็บซากภาชนะทั้งหลายไว้ดูต่างหน้าจนกว่าจะกินเสร็จ

ที่แนะนำนี่ไม่ใช่ว่าจะแค่อ่านงานวิจัยแล้วมาเล่าเฉย ๆ นะจ๊ะ เราได้ทดลองกับตัวเองและคนรอบข้างมาแล้ว ได้ผลจริง ๆ จึงนำมาบอกต่อ

#ด้วยรักและห่วงใยจากทีมEatEcon

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

หากเพื่อนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

ที่มา

[1] Wansink, B. (1996). Can package size accelerate usage volume? Journal of marketing, 60, 1-14.

[2] Wansink, B. (2004). Environmental factors that increase the food intake and consumption volume of unknowing consumers. Annu. Rev. Nutr., 24, 455-479.
Photo by Chance Anderson on Unsplash

Leave a Reply