ใครหนอเป็นคนบอกว่า ราคานี้ “ยุติธรรม”

ผลพวงจาก Covid-19 ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องหันมาขายของออนไลน์ผ่านช่องทาง Market plance ต่าง ๆ 

ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่าน facebook จากการตั้งกลุ่มที่อาศัยศิษย์ร่วมสถาบันมารวมตัวกันอย่าง ม.เกษตร ที่มี KU-จะฝากร้าน เกษตรแฟร์ออนไลน์ (ยังมีอีกหลายสถาบัน แต่เราขอไม่กล่าวถึงในที่นี้เพราะไม่ได้ไม่ได้ติดตาม) 

ผู้ขายใช้แพลตฟอร์มอย่าง facebook เปิดตัว นำเสนอสินค้าต่าง ๆ และปิดการขายด้วยข้อความส่วนตัว หรือ Line ช่องทางที่คนไทยคุ้นชิน 

ดูเหมือนจะง่าย แต่มันไม่ง่ายเลย 

สำหรับเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการผลิต เคยแต่ขายส่งให้ผู้รวบรวม เมื่อต้องมาปรับตัวขายปลีกให้กับผู้บริโภคโดยตรงเป็นร้อยคำสั่งซื้อ!!!

เพื่อน ๆ ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าเจอข้อความระดับร้อยข้อความ แล้วต้องตอบทุกคำถามให้ครบ ตอบให้พอใจของผู้ซื้อที่คิดว่าตัวเองจ่ายเงิน ต้องได้รับการตอบเร็วอย่างรวดเร็ว ต้องได้รับบริการที่ดีที่สุด ได้ของที่ดีที่สุด เพื่อนๆ คิดว่าเพื่อนๆ จะเป็นอย่างไร

เคยถามชาวสวนทุเรียนคนหนึ่งที่เลือกผลผลิตคุณภาพพรีเมียมมาขายออนไลน์ว่า “ขายออนไลน์เป็นอย่างไรบ้าง” 

คำตอบที่ได้คือ “ปัญหาเยอะมาก ยากและเหนื่อย ขายให้พ่อค้าง่ายกว่า ขอเพียงทำคุณภาพให้ได้ ส่งออกได้ ก็ได้ราคา ขายเสร็จก็กลับไปดูแลสวนต่อ สงบดี ไม่วุ่นวาย”

แต่การขายตรงให้กับลูกค้าคนไทยผ่านออนไลน์ ไม่ง่าย ยากและปวดหัวมาก ถามว่าทำไม เกิดอะไรขึ้น

คำตอบ: ผู้บริโภคคนไทยมีความต้องการสูง 

ความต้องการในที่นี้ไม่ใช่ปริมาณเยอะนะคะ ต้องการซื้อแค่ 1 ลูกนี่แหละแต่ความต้องการตั้นมีรายละเอียดยิบย่อยสุดๆ เช่น 

  • ต้องการกินกรอบนอกนุ่มใน หรือแบบห่าม ๆ 
  • ขอไม่หวานมาก กลัวอ้วน แต่ก็ยังอยากกินทุเรียน 
  • ขอลูกเล็ก เปลือกบาง
  • ขอเนื้อเยอะ เม็ดลีบ

แรกๆ ตอนลูกค้าบอกว่า อยากกินแบบกรอบนอกนุ่มใน ชาวสวนอึ้งนะจ๊ะ คิดไปถึงไก่ทอด ใครกันนะช่างเชื่อมโยงมาถึงทุเรียน

อ้อลืมไปอีกข้อสำคัญสุดๆ ลดราคาได้มั้ยคะ!!! ขายเอง ไม่ต้องผ่านพ่อค้า หรือ รวมค่าส่งได้มั้ยคะ ซื้อตั้งหลายลูก

ขอบอกเลยว่า แค่ตอบแบบนี้สัก 10 คน เราเลิกละ ใครจะว่าเราไม่ปรับตัว เชิญปลูกกินเองค่ะ!!! 

ความต้องการเยอะแบบนี้ ขอบอกเลยว่าถ้าชาวสวนไม่เจ๋งจริง ก็เจ้ง ลูกค้าไม่พอใจ โพสต์ลงเฟสบุค ขายต่อลำบากมาก

ราคาที่ชาวสวนตั้งขายออนไลน์จะตั้งราคาอยู่ในช่วง 120-180 บาท/กิโลกรัม เรียกได้ว่าราคาเท่าราคาขายปลีกในตลาด แต่ชาวสวนมาขายเอง สำหรับเราว่ามันเป็นราคาที่ยุติธรรมมาก (Very fairness) จนเอียงไปทางเอาเปรียบชาวสวนด้วยซ้ำ 

ถามว่าทำไมเราถึงมองแบบนี้ ส่วนเพิ่มที่ชาวสวนได้รับจากการขายออนไลน์เมื่อเทียบกับราคาขายส่งให้พ่อค้า กิโลกรัมละ 80-100 บาท เป็นราคาที่ยุติธรรมกับผู้ซื้ออย่างเราสุด ๆ ลองคิดดูสิว่า ชาวสวนมือใหม่ในตลาดออนลไน์ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง เช่น

