น้ำตาลหญ้าหวาน น้ำตาลหล่อฮั่งก้วย ดีจริง หรือคุณหลอกดาว

ผลการวิจัยล่าสุดของ Witkowski และคณะ พบว่า กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีอาการภาวะของหัวใจวายและหลอดเลือดสมอง (stroke) มักมีระดับ erythritol ในเลือดสูง ซึ่งผลการทดลองในสัตว์ยังพบอีกว่า เจ้า erythritol ทำให้เกล็ดเลือดจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายขึ้น แถมเจ้าลิ่มเลือดนี้ยังแตกตัวออกขณะไหลไปยังหัวใจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดสมองแตกได้ [1]

เมื่อพบถึงความสัมพันธ์ระหว่าง erythritol กับโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ทีมวิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมในอาสาสมัครแปดราย กิน erythritol 30 กรัม ซึ่งเป็นขนาดปกติที่ใส่ในเครื่องดื่ม หรือในไอศครีมคีโต (keto) พบระดับ erythritol ในเลือดสูงและค้างอยู่ในเส้นเลือดอีกสองวันถัดมา

น้ำตาลอิริท หรือ erythritol โดยมากผลิตจากข้าวโพด สารตัวนี้พบได้ตามธรรมชาติในผักและผลไม้หลายชนิด มีความหวานประมาณ 70% ของน้ำตาลและถือว่าไม่มีแคลอรี จึงนิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม [2] ซึ่งเชื่อได้ว่า ในหลายผลิตภัณฑ์ก็ผสม erythritol เพื่อลดการใช้น้ำตาลธรรมชาติด้วยเช่นกัน

สาเหตุที่นิยมใส่น้ำตาลอีริทผสมในเครื่องดื่ม เนื่องจากอิริทมีค่าความหวานน้อยและค่าพลังงานเกือบ 0 โดยเจ้าน้ำตาลตัวนี้มักใส่ผสมกับสารสกัดจากหญ้าหวานและหล่อฮั่งด้วย

เนื่องจากยังไม่มีผลวิจัยชี้ให้เห็นถึงผลเสียจากการกินสารสกัดจากหญ้าหวาน และการกินควรกินแบบบริสุทธ์ (purify) เช่น Rebaudioside A หรือ Reb A ซึ่งปลอดภัย ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และ USFDA ก็ไม่อนุญาตให้กินใบหญ้าหวาน เพราะจะทำให้ไตเสื่อมได้

หากแต่สารสกัดจากหล่อฮั่งก้วย (monk fruit) 100% และสารสกัดจากหญ้าหวานตามธรรมชาติ (strevia) 100% สองตัวนี้ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 ถึง 400 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่ได้ใส่หล่อฮั่งก้วย หรือหญ้าหวานตามธรรมชาติแน่นอน เนื่องจากจัดการยาก ใช้ยาก และมีราคาแพง

ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่เคลมว่า “ไม่มีน้ำตาล” “no sugar” “zero sugar” หากใส่สารสกัดหญ้าหวานและหล่อฮั่งก้วย จึงจำเป็นต้องผสมอิริท (erythritol) มาเจือจางความหวานลง การผสมก็จะในอัตราส่วนต่าง ๆ เพื่อบรรจุหีบห่อตามสูตร ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน และนิยมเรียกว่า น้ำตาลหญ้าหวาน หรือน้ำตาลหล่อฮั่งก้วย

หากไม่ผสมตัวกลางอย่างน้ำตาลอิริท เมื่อเราต้องการเติมน้ำตาลเทียมด้วยสารสกัดจากหญ้าหวานบริสุทธ์ในเครื่องดื่ม 1 แก้ว เราต้องบรรจงสะกิดหญ้าหวานใส่ แทนการฉีกซอง คิดแล้วก็วุ่นวายเอาเรื่อง

แน่นอนว่ายังต้องวิจัยกันต่อไป แต่สิ่งที่บอกเราแน่ ๆ คือ เราจำเป็นต้องลดการกินอาหารและเครื่องดื่ม ที่เคลมว่า “ไม่มีน้ำตาล” “no sugar” “zero sugar” “0-calorie”

สิ่งที่น่ากังวลต่อคือ กลุ่มอาหารคีโตที่ไม่ใส่น้ำตาลธรรมชาติแล้วใช้น้ำตาลจากสารสกัดจากหญ้าหวานและหล่อฮั่งก้วย และกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องพึ่งอาหารที่ไม่มีน้ำตาล แป้งน้อยหรือไม่มีแป้ง แต่จะใส่น้ำตาลอิริทแทน

เรารู้ ๆ กันอยู่ว่า…‘ของหวานไม่ดี’…แต่ของดีไม่อร่อย

เลี่ยงกินหวานสักหน่อยน่าจะดีกว่า…

ถ้าอยากทานก็จัดหวานแท้ไปเลย…ดีกว่าไปกินหวานปลอม ๆ เพื่อหลอกตัวเอง

#EatEcon

Photo by Vera Cho on Unsplash

อ้างอิง

1. Witkowski, M., et al., The artificial sweetener erythritol and cardiovascular event risk. Nature Medicine, 2023.

2. Tiefenbacher, K.F., Chapter Three – Technology of Main Ingredients—Sweeteners and Lipids, in Wafer and Waffle, K.F. Tiefenbacher, Editor. 2017, Academic Press. p. 123-225.