เทคโนโลยีแม่นยำ: ทางรอดของผู้เลี้ยงโคนมไทย

เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลพวงจากสงครามและเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลายรายแบกรับต้นทุนไม่ไหวตัดสินใจเลิกอาชีพในที่สุด จากหน้าสื่อปริมาณการผลิตน้ำนมโคในปี 2565 ในภาพรวมเฉลี่ยลดลง 127 ตัน/วัน เมื่อเทียบกับปี 25641  แต่โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงขณะนี้ มีจำนวนฟาร์มที่เลิกเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ปริมาณน้ำนมลดลงมากกว่า 700 ตัน/วัน

ต้นทุนวัตถุดิบสำหรับอาหารข้นและอาหารหยาบเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2565 ได้กลายเป็นวิกฤติของอาชีพเลี้ยงโคนมในที่สุด ด้วยเหตุที่การเลี้ยงโคนมมีสัดส่วนต้นทุนอาหารไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยเกษตรกรหลายรายมีพื้นที่จำกัดในการผลิตอาหารหยาบใช้ภายในฟาร์ม จำเป็นต้องซื้ออาหารหยาบจากนอกฟาร์มเพิ่มเติม และยังมีปัญหาเรื่องโรคปากเท้าเปื่อย โรคลัมปี สกิน โรคเต้านมอักเสบ ทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำนมของแม่โคลดลง และคุณภาพน้ำนมดิบในภาพรวมต่ำลง อีกทั้งทำให้แม่โคมีปัญหาเรื่องระบบสืบพันธุ์ ส่งผลต่อรายได้ลดลงไม่คุ้มค่าในการทำฟาร์ม

ข้อมูลในปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ จำนวน 24,255 ราย รวมจำนวนประชากรโคนมทั้งสั้น 806,441 ตัว2 เฉลี่ย 33.25 ตัว/ฟาร์ม กระจุกตัวในจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ และขอนแก่น

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกับปศุสัตว์ชนิดอื่นถือเป็นจำนวนน้อย แต่ความสำคัญของเกษตรกรกลุ่มนี้คือ กลุ่มเกษตรกรที่ยังคงรักษาความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทย ซึ่งจำเป็นต้องช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้ให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

ในมุมของเกษตรกรอาชีพเลี้ยงโคนมมีความได้เปรียบปศุสัตว์อื่น 3 ประการ ได้แก่

  1. การเลี้ยงโคนมทำให้มีรายได้ทุกวันเฉลี่ย 253.50 บาทต่อแม่วัวนมหนึ่งตัว (อัตราการให้นมเฉลี่ย 13 กก./ตัว/วัน ราคาขายน้ำนมดิบ 19.50 บาท/กก.)  หากแม่วัวที่สมบูรณ์ผสมติดง่ายจะสามารถรีดนมได้สูงสุด 10 เดือน/ปี แถมมีอายุยาว 8-10 ปี
  2. มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่ได้รับรอง GMP เพื่อแปรรูปกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งในรูปแบบสหกรณ์และเอกชน บางสหกรณ์มีแบรนด์นมพร้อมดื่มรวมถึงผลิตภัณฑ์นมอื่น ๆ เป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ยังมีโครงการนมโรงเรียนรองรับน้ำนมดิบที่เกษตรกรผลิตได้ประมาณ 30% ของผลผลิตทั้งหมด
  3. มีประกาศราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ

แม้จะมีข้อดีในเรื่องการตลาด และมีคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์โคนมร่วมกันแก้ไขปัญหาและกำหนดนโยบายภาพรวมของอุตสาหกรรมโคนมไทยทั้งระบบ แต่ในปี 2565 ฟาร์มโคนมจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลิกกิจการ ส่งผลให้สหกรณ์หลายแห่งรับซื้อน้ำนมดิบได้น้อยจึงไม่สามารถผลิตนมพร้อมดื่มได้ตามที่วางแผนไว้

แม้จะมีวิกฤติที่ต้องเผชิญ เกษตรกรหลายรายยังคงตัดสินใจสู้กับอาชีพนี้ต่อด้วยเหตุผล “เพราะมันเป็นอาชีพพระราชทาน” วลีนี้สะท้อนความภาคภูมิใจในอาชีพเลี้ยงวัวนมที่หล่อเลี้ยงหัวใจของเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีความผูกพันระหว่างผู้เลี้ยงและโคนม เนื่องจากโคนมมีความอ่อนไหว ต้องการการดูแลใกล้ชิด เช่น ก่อนรีดนมต้องล้างทำความสะอาดเต้านม ลดการติดเชื้อในน้ำนมดิบ และสังเกตอาหารเต้านมอักเสบ สัมผัสนี้การดูแลนี้ได้กลายเป็นสายสัมพันธ์และความผูกพัน จะเรียกว่า เลี้ยงแล้วรัก ก็คงไม่เกินไปนัก

ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้ฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้

คำตอบคงไม่พ้นเรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อน้ำนมดิบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ

