ราคาหมูหน้าฟาร์มลงแล้ว…ทำไมเรายังต้องซื้อหมูแพง?

ราคาหมูหน้าฟาร์มลงแล้ว แต่ทำไมเรายังกินหมูแพง

หากเข้าไปดูประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจะพบว่า ราคาหมูขุนหน้าฟาร์ม ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ซื้อขาย 72-77 บาท/กิโลกรัม [1] ราคาเนื้อแดงหน้าเขียงก็ควรจะอยู่ที่ 144-154 บาท เหตุไฉนราคาที่เราซื้อยังเกิน 160 บาท???

สิ่งที่คนเลี้ยงหมูต้องเผชิญกันจนชินชา  

หมูแพงร้องดัง หมูถูกไม่มีใครสนใจ ไม่สนใจจนเจ๊ง…เลิกเลี้ยงหมูกันไปไม่น้อย

ปริมาณหมูเมืองไทยเพิ่มขึ้นมาต่อหลังจากภาวะการตกต่ำของราคาในปี 2550 ฟาร์มขนาดเล็กลดจำนวนลงอย่างมากเนื่องจากไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ขณะที่ฟาร์มขนาดกลางที่เอาตัวรอดมาได้ ก็มีการขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี 2559 ที่ปริมาณหมูเยอะจนทำให้ราคาลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2562  

Chart, histogram

Description automatically generated
ราคาขายเฉลี่ยของสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มและปริมาณสุกรทั้งประเทศปี 2543 -2563

ฟาร์มที่ประคองตัวให้รอดมาได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้อานิสงค์ของการระบาดของโรคไข้หวัดแอฟริกา (African Swine Fever: ASF) ที่ระบาดอย่างรุนแรงในจีน เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา รุนแรงขนาดที่ทำให้ราคาเนื้อหมูในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้แพงเกิน 300 บาท/กิโลกรัม

เมื่อประเทศเพื่อนบ้านไม่มีหมู ขณะที่หมูไทยยังมี หมูไทยจึงได้มีโอกาสส่งออกบ้าง หลังจากที่รอคอยมานาน 

แต่ผลอีกด้านของการส่งออกก็คือ คนไทยต้องกินหมูแพงเพิ่มขึ้นเช่นกัน 

ช่วงที่หมูแพงมากคือ เดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม กรมการค้าภายในตรึงราคาหมูไว้ที่ 160 บาท โดยราคาหน้าฟาร์มมีการซื้อขายไม่เกิน 80 บาท/กิโลกรัม แต่ในบางพื้นที่ราคาก็ซื้อขายจริงก็ขยับขึ้นไปถึง 88 บาท/กิโลกรัม

นับเป็นเวลา 4 เดือน ที่หมูไทยทรงตัวในราคาแพง 

ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนเลี้ยงถูกโจมตีอย่างหนัก เพราะเขียงหมูปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นจนทำให้กรมการค้าภายในออกมาควบคุมราคาเพื่อไม่ให้บรรเทาค่าครองชีพของผู้บริโภคดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ช่วงที่หมูแพง มีพฤติกรรมหลายอย่างเกิดขึ้น เขียงหมูปรับเพิ่มราคาขายปลีกเนื้อหมูและชิ้นส่วน ร้านอาหารจำนวนไม่น้อยปรับเพิ่มราคาเมนูอาหารที่ใช้หมู หรือบางร้านก็ลดปริมาณหมูลงโดยไม่ปรับราคา มีเหตุการณ์หนึ่งเราจำได้แม่น ช่วงนั้นเราซื้อราดหน้าราคา 25 บาท กินหมูไปสามคำ ทั้งชามเหลือแต่เส้น!!!

หลายคนคิดว่าเป็นจังหวะโกยของฟาร์มหมู…ไม่เลยสักนิด เรียกว่าช่วง 4 เดือนที่ราคาแพง เป็นช่วงที่หลายฟาร์มได้น้ำเลี้ยงมารักษาแผลจากการขาดทุนในก่อนหน้านั้น เดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม 2563 ราคาขายหน้าฟาร์มอยู่ที่ 60-65 บาท…เดาไม่ยาก ขาดทุนยับ

Table

Description automatically generated
ต้นทุนการผลิตและราคาขายสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มเดือนมีนาคม – เดือนกันยายน 2563

ที่มา: สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย (2563), สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2563), สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ (2563)

โดยเฉลี่ยปี 2563  เลี้ยงหมูขุน 1 ตัว ฟาร์มจะมีกำไรประมาณ 500 บาท/ตัว แต่เลี้ยงประมาณ 4 – 5 เดือน คิดเฉลี่ยกำไรเดือนละ 100 บาท/ตัว ถ้าหมูเกิดเสียหายตายระหว่างทาง นอกจากกำไรจะหายแล้ว ยังมีต้นทุนที่จ่ายโดยไม่ได้อะไรคืนด้วย

ช่วงที่ราคาหมูหน้าฟาร์มปรับตัวลดลง ผู้แปรรูปที่มีห้องเย็นไม่ว่าจะเป็น เขียงหมู ผู้ผลิตหมูหยอง กุนเชียง หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากหมูทั้งหมาย แทบไม่รู้จักคำว่าขาดทุนในช่วงที่หมูแพง 

