ออฟไลน์และออนไลน์ – สเน่ห์ที่แตกต่าง

ยอดขายออนไลน์ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้การส่งสินค้าของบางเจ้าล่าช้าตามที่เป็นข่าว แม้ว่าเราจะไม่ได้อยากอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ แต่นี่ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ Covid-19 ได้บีบให้เราต้องปรับตัว 

คนขายของออฟไลน์  เมื่อหน้าร้านขายไม่ได้ก็ยกร้านมาไว้ในช่องออนไลน์ ต่อลมหายใจที่รวยรินให้หลายชีวิตได้ไม่น้อย

ผู้ซื้ออย่างเราการจ่ายเงินซื้อจะมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นเสมอ แต่ก็มีความสุขที่ได้ซื้อด้วยเช่นเดียวกัน โดยเรามีทางเลือก เลือกว่าจะจ่ายเงินก่อน จ่ายเงินทันที หรือจ่ายเงินหลังด้วยเครดิต (ทั้งแบบบัตรเครดิต และแบบแปะโป้งไว้ก่อน) หากลองสังเกตดูความสุขที่ได้จากการจ่ายต่างช่วงเวลา ส่งผลต่อความสุขและความเครียดของเราแตกต่างกัน

การซื้อออฟไลน์หรือซื้อที่หน้าร้านมักเน้นการจ่ายทันที และมีการจ่ายหลังด้วยเครดิตบ้างแต่ไม่มากนัก

หากเราซื้อของออนไลน์จะมีรูปแบบการจ่ายเงิน  2 แบบคือ จ่ายก่อนโดยตัดเงินทันทีและจ่ายหลังด้วยการตัดบัตรเครดิต 

สำหรับเราการจ่ายเงินก่อน ทำให้เรามีความสุขมากกว่า เพราะเจ็บตอนจ่าย ณ ตอนนั้น และมีความสุขหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อว่าของจะมาถึงเมื่อไร สังเกตว่าพอระบบของช่องทางขนส่งแจ้งเราว่าของที่เราสั่งถึงศูนย์กระจายสินค้า วันนี้ของจะมาส่ง หัวใจเราพองโตขึ้นเรื่อย ๆ และเฝ้ามองโทรศัพท์หากมีเบอร์แปลกจะรีบรับทันที ทั้งที่แต่ก่อนหวาดระแวงเบอร์แปลก ความตื่นเต้นในการได้รับกล่องพัสดุ การแกะกล่อง ดูการแพค และเห็นของที่สั่ง เหล่านี้ทำให้สารความสุขของเหล่าหลั่งออกมา และที่สำคัญ ระยะเวลาหลังจากจ่ายเงินไปแล้วมันนานจนทำให้เราลืมความเจ็บปวดที่เรากดจ่ายเงิน

ยิ่งระยะห่างของช่วงเวลาของการจ่ายกับการได้รับมากขึ้น เราก็จะมีความสุขสะสมเพิ่มขึ้น

และนี่แหละคือเหตุที่ทำให้เรามีความสุขกับการสั่งออนไลน์ จนทำให้เราสั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ต้องระวังเช่นกัน เพราะหากทิ้งระยะไว้นานเกินไป มันจะเปลี่ยนจากความสุขกลายเป็นความไม่พอใจ เช่น กรณีสั่งของแล้วได้ช้ากว่าปกติที่ควรจะเป็น

การจ่ายหลังด้วยการตัดบัตรเครดิต เรามีความสุขตั้งแต่ตอนสั่ง กินก่อน ได้ก่อน เห็นก่อน แล้วจ่ายเงินทีหลังตามรอบบิล ตอนจ่ายหลังนี่เจ็บปวดสุดๆ เพราะยอดมันมารวม ๆ กัน บางคนเลือกผ่อนจ่ายบัตรเครดิต โดยยอมที่จะเสียดอกเบี้ย เพราะไม่อยากเจ็บปวดจ่ายเป็นก้อน แต่การผ่อนจ่ายแบบนี้ เรากำลังเลี้ยงไข้ความเจ็บปวดให้ยืดยาวออกไป

