โพรไบโอติกส์ ช่วยคุณได้ แต่บางครั้งมันก็ไม่ใช่

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตยังคงเป็นปัจจัยแรกหากเราต้องการจะแก้ปัญหาเรื่อง ‘อ้วน’ หรือน้ำหนักตัวที่ไม่พึงประสงค์ แต่บางครั้งเราปรับการกินแล้ว ออกกำลังกายก็แล้ว สุดท้ายน้ำหนักก็ไม่ได้ลดลงหรือดีไม่ดี เพิ่มขึ้นมาให้เจ็บใจอีกต่างหาก 
  • หลายคนรับประทานโยเกิร์ต เพื่อสุขภาพ หลายยี่ห้อมีคำโตๆ ว่า “โพรไบโอติกส์” (Probiotics) เพื่อบอกว่าโยเกิร์ตกระปุกนี้มีอะไรดี ‘โพรไบโอติกส์’ หรือจุลินทรีย์มีชีวิตที่ช่วยให้ระบบย่อยในสำไส้เราทำงานได้ดี แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคน!!!
  • มีงานวิจัยพบว่า คนที่กินยาปฏิชีวนะอยู่ไม่ควรกินโพรไบโอติก เพราะจุลินทรีย์นี้จะขยายตัวอย่างรวดเร็วจนไปแทนที่แบคทีเรียอื่น ๆ ที่ถูกยาปฏิชีวนะเข้าไปกำจัด ทำให้สมดุลความหลากหลายของจุลชีพในลำไส้ของเรานั้นหาย ทำให้เราน้ำหนักขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น!!!

______________________________________________________________________________

โพรไบโอติกส์ คือแบคทีเรียและยีสต์ที่มีชีวิต ซึ่งมีอยู่แล้วในลำไส้ (Gut microbiome) ช่วยย่อยอาหารที่เรากินเข้าไป หากแต่เรามีโพรไบโอติกส์ในลำไส้หลายชนิด และก็มีมากน้อยไม่เท่ากันอีกด้วย

นี่คือปัญหาสำคัญที่ทำให้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินและการใช้ใช้ชีวิตไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกายเราผิดปกติ แล้วจะทำยังไงดี ?

นักวิจัยก็มีแนวคิดที่จะใช้จุลินทรีย์ในลำไส้ ของเรานี่แหละให้เป็นประโยชน์ ด้วยการ

  • เพิ่มจำนวนแบคทีเรีย ‘ดี’ 
  • ลดจำนวนแบคทีเรีย ‘ไม่ดี’
  • ฟื้นฟูสมดุลแบคทีเรียในลำไส้
  • กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

การใช้จุลินทรีย์มีชีวิตเหล่านี้ปลอดภัยและสามารถใช้ได้ต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งยังสามารถปรับจุลินทรีย์ในระย่อยอาหารด้วยการกินจุลินทรีย์มีชีวิต หรือ โพรไบโอติกส์ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินมีผลให้น้ำหนักของเรานั้นลดลงจากการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสและไขมัน ซึ่งช่วยให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้นและลดอาการอักเสบเรื้อรังได้ 

ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมอาหารจึงได้มีพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีโพรไบโอติกส์ช่วยลำไส้ของเรา โดยนิยมใช้ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และ บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) 

ผลการวิจัยเหล่านี้ได้ถูกนำเข้าไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารอย่างรวดเร็วตามคาด เราจะเห็นผลิตภัณฑ์กลุ่มโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว ซึ่งเรารู้จักกันดี พร้อมกับบอกเราด้วยตัวอักษรโตๆ ระบุ ‘โพรไบโอติก’ สะดุดตา และถามบวกราคามากกว่าปกติอีกพอประมาณ

นั่นหมายความว่า ไม่ใช่โยเกิร์ตที่ยี่ห้อจะมีโพรไบโอติกผสมอยู่ 

ปกติเชื้อที่ทำหน้าที่หมักนมเป็นโยเกิร์ตมีสองตัวคือ Lactobacillus bulgaricus และ Steptococcus thermophilus ซึ่งไม่จัดว่าเป็นโพรไบโอติกนะจ๊ะ

ถ้ามีชื่อเชื้ออื่นเพิ่มกว่าสองตัวที่ว่ามานี้ โดยมากเป็นโพรไบโอติก เช่น 

  • ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดุม (Bifidobacterium bifidum)
  • ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis DN173010)  
  • แล็คโตแบซิลลัส เคซิไอ (Lactobacillus casei) 
  • แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus) [4]

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ราคาโยเกิร์ตแต่ละอันไม่เท่ากัน 

