กินข้าวอย่างไรไม่ให้อ้วน ตอนที่ 3

ผ่านไปสองตอนก่อนหน้ากับซีรี่ย์กินข้าวอย่างไรไม่ให้อ้วน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้อ่านบทความของ CNN Travel ยกให้ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) เป็นอันดับ 8 ของวัฒนธรรมอาหารที่ดีที่สุด [1]

ถามว่าทำไม?

CNN travel ให้เหตุผลว่า อาหารไทยในหนึ่งจานน่าดึงดูด เพราะมีสมุนไทยและเครื่องเทศหลากหลาย มีรสชาติที่ซับซ้อน เปรียบเหมือนกำลังฟังเพลงออเคสตรา

ในหนึ่งจานมีรสเผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม มัน ครบทุกรสชาติ 

ยิ่งอ่านยิ่งตัวลอย

3 เมนูซึ่งเป็นที่มาของการยกย่องนี้คือ ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น และส้มตำซึ่งเป็นที่ติดอกติดใจของชาวต่างชาติทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมาเยือนและลิ้มลองอาหารไทย

นอกจากนี้ยังมี ผัดไทย แกงเขียวหวาน ข้าวผัด น้ำตกหมู [2]

Image by Eak K. from Pixabay 

อาหารไทยแต่ละเมนูได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย มาเลเซีย รวมถึงอาหารไทยพื้นบ้านหรือแม้แต่สูตรชาววัง ได้รังสรรค์รสชาติได้หลากหลายมิติจนทำให้อาหารไทยเป็นที่ยอมรับ

ประกอบกับแดดอันร้อนแรงซึ่งคนไทยไม่ชอบ แต่แดดที่ชาติตะวันตกไม่ค่อยจะมี จึงกลายเป็นของดีในมุมของชาวต่างชาติทั้งหลาย บวกกับอาหารข้างทางที่สามารถซื้อหาได้ง่ายเรียกได้ว่าตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกับรอยยิ้มหวานของแม่ค้า นี่คือสวรรค์ของนักเดินทาง

องค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นนี่แหละ ที่ทำให้เรา อ้วน 

  • อ้วน เพราะ อร่อยทุกอย่าง
  • อ้วน เพราะ มีให้เลือกหลากหลาย
  • อ้วน เพราะ รสชาติจัดจ้าน
  • อ้วน เพราะ หากินได้ตลอดเวลา

สสส. รณรงค์สัดส่วนการกินข้าวในแต่ละมื้อว่า ในหนึ่งจานเรานั้น ควรมีข้าว 1 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน และผัก 2 ส่วน ภายใต้สโลกนกว่า “ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง”

คำถามคือ เรากินอย่างไร

วัฒนธรรมการกินข้าวของคนไทยนิยมกินข้าวร่วมกัน เราจะมีสำรับกับข้าวอยู่ตรงกลาง ส่วนจานข้าวก็วางอยู่ตรงหน้าแบบจานใครจานมัน กินไปคุยกันไป เพลิน ๆ เพลินไป เพลินมา เติมข้าวไปสามรอบ 555 นี่แหละประเด็น 

และวัฒนธรรมการกินของราไม่ได้ตักทุกอย่างมาใส่ในจานแล้วแบ่งเป็นส่วน ๆ เรานั่งล้อมวง ตักกับข้าวที่วางอยู่ตรงกลางมาใส่ในจานส่วนตัวกินทีละคำ นี่ก็หนึ่งสาเหตุที่ทำให้เรากินมากเกินความต้องการ 

อีกปัญหาสำคัญของคนไทยคือ คนไทยติดรสจัด เน้นเครื่องปรุงมาก มากจนกลบรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบ 

การติดรสจัดนี่ก็แก้ยาก ค่อย ๆ ลด เพื่อให้ลิ้นของเราคุ้นเคย

ปัจจุบันมีเทรนด์การบริโภคแนวใหม่ที่ประเทศเดนมาร์กคือ กินแบบปรุงแต่งน้อยที่สุด เลือกใช้วัตถุดิบที่มีตามฤดูกาล เพราะจะมีรสชาติที่อร่อยกว่าไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรุงมาก แล้วเลือกเฟ้นวัตถุดิบที่เข้ากันได้ดี ช่วยชูรสชาติอาหาร

หากให้เรากินแบบนี้จะยากสักหน่อย เพราะต้องเป็นคนที่เข้าใจรักในการทำอาหาร รู้จักวัตถุดิบและองค์ประกอบของรสชาติของวัตถุดิบเป็นอย่างดี แต่ลองดูก็คงจะไม่เสียหาย

แต่หากเราย้อนกับมาดูอาหารไทยดั้งเดิม เราจะพบว่า อาหารไทยเรานั้นไม่ธรรมดา ความพิถีพิถัน และการเลือกส่วนประกอบของแต่ละเมนูนั้นถึงขั้นต้องยกนิ้วให้ 