  1. ชาวสวนต้องตอบข้อความทุกข้อความให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้
  2. เมื่อตกลงพร้อมโอนเงิน ต้องตรวจเชคว่าโอนเงินครบถ้วนถูกต้องหรือไม่
  3. ต้องจัดการคำสั่งซื้อทุกคำสั่งไม่ให้ผิดพลาด
  4. ต้องจัดการแพคสินค้าส่ง ซึ่งปัจจุบันกล่องสำหรับขนส่งผลไม้ถูกออกแบบมาให้ส่งแบบค้าส่ง ไม่ได้ส่งผ่านไปรษณีย์หรือขนส่งเอกชน ที่ไม่ได้ระมัดระวังใด ๆ สภาพกล่องตอนรับของต้องหายใจเข้าลึก ๆ ก่อนเปิดดูผลไม้ข้างใน
  5. แจ้งเลขที่สินค้าให้ลูกค้าทราบ เพื่อติดตามสินค้าเองว่าถึงไหนแล้ว ขณะที่บางรายเอาใจใส่สุดๆ ติดตามสินค้าทุกขั้นตอนแล้วแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นระยะ ปัญหามันจึงเกิดเมื่อลูกค้าสั่งสินค้าจากหลายเจ้า แล้วผู้ขายมีการจัดการส่วนนี้ต่างกัน จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบ ลูกค้ามีความพึงพอใจมากกับการที่แม่ค้ามือใหม่บอกทุกขั้นตอนของการเดินทางของสินค้า และลดความพึงพอใจให้กับอีกรายที่ต้องมานั่งเชคเองว่าสินค้าถึงไหนแล้ว 
  6. เมื่อสินค้ามาถึง ลูกค้าช่างน้ำหนัก พบว่าน้ำหนักหาย ไม่เป็นไปตามที่สั่ง!!! ร้อนถึงผู้ขายต้องมาเคลมให้ บางรายส่งสินค้าให้ใหม่ บางรายโอนเงินคืนให้ สารพัดวิธีชดเชยให้ลูกค้า สิ่งนี้คือลักษณะสำคัญของผลไม้ หรือสินค้าเกษตรที่น้ำหนักจะลดลงหลังจากเก็บเกี่ยว ยิ่งระยะเวลาถูกยืดนานออกไป น้ำหนักก็หายไปเรื่อยๆ จนอาจถูกมองได้ว่าผู้ขายตั้งใจเอาเปรียบ

เราเชื่ออยู่เสมอด้วยใจบริสุทธิ์ของชาวสวน มิได้จ้องแต่จะขาย ดีไม่ดีขายหมด ชาวสวนประคบประหงมดูแลไม้ผลทุกต้น ผลไม้ทุกลูกเป็นแรมปี เพื่อรอวันขาย 

มันจึงเชื่อยากที่ชาวสวนเหล่านี้จะเห็นแก่ได้ช่วงสั้น นำของไม่ดีมาขายออนไลน์ 

มันเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และแก้ไขกันต่อไป 

การขายผลผลิตสินค้าเกษตรออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ช่วยชีวิตเกษตรกรหลายครอบครัวให้ผ่าวิกฤติ Covid-19 ไปได้ ซึ่งไม่เพียงแค่ Covid-19 ยังมีปัญหาภัยแล้ง มรสุมฤดูร้อน ที่ทำผลผลิตของเกษตรกรจำนวนมากเสียหาย เช่น ทุเรียนหลายสวน หักโค่นเพราะลมมรสุมฤดูร้อน ยังไม่ทันจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตขาย ความเสียหายก็มาเยือน

เราจึงมองว่า ราคาที่ชาวสวนกำหนดเอง เราจึงยินดีจ่าย เพราะเรามองว่าเป็นราคาที่ชาวสวนพิจารณาแล้วว่า ยอมรับได้กับความปวดหัวที่ต้องจัดการกับผู้บริโภคที่มีความต้องการเยอะแบบสุดๆ อย่างที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น

เราเคยถามชาวสวนทุเรียนและมังคุดหลายรายว่า “ทำไมยังคงขายออนไลน์อยู่?” เพราะมันเป็นสัดส่วนไม่ถึง 50% ของผลผลิตทั้งสวน บางสวนแค่ 10-20% เอง แต่ความปวดหัวนั่นแทบต้องกินยาพาราเซตามอล

รู้มั้ยคำตอบที่เราได้ ทำให้เรารักเกษตรกรไทยที่ยังคงขายออนไลน์อยู่

คำตอบคือ…เพื่อจะได้เรียนรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร จะได้พัฒนาคุณภาพได้ตรงจุด มันเหนื่อยแต่ก็มีความสุข ที่ได้รู้รับข้อความตอบกลับจากลูกค้าว่า “ทุเรียนอร่อยมาก” “มังคุดดีงามทุกลูก” เป็นเหมือนน้ำทิพย์โชลมชาวสวนที่เฝ้าดูแลผลไม้ทุกลูกจนถึงมือลูกค้า หากขายให้แต่พ่อค้า เราไม่รู้เลยว่าผลผลิตของเราเป็นอย่างไร

เหตุผลนี้ทั้งหมดที่เราเล่าให้ฟังจึงเป็นที่เหตุผลที่ตอบว่าทำไมเราจึงมองราคาที่ชาวสวนตั้งขายเองในออนไลน์ เป็นว่า “ราคายุติธรรม” ที่เรายินดีและเต็มใจจ่าย เพราะราคานี้ได้รวมถึงความพยายามที่จะบริการลูกค้าให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

#ขอบคุณที่เพื่อน ๆ อ่านยาวจนจบถึงตรงนี้ ^ ^

#เราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

#EatEcon

Photo by Gliezl Bancal on Unsplash