พัก คือ พัก: Work Life Balance

สำหรับคนที่ทำงานตลอดเวลาบางครั้งเรากลับรู้สึกผิดที่เราไปเที่ยวทั่งที่งานยังไม่เสร็จ ในหัวคิดเรื่องานตลอดเวลา อยากจะหยุดคิดแต่สมองไม่ยอมหยุด จนรู้ตัวว่าภาวะเครียดเริ่มก่อตัว คงต้องหยุดพัก แบบ พัก คือ พัก เป็นจังหวะพอดีที่ได้วันหยุดมา 3 วัน

ช่วงเวลาของวันหยุด 3 วันที่ผ่านมาทำให้เราได้ หยุด พัก และวางงานไว้ได้ ต้องขอบคุณหนังสือ Work Life Balance ด้วยการหยุดพักจริง 

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาครั้งแรกในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผานมา เวลาเข้าร้านหนังสือเรามองผ่านหลายครั้ง ไม่คิดที่จะซื้อ เพราะคิดว่าเรา เอาอยู่ แต่…ครั้งนี้มองหนังสือเล่มนี้แตกต่างไป อยากอ่านหนังสือเบา ๆ แบบได้อะไร แต่ไม่เครียด ซึ่งก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจซื้อและหยิบมาอ่านได้ถูกเวลา

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย นายแพทย์มาซากิ นิชิดะ แปลโดย พนิดา กวยรักษา นิชิดะเป็นอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยวาเซดะ 

นิชิดะบอกเล่าเหตุการณ์ที่ช่วยให้เราสังเกตตัวเองว่าเราเครียดอยู่รึเปล่า เครียดไปหรือไม่ บอกวิธีการหยุดพักง่าย ๆ ด้วยการปรับทีละนิด ทำให้เรารู้สึกว่า ทำเถอะ ไม่เสียหายอะไร เช่น ลุกออกจากโต๊ะแค่ 5 นาที แล้วกลับต่อ ดีกว่าดันทุรังทำไป

นอกจากงานแล้ว สาเหตุของความเครียดก่อตัวท่ามกลางข้อมูลมหาศาลที่ถาโถม ทำให้เราตั้งคำถามขึ้นมาว่า เราจำเป็นต้องรู้มันทั้งหมดนี่เลยเหรอ

ทุกวันนี้ข้อมูลเข้าถึงง่ายเหลือเกิน ง่ายเสียจนทำให้ไม่มีเวลานั่งนิ่งไปอยู่กับตัวเอง หรือแม้แต่นั่งจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก

เดิมทีเรามีมือถือไว้รับสายหรือโทรออก ต่อมาเรามีมือถือไว้รับข้อความทั้งภาพและเสียง และตอนนี้แม้แต่นาฬิกาก็สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลา 

สมแล้วที่เรียกว่าเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร 

จนบางครั้ง…ไม่สิ…หลายครั้ง มันทำให้เราต้องถามตัวเองอยู่บ่อย หรือต้องห้ามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า พอเถอะ วันนี้รับข้อมูลมาพอละ หรือบางทีก็บอกว่า เราไม่ต้องรู้บ้างก็ได้ 

ข้อเสียอย่างมากสำหรับคนที่พฤติกรรมแบบ “รอไม่ได้” หรือเป็นอคติที่เรียกว่า Precrastination เช่น อีเมล์เข้าปุ๊บ ตอบปั๊บ ไลน์เด้ง ต้องอ่าน กลัวอีกฝ่ายจะรอ หรือทุกอย่างต้องเสร็จ แบบทำให้เสร็จ ๆ อดทนทำไป ซึ่งตรงข้ามกับพฤติกรรมของการผลัดวันประกันพรุ่ง หรือ Procrastination bias

ถีงแม้พฤติกรรมอคติแบบรอไม่ได้จะมีข้อดีมาก ทำให้เราเป็นกระตือรือร้น แต่มันทำให้เราตึงและเครียดเกินไป ถ้าทุกอย่าง ‘รอไม่ได้’

เมื่อรู้ตัว เราจะพยายามลดความวุ่นวายลง เตือนตัวเองว่า บางอย่างรอได้นะ รอไปก่อน เรียกว่าพยายามใช้พฤติกรรมของการผลัดวันประกันพรุ่งบ้าง ขี้เกียจบ้างก็ได้ 55

ความสงบค่อย ๆ กลับคืนมา แล้วออกไปหาของอร่อย ๆ กิน ^ ^

แม้ว่าเราจะชอบกินของอร่อย ๆ แต่บางครั้ง…แค่…บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสักห่อก็พอแล้ว