การจ่ายหลังนี่แหละนำมาซึ่งภาวะหนี้ที่สั่งสม

เราจึงอยากเชิญชวนให้เพื่อน ๆ เลือกจ่ายก่อนเพื่อเจ็บก่อน แล้วมีความสุขภายหลัง หรือจ่ายทันที เจ็บทันที และมีความสุขทันที ดีกว่าสุขก่อนแล้วเจ็บภายหลัง ความเจ็บปวดมันต่างกันมากจริง ๆ 

ในฝั่งของผู้ขาย สำหรับร้านอาหารนับว่าโชคดี ยังคงเปิดร้านขายได้ แม้จะขายไม่ดีเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีรายได้ประคองหลายชีวิตให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ไปได้

การแข่งขันของ Food delivery ไม่ว่าจะเป็น Grab food, Line man, Wongnai หรือ Food Panda ทำให้หลายร้านได้ทดลองใช้ก่อนหน้านี้ 

เมื่อร้านต้องย้ายพึ่งพิงช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ร้านที่เคยมีหน้าร้านจะมีความได้เปรียบ เมื่อลูกค้าได้เห็นก็จะทำให้ย้อนระลึกถึงในช่วงอดีตเคยไปเยือน ไม่ต้องกลัวเรื่องคุณภาพหรือความอร่อย เพราะประสบการณ์ตรงรับประกัน หรือแม้ไม่เคยได้ลิ้มลอง เพียงแค่ผ่านตา โอกาสในการสั่งก็มีมากกว่าร้านออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้าน

เมื่อร้านทั้งหลายย้ายเข้ามาอยู่ในมือถือ ปัญหาที่ผู้ซื้อย่างเราต้องคิดหนักก็เริ่มขึ้น ‘ไม่รู้จะกินอะไรดี’ ‘มีเมนูเยอะจนตาลาย’ ‘มีแต่ของน่ากินทั้งนั้น’ เหล่านี้เป็นภาวะที่มีทางเลือกมากเกินไปจนเลือกไม่ได้ (Paradox of choices)

ร้านอาหารต้องหาทางช่วงชิงลูกค้าได้ให้ได้ ร้านที่ได้เปรียบคือ ร้านเก่าแก่ ร้านประจำที่คุ้นเคย ร้านที่ถ่ายรูปสวย ร้านที่รีวิวดี

ต้นทุนของการสั่งออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่า GP ที่สูงจนหลายร้านรับไม่ไหว ทำให้ร้านตัดสินใจใช้วิธีแบบบ้าน ๆ เช่น แจกเบอร์โทร Id line หรือเฟสบุค แล้วส่งด้วยวินมอร์เตอร์ไซต์ที่คุ้นเคย โดยผู้ซื้อจ่ายค่าส่งตามจริง 

เราเชื่อเหลือเกินว่าหลายคนสั่งสมความโหยหาของการไปนั่งกินที่ร้าน ได้สัมผัสไอร้อนของอาหาร กลิ่นอาหารที่ปรุงใหม่ๆ จากเตา มองเห็นผู้คนเดินขวักไขว่ บรรยากาศเหล่านี้ออนไลน์ให้ไม่ได้ 

หลังจากช่วงเวลาของการกักตัวได้ผ่านพ้นไป ร้านอาหารทั้งหลายจะได้ต้อนรับลูกค้าผู้โหยหาเช่นเรา และยังคงต้องรับรองลูกค้าช่องทางออนไลน์ไปพร้อมกัน 

สเน่ห์ที่แตกต่างทำให้ออฟไลน์และออนไลน์ ต้องไปพร้อมกัน ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งหาได้ไม่

ณ เวลานี้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องช่วยประคับประคองกันไป 

#เราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

#EatEcon

Photo by Victor He on Unsplash