มะพร้าวทึนทึก หัวใจความอร่อย

หลังจากวันหยุดยาวที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปทำบุญเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา จึงได้เห็นอาหารทั้งคาวหวานโดยเฉพาะขนมไทยมากมายหลายชนิดที่สาธุชนได้พร้อมใจกันนำไปใส่บาตร เช่น ขนมเปียกปูน ขนมตาล ขนมต้ม ขนมถั่วแปป และ ขนมสอดไส้ ฯลฯ เกือบทุกชนิดจะมีมะพร้าวซึ่งถือว่าเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญของขนมไทยเลยก็ว่าได้ 

ขนมไทยเราใช้มะพร้าวในหลายรูปแบบไม่ว่า กะทิ น้ำมะพร้าว หรือเนื้อมะพร้าว ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

ที่มองไม่เห็นก็มักจะใช้น้ำมะพร้าวหรือกะทิ และที่มองเห็นก็มักจะเป็นมะพร้าวที่ใช้โรยหน้าหรือทำไส้ขนมซึ่งนิยมใช้ ‘มะพร้าวทึนทึก’

มะพร้าวทึนทึกคือ มะพร้าวกึ่งอ่อนกึ่งแก่ สีเปลือกมะพร้าวจะยังเป็นสีเขียวมีสีน้ำตาลบ้างประปราย สีของกาบมะพร้าวเป็นสีเหลืองนวล และสีของกะลายังเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ยิ่งเป็นมะพร้าวน้ำหอมด้วยแล้วยิ่งอร่อย เพราะเนื้อจะนิ่มกว่าและหอมกว่า ทำขนมอร่อยสุด ๆ

ภาพจาก https://www.prachachat.net/economy/news-180684

มะพร้าวทึนทึกถือเป็นทีเด็ดของขนมไทย ช่วยให้เนื้อสัมผัสนุ่ม ละมุนลิ้น ไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป ด้วยเหตุนี้ ร้านขนมไทยเจ้าดังทั้งหลายจึงขาดมะพร้าวทึนทึกไม่ได้ และคนอยากทำขนมไทยก็อยากได้มะพร้าวทึนทึกเช่นกัน 

ตลาดมะพร้าวทึนทึกจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ง่ายนักเมื่อเทียบกับการขายเนื้อมะพร้าวหรือกะทิ เพราะมะพร้าวทึนทึกมีระยะเวลาเฉพาะของความอร่อย 

สเน่ห์ของขนมไทยอยู่ที่ความปราณีต ละเมียดในการคัดสรรวัตถุดิบ และข้อตอนการทำที่ละเอียดอ่อน

หลายครั้งที่เรากินขนมไทยแล้วต้องผิดหวังเพราะเนื้อมะพร้าวแก่เกินไป รสสัมผัสแข็งกระด้าง ฝืดคอ พาลทำให้รสความอร่อยของขนมคำนั้นหายไปในทันที

ด้วยเหตุนี้ การตลาดมะพร้าวทึนทึกจึงน่าสนใจ

ตอนนี้เรามีการทำตลาดมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ กะทิ แต่ตลาดมะพร้าวทึนทึกนั้นยังไม่ค่อยเห็นมากนัก มีการขายออนไลน์อยู่บ้าง 

หากอยากได้มะพร้าวทึนทึกไปทำขนม ก็ต้องสั่งกันไว้ก่อน จะไปซื้อแบบมะพร้าวขูดทั่วไปก็จะหายากสักหน่อย

รูปแบบการขายก็มีหลายแบบทั้งขายเป็นลูก ปลอกเปลือกออกบางส่วน ปลอกเปลือกออกจนหมด ขูดเป็นเส้นฝอย และแบบขูดเส้นฝอยแช่แข็ง 

หากเป็นมะพร้าวทึนทึกที่เป็นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมก็จะแพงหน่อย ขายทั้งลูกราคาประมาณ 10-15 บาท/ลูก ถ้าขูดเส้นฝอยจะขายเป็นกิโลกรัมราคาก็จะสูงถึง 130 บาท/กิโลกรัม ถ้าเป็นพันธุ์มะพร้าวแกงถูกหน่อยก็ขายเท่ากับมะพร้าวขูดสำหรับคั้นกะทิ 50-70 บาท/กิโลกรัม

พอกล่าวถึงเรื่อง ‘ราคา’ ก็อดนึกย้อนไปในช่วงปี 2560-2561 ที่ราคามะพร้าวตกต่ำมากอันเนื่องจากการอนุญาตให้มีการนำเข้าผลมะพร้าวเพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมกะทิกล่องสำเร็จรูป 

แม้ว่าปัจจุบันจะมีการควบคุมการนำเข้าแต่รูปแบบการนำเข้าจะเปลี่ยนจากนำเข้าผลมะพร้าวมาเป็นนำเข้ากะทิแทน ตามข่าวที่ออกมาก็เทียบได้ประมาณ 40 ล้านลูก จึงทำให้ราคาขายมะพร้าวที่ชาวสวนได้รับไม่ได้สูงดังหวัง [1]

ภาพจาก https://www.matichon.co.th/region/news_1029137

มาตรการที่รัฐใช้แก้ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำเมื่อต้นปี 2562 คือ การเปิดโต๊ะรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้งจากประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญของไทย ใช้งบประมาณไป 33 ล้านบาท [2]

นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมอื่นเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้า เช่น การขอนุญาตเคลื่อนย้ายมะพร้าวตั้งแต่ 7 ตันขึ้นไป (คิดเล่นๆ ขนแบบกองทัพมดสิจะได้ไม่ต้องขอ) 

จะว่าไปสาเหตุของราคามะพร้าวตกต่ำก่อนหน้านี้เป็นผลพวงมาจากโรคระบาดมะพร้าวปี 2558 สวนมะพร้าวเสียายเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่ใช้มะพร้าวทั้งหลายขาดวัตถุดิบสำคัญจึงต้องขออนุญาตเพื่อนำเข้า สถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นเมื่อปี 2561 มะพร้าวในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ควบคุมการนำเข้า ราคาจึงตกต่ำจนเรียกได้ว่าปล่อยทิ้งเสียจะดีกว่าที่จะทำอะไร

แต่หากถามในมุมของผู้บริโภค เราไม่รู้เลยว่าราคาหน้าสวนจะถูกหรือแพง เพราะซื้อราคาเดิมตลอด 555

วันนี้ราคามะพร้าวแก่ที่ตลาดไทยประมาณ 12-15 บาท ซึ่งยืนราคานี้มาตั้งแต่ช่วงนี้ของปีก่อน ราคามะพร้าวทึนทึกก็ไม่ต่างกัน

หากเพื่อน ๆ สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

ที่มา

[1] https://www.thairath.co.th/news/local/central/1550711

[2] https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1472878