ขอยกตัวอย่าง “น้ำพริกกะปิ ปลาทู” เมนูโปรดที่แสนจะธรรมดา แต่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ทั้งโปรตีน ไขมันจากปลา วิตามินและเกลือแร่จากสารพัดผักทั้งผักสด ผักลวก หรือจะเป็นผักต้ม บ้างก็ชุบไข่ทอด อันนี้แหละของแถมที่ต้องระวัง

แต่แรกเริ่มเดิมทีไม่มีผักชุบไข่ทอด เรามาคิดสร้างสรรค์กันภายหลัง นี่แหละตัวเสริมอ้วน ผักชุบไข่ทอดนี่ตัวดีเลย อมน้ำมันสุดๆ หากไปเรากินข้าวนอกบ้าน แล้วสั่งเมนูน้ำพริก ถ้ามีผักชุบไข่ทอดที่ถูกจัดมาอยู่ในชุดแล้ว เราจะเอาไข่ทอดออกแล้วกินแต่ผัก 

แต่ถ้าเป็นไข่ทอดชะอมนี่ก็จะลำบากหน่อย

สำหรับปลาทูทอด ยิ่งตัวเล็ก ทอดให้หัวปลาทูกรอบ ๆ กินได้ทั้งหัวเลย อร่อยมาก แคลเซียมเพียบบบบ

นอกจากนี้ น้ำพริกกะปิถ้วยเล็ก ๆ นี่ก็ต้องระวัง เพราะอุดมไปด้วยโซเดียม เนื่องจากเต็มไปด้วยกะปิและน้ำปลา ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ เมนูนี้จึงถูกจัดอยู่ในที่มีโซเดียมสูง ต้องระวังไม่ให้กินมากเกินไป 

ทางแก้ของเราคือ น้ำพริกกะปิต้องเผ็ด จะได้ใส่น้อย ๆ 

อีกทางช่วยคือ หลีกเลี่ยงช้อนตักน้ำพริก เอาผักลงไปจิ้มเลย เราก็จะได้โซเดียมน้อยกว่า หรือไม่ก็เอาแค่ช้อนไปแตะๆ แบบไม่ต้องตัก ก็จะช่วยลดได้มาก 

เรายังนึกถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สำหรับเราเมนูนี้เป็นเมนูที่มีสเน่ห์อย่างบอกไม่ถูก หลายครั้งที่มีอาหารเรียงรายวางอยู่ตรงหน้าให้เลือกกิน แต่กลับอยากกินแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสักถ้วย 

แต่มักจะเป็นผู้พ่ายต่อผงชูรส เวลากินก็จะใส่ผงปรุงแค่ครึ่งห่อและกินแต่เส้น ไม่ซดน้ำ 

หากใครที่ชอบรสจัด ก็อาจจะใส่เครื่องปรุงทั้งห่อ แล้วกินแต่เส้นเหมือนเรา ก็ช่วยลดโซเดียมได้มาก

เราโชคดีมากที่ได้อยู่ในประเทศที่มีอาหารหลากหลาย รสชาติไม่เป็นรองใคร แต่ด้วยความที่เราตามใจปากเรามากเกินไปหน่อยนี่แหละที่ทำให้เราอ้วน คำแนะนำสำหรับตอนนี้ก็คงไม่ต่างจากคำแนะนำของ สสส. คือ ลดหวาน มัน เค็ม

คำแนะนำต่อมาคือ อย่าสะสมอาหารของโปรดไว้ในตู้เย็น หรือวางไว้ใกล้มือ โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน การสร้างอุปสรรคในการกินบ้างก็จะช่วยเราได้ส่วนหนึ่งค่ะ ประมาณว่าอยากกินต้องออกแรงสักหน่อย

แต่หากว่าเพื่อน ๆ ถือ คติ “อยากกินต้องได้กิน” อันนี้อุปสรรคใด ๆ ก็มิอาจขวางความอ้วนของท่านได้ 555

เรายังสนับสนุนให้กินทุกอย่างที่ชอบ แต่ขอให้กินให้หลากหลาย ลองเมนูใหม่ ๆ เพิ่มสีสันของมื้ออาหาร เพียงแต่ ลดหวานสักนิด ลดเค็มสักหน่อย ของทอดไม่ต้องกินบ่อย ๆ แค่นี้ก็ช่วยเราห่างจากคำว่า อ้วน ได้ค่ะ

#ด้วยรักและห่วงใยจากทีมEatEcon

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

หากเพื่อนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

ที่มา

[1] https://edition.cnn.com/travel/article/world-best-food-cultures/index.html

[2] http://www.nationmultimedia.com/detail/Travel_log/30321601

Image by joe puengkaew from Pixabay 

Leave a Reply