โยเกิร์ตที่วางจำหน่ายมีเจ้าตลาดไม่กี่เจ้า มีทั้งถูกและแพง ผลิตภัณฑ์ไหนนำเข้า ราคาก็จะแพงหน่อย แลกกับเนื้อโยเกิร์ตที่เข้มข้น บางผลิตภัณฑ์ใส่โพรไปโอติกส์มากกว่าสองชนิด แถมราคาไม่แตกต่างกับหนึ่งหรือสองชนิด ซึ่งก็เป็นโปรโมชั่นทางการตลาด จากงานวิจัยของปาริชาติ และคณะ มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ โยเกิร์ตที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากมักใส่น้ำตาลเพิ่ม สะท้อนว่า แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสาว ๆ ที่พยายามดูแลสุขภาพ แต่ก็ยังติดหวานกันอยู่พอสมควร [5]

ดังนั้น เราต้องอ่านฉลากดี ๆ 

หากเพื่อนๆ อยากรู้ว่าแล้วในตลาดบ้านเรา นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตยี่ห้อไหนบ้างผสมโพรไบโอติก ก็ลองตามไปอ่านลิ้งค์นี้ https://pantip.com/topic/36582523 

หลายคนซื้อผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก เพื่อช่วยในการขับข่าย บางคนต้องการเสริมภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย 

แต่…แต่…แต่…อย่าพึ่งดีใจแล้วไปซื้อผลิตภัณฑ์ที่ระบุ ‘โพรไบโอติก’ กินแบบทุกอย่าง เพราะมันไม่ได้เหมาะกับเราทุกตัว

บางคนกินจุลินทรีย์มีชีวิตเข้าไปแล้วไม่ได้ช่วยอะไร เพราะถูกขับออกจากร่างกายเหมือนกัน ขณะที่ร่างกายบางคนก็สามารถเพิ่มจุลินทรีย์เข้าไปในลำไส้ได้แต่ไม่นานนัก จากนั้นก็จะถูกจุลินทรีย์อื่น ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นแทน 

อันที่จริงอาหารดั้งเดิมเราเองก็มีโพรไบโอติกส์อยู่บ้างในอาหารจำพวกหมักดองต่าง ๆ เช่น กะหล่ำปลี หรือผลไม้ดอง หากเป็นอาหารญี่ปุ่นหรือเกาหลีก็จะมีกิจิ ซุปมิโซะ หรือน้ำเต้าหู้ก็มีนะ ภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนไม่ธรรมดาจริง ๆ

สิ่งที่ต้องระวังเพิ่มคือ คนที่กินยาปฏิชีวนะอยู่ไม่ควรกินโพรไบโอติก เพราะเจ้าจุลินทรีย์นี้จะขยายตัวอย่างรวดเร็วจนไปแทนที่แบคทีเรียอื่น ๆ เจ้ายาปฏิชีวนะเข้าไปกำจัด ทำให้ร่างกายเราต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าจะฟื้นฟูสมดุลความหลากหลายของจุลชีพในลำไส้ของเราได้ดังเดิม [3]

ซึ่งจังหวะนี้แหละที่ซ้ำเติมให้เราน้ำหนักขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น เพราะลำไส้เราไม่มีจุลินทรีย์ค่อยย่อยเหมือนแต่ก่อน [1]

แม้ว่าผลการวิจัยเหล่านี้ยังเป็นเพียงการทดลองที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมน้อย แต่ก็ช่วยยืนยันเราได้ว่า ทางเดินอาหารของเรามีจุลินทรีย์หลายชนิด และสัดส่วนที่มีในแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน 

ร่างกายเรานั้นตอบสนองต่อสิ่งที่เรากินแตกต่างกัน เราจึงต้องสังเกตตัวเองว่า 

  • อะไรกินแล้วดีกับเรา 
  • อะไรที่เราควรหลีกเลี่ยง 
  • อะไรที่เรากินแล้วไม่ควรคาดหวังว่ามันจะดีอย่างที่นักการตลาดอาหารใช้ชักจูงเรา

ตอนนี้นักวิจัยให้ความสนใจศึกษาจุลินทรีย์ในลำใส้มากขึ้นเพราะเชื่อกันว่า จะช่วยลดผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและลดความเสี่ยงของภาวะโรคอ้วนได้ ซึ่งมีงานวิจัยน่าสนใจออกมามากมาย ไว้เราจะเอามาเล่าให้ฟัง

ที่มา 

  1. Kobyliak, N., Conte, C., Cammarota, G., Haley, A. P., Styriak, I., Gaspar, L., Fusek, J., Rodrigo, L. & Kruzliak, P. (2016). Probiotics in prevention and treatment of obesity: a critical view. Nutrition & metabolism, 13, 14.
  2. https://www.honestdocs.co/probiotics
  3. https://www.bbc.com/thai/international-45447049
  4. https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/22/การเลือกโพรไบโอติคส์-Probiotics/
  5. ปาริชาติ พรชนะรักษ์, สุวรรณา สายรวมญาติ และ เออวดี เปรมัษเฐียร. 2563. คุณลักษณะที่กำหนดราคาผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตในประเทศไทย : การวิเคราะห์แบบฮีดอนนิค. การประชุมวิชาการระดับบัณฑิตศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 14 : 15 พฤษภาคม 2563.
  6. Photo by Karly Gomez on Unsplash

Leave a Reply