เพราะผู้แปรรูปกลุ่มนี้จะลงทุนซื้อหมูเข้าห้องเย็นเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงที่หมูมีราคาแพง โดยจะกดราคารับซื้อหมูหน้าฟาร์มลงกว่าราคาประกาศ บีบให้ผู้เลี้ยงต้องขาย หากไม่ขายแล้วราคาปรับตัวลดลงก็จะขาดทุน เพราะต้องไม่ลืมว่า หมูกินทุกวัน หากไม่ขายหมู ก็ยังต้องเลี้ยง ต้องให้อาหาร นั่นคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหากไม่รีบตัดสินใจขาย

ด้วยอำนาจซื้อของผู้แปรรูปปลายทางที่เป็นมีอำนาจในการรับซื้อหมูมีชีวิต และกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค ทำให้ผู้แปรรูปสามารถจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนได้ดีกว่าคนเลี้ยงหมู

ว่ากันตรง ๆ  ผู้แปรรูปเหล่านี้ แทบไม่รู้จักคำว่าขาดทุนในช่วงที่หมูแพง เพียงแค่ได้กำไรน้อยกว่าเคยเท่านั้นเอง ราคาที่ปรับขึ้นจากข้ออ้างว่าหมูแพง แต่พอหมูลงราคา ราคาผลิตภัณฑ์ก็หาได้ลงราคาตาม!!!

ในภาวะที่ราคาหมูปรับตัวลง จึงมักลงอย่างรวดเร็ว ต่างจากช่วงราคาปรับขึ้นที่จะค่อยๆปรับ ช่างต่างกันเหลือเกิน

เดือนก่อนหมูแพง…มาเดือนนี้…หมูถูกแล้ว ลงมาเกือบ 10 บาท/กิโลกรัม แล้วผู้บริโภคอย่างเรายังต้องซื้อเนื้อหมูแพงอยู่อีกหรือไม่???

เมื่อเราไปตลาดจึงพบว่า ราคาเนื้อหมูหน้าเขียงมีการปรับตัวลดลง แต่…ทำไมปรับลงน้อยจัง

จากข้อมูลของตลาดนัดเกษตรไพรซ์ (kasetprice.com) ราคาขายปลีกเนื้อหมูต่อกิโลกรัม ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 [2]

  • เนื้อแดง 145 บาท 
  • สะโพกหมู 143 บาท
  • สันใน 150 บาท
  • สันนอก 160 บาท
  • สันนอก 160 บาท
  • สามชั้น 180 บาท

แพงสุดต้องยกให้สามชั้น 180 บาท/กิโลกรัม!!!

ตลาดสดบางแห่งราคาอาจสูงกว่านี้ เขียงบางแห่งก็ใจดี ปรับราคาเนื้อแดงขายส่งลงมา แต่ร้านขายปลีกก็ยังคงขายราคาในระดับสูงกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ตลาดต้องการ เช่น สามชั้น เนื่องจากเมนูสารพัดหมูกรอบ เป็นเมนูที่ร้านอาหารตามสั่งทุกร้านต้องมี ราคาสามชั้นจึงยังคงตัวในระดับสูง

ราคาซื้อขายหมูหน้าฟาร์มจะมีการประกาศราคากันทุกสัปดาห์ตามวันพระ โดยราคาจะถูกกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานของตลาด ช่วงไหนหมูมีมากเกินราคาจะปรับลง ช่วงไหนหมูขาด ราคาก็จะปรับตัวขึ้น ว่ากันเป็นรายสัปดาห์!!!

แต่ราคาหน้าเขียง หาได้ปรับตัวตามหน้าฟาร์มอย่างที่ควรจะเป็น

ราคาอาหารเมนูหมู ปรับราคาลงสักบาทหรือไม่

หมูในจานเพิ่มขึ้นสักชิ้นหรือเปล่า!!!

อย่างที่เอ่ยไปตอนต้น หมูแพงร้องดัง…แต่หมูถูกไม่มีใครสนใจ

ราคาขายเนื้อหมูที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจึงมีราคาพรีเมียมแถมให้เสมอ ซึ่งเป็นหน้าที่กรมการค้าภายในที่ต้องตรวจตราให้ราคาขายเนื้อหมูสอดคล้องกับราคาหน้าฟาร์มให้มากที่สุด

ราคาหน้าฟาร์มปรับตัวลงมาแล้ว…ปรับตามกลไกตลาด โดยไม่ต้องใช้มาตรการแทรกแซงให้เสียงบประมาณ 

ขอให้ผู้บริโภคอย่างได้โทษคนเลี้ยงหมูว่าเป็นต้นเหตุที่ต้องกินหมูแพงในตอนนี้

เพราะคนเลี้ยงหมูไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาขายเนื้อหมูให้ท่าน

คนเลี้ยงหมูอยากเป็นแค่คนเลี้ยง ไม่ได้อยากตกเป็นจำเลย

เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมู คำนี้ยังใช้ได้ดีเสมอ

เรื่องโดย ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มา

[1] https://www.swinethailand.com

[2] kasetprice.com

[3] ภาพโดย ludiarin จาก Pixabay