  1. การเลือกใช้อาหารขึ้นและอาหารหยาบที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น แม้อาหารจะมีราคาต่อกก.ที่สูงขึ้น แต่เปรียบเทียบกับปริมาณน้ำนมที่เท่ากัน จะใช้ปริมาณอาหารจำนวนน้อยกว่า ทำให้ค่าอาหารข้นต่อน้ำนมดิบ 1 กก. จะต่ำกว่าทันที และควรเลือกสูตรอาหารให้เหมาะสมกับกลุ่มโค เช่น โครุ่น โคให้นม และโคดราย เป็นต้น
  2. ให้ความสำคัญกับการจดข้อมูลและนำข้อมูลมาใช้เพื่อปรับปรุงการจัดการฟาร์ม การจดและบันทึกข้อมูลเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเกษตรกรไม่เพียงแค่โคนม เกษตรกรส่วนใหญ่มักอาศัยความเคยชินในการทำฟาร์ม แทนการใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและตัดสินใจ
  3. เลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับฟาร์ม แม้ปัจจุบันหลายฟาร์มจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ แต่จุดอ่อนการใช้เทคโนโลยีก็มีต้องระวังคือ ขนาดที่ใหญ่เกินไปสำหรับฟาร์มขนาดเล็ก และมีราคาแพง ดังนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับฟาร์มแต่ละฟาร์ม ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของฟาร์มได้

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผสมเทียม ปัจจุบันเกษตรกรสามารถเพิ่มโอกาสที่จะได้ลูกโคเพศเมียด้วยการเลือกใช้น้ำเชื้อคัดเพศ ที่มีโอกาสให้ลูกโคนมตัวเมียมากกว่า 90% แม้ว่าน้ำเชื้อที่คัดเพศนี้มีราคาแพงกว่าน้ำเชื้อแบบคละเพศประมาณ 3 เท่า ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลแม่โคให้สมบูรณ์และจับอาการเป็นสัดของแม่โคให้แม่นยำเพื่อลดต้นทุนค่าน้ำเชื้อและเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้กับการผสมเทียม

นั่นหมายความว่า หากจะเดินต่อไปในอาชีพนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมคงไม่อาจเลี่ยงการทำฟาร์มโคนมแม่นยำ (precision dairy farm) ได้อีกต่อไป เนื่องจากแม่โคมีความอ่อนไหวต่อเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศ ความชื้น ที่มากหรือน้อยเกินไปจนทำให้แม่โคเครียดซึ่งส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำนมดิบได้ การติดตามแม่โคอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีช่วย

เทคโนโลยีแม่นยำสามารถทำอะไรได้บ้าง?

ผู้เขียนขอตัวอย่างเทคโนโลยีแม่นยำที่มีการใช้ในปัจจุบัน เช่น ทรู ดิจิทัล คาว (True Digital Cow)3 ระบบติดตามพฤติกรรมวัว การกิน การเดิน การนอน อัตราการเคี้ยวเอื้อง หรือแม้แต่อุณหภูมิของแม่โค แล้วแสดงผลผ่านแอพพลิเคชัน ทั้งในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้ข้อมูลความผิดปกติของแม่โค อาการป่วย รวมถึงแจ้งเตือน ช่วยให้การผสมเทียมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ระบบติดตามพฤติกรรมวัว True Digital Cow ที่มา: https://tbfnakhonphanom.wordpress.com/

หากแต่ปัญหาสำคัญคือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคให้การยอมรับน้อย เนื่องจาก ทรู ดิจิทัล คาว ให้บริการลักษณะ Subscription มีค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อตัวหนึ่งตัว (ช่วงราคา 249 – 369 บาท/ตัว/เดือน ขึ้นกับจำนวนเซ็นเซอร์ติดตามแม่โค) แม้จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในมุมของเกษตรกรเป็นต้นทุนที่สูงมาก เป็นภาระผูกพัน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมใช้เทคโนโลยีนี้ในวงกว้าง หากมองในมุมธุรกิจเองก็มีต้นทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการเทคโนโลยีนี้

ปัจจุบันกรมปศุสัตว์เองก็พยายามร่วมมือกับนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีแม่นยำเช่นกัน แต่ก็ยังไม่มีการถ่ายทอดไปสู่เกษตรกร เป็นไปได้หรือไม่ที่กรมปศุสัตว์ทำความร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล คาว จัดทำแผนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเกษตรกรมากขึ้นเพียงพอที่จะทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนต่อขนาด (economy of scale) และลดราคาการใช้เซนเซอร์ลงกว่านี้ได้

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นเกษตรกรใช้เทคโนโลยีแม่นยำได้ในราคาที่ไม่แพงเกินไป สามารถจูงใจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยใช้เทคโนโลยีแม่นยำมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงโคนมให้คงอยู่ท่ามกลางความรุนแรงของการแข่งขันได้ในอนาคต

#EatEcon

ที่มา

  1. https://www.thansettakij.com/economy/trade/541539
  2. ข้อมูลจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และปศุสัตว์ ปี2564 สืบค้นจาก https://opendata.nesdc.go.th
  3. https://truebusiness.truecorp.co.th/th/solution/iot-digital/true-digital-cow
  4. Photo by Andy Kelly on Unsplash

Leave a Reply