เคยเป็นมั้ย เมื่อไม่รู้จะกินอะไร หันไปหันมา…บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปละกัน

หรือบางครั้ง ก็อยากกินแค่…บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

สมัยตอนอยู่หอ สิ่งหนึ่งที่ต้องมีติดหอคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราก็ซื้อนะ แต่เชื่อมั้ยว่าบางครั้งบะหมี่ห่อนั้นยังคงวางอยู่ที่เดิม วางจนหมดอายุ 555

หลายคนใช้วันหยุดไปที่แปลกใหม่ หรือสรรหาของอร่อย ๆ ทุกวันนี้มีช่องทางช่วยคัดสรรของอร่อยเพียบ ทั้ง Wongnai Google, TripAdvisor, Food Panda, Grab food, Line man, Get… จนไล่มาถึง Retty แอพน้องใหม่จากญี่ปุ่น

บางแอพให้ข้อมูล ข้อความรีวิว และกระตุ้นด้วยรูปภาพ แอพไหนรูปสวยจะได้เปรียบ 

บางแอพสั่งอาหารได้ ส่งตรงถึงที่ ทันใจ ใครชอบแอพไหนก็ตามสะดวก

แต่ปัญหาที่เราเจอคือ เวลาสมองมันตื้อ ไม่รู้จะกินอะไร พอมีตัวเลือกมาก กลับเลือกไม่ได้ เพราะเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า Paradox of choices แค่ 3 เลือกก็เริ่มคิดหนักละ และหลายครั้งการมีทางเลือกที่มากเกินไป เราตัดสินใจ…ไม่เลือกเลยละกัน

การตัดสินใจไม่เลือกเลยนี้เหมือนกับการทดลองของ  Lyengar & Lepper (2000) ที่บอกว่าทางเลือกที่มากเกินไป ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสเพิ่มขึ้นมากจนส่งผลต่อการตัดสินใจไม่เลือกเลยสักทาง 

จะว่าไปแล้วแล้ว เมื่อนึกย้อนไป เราก็ไม่ค่อยได้ใช้แอพเหล่านี้ช่วยสักเท่าไร เราใช้เพื่อนช่วยซะมากกว่า เพราะเพื่อนรู้ดีว่าเพื่อนชอบอะไร ถ้าไม่อร่อยมีบ่นกลับ 555

ที่เราไม่ค่อยใช้แอพช่วย เพราะแอพลิเคชันทั้งหลายใช้ Hooked model ด้วยการสร้างสิ่งกระตุ้นให้เราสนใจ (Trigger) จากนั้นจะเลือกสรรการกระจำที่ง่ายๆ (Action) เช่น การเลื่อน News Feed ในเฟสบุค เราก็จะได้คลายเหงาจากการเห็นความเป็นไปของเพื่อนซึ่งเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้งาน (Reward) และเมื่อเราติดจนงอมแงม แบบขาดไม่ได้ ก็จะกระตุ้นให้ผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ตอบแทนกลับ (Investment) เช่น การกดไลค์ กดแชร์ ในเฟสบุค แล้วก็ไปกระตุ้นเพื่อน ๆ ในเฟสเราต่อ

จะเห็นว่า Trigger, Action, Reward, and Investment วนเป็นลูบไม่รู้จบ รู้ตัวอีกทีติดซะแล้ว มือถือจึงแทบไม่ห่างตัว

วันไหนลืมมือถือแทบจะลงแดง แต่อีกด้าน มันกลับเป็นวันที่สงบดีนะ สงสัยอาจจะต้องมีวันปลอดมือถือสักวันสองวันน่าจะดี 

ตอนนี้เรากำลังฝึกรักษาสมดุลของพฤติกรรมแบบรอไม่ได้ กับพฤติกรรมแบบผลัดวันประกันพรุ่ง เพื่อให้ Work Life Balance เพื่อให้ พัก คือ พัก ^ ^

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

หากเพื่อน ๆ สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

#EatEcon

ที่มา 

[1] มาซากิ นิชิดะ. Work Life Balance ด้วยการหยุดพักจริง ๆ / นายแพทย์มาซากิ นิชิดะ: เขียน; พนิดา กวยรักษา: แปล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ช็อร์ตคัต อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2562.

[2] Lyengar, S. S. & Lepper, M. R. (2000). When choice is demotivating: Can one desire too much of a good thing? Journal of personality and social psychology, 79, 995.

[3] https://techsauce.co/tech-and-biz/4-steps-of-hook-to-design-engaging-product/

Photo by Kari Shea on